.
ASTVผู้จัดการออนไลน์ - วันที่ 27 มกราคมเมื่อ 40 ปีที่แล้วเวียดนามเหนือกับสหรัฐฯ ได้ตกลงเซ็นสัญญาสันติภาพในกรุงปารีส ภายหลังการเจรจาที่ยืดเยื้อมาถึง 5 ปี เพื่อหาทางยุติสงครามเวียดนาม ทุกฝ่ายรอมรับกันว่า เป็นเหตุการณ์ทางการทูตสำคัญมากที่สุดอีกเหตุการณ์หนึ่งในศตวรรษที่ 20 ซึ่งนำไปสู่การถอนตัวจากสงครามเวียดนามของสหรัฐฯ ทำให้ฝ่ายคอมมิวนิสต์สามารถยึดเวียดนามใต้ได้เร็วขึ้น นำไปสู่การรวมเวียดนามทั้งสองประเทศเข้าด้วยกัน
การเซ็นสัญญาสันติภาพปี 2516 ยังทำให้ นายเฮ็นรี คิสจิงเจอร์ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ กับนายเลดึ๊กเถาะ (Le Duc Tho) กรมการเมืองพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามซึ่งเป็นที่ปรึกษาของฝ่ายเวียดนามเหนือในการเจรจา ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปีนั้น แต่ฝ่ายหลังไม่ยอมเดินทางไปรับ โดยให้เหตุผลว่า ประเทศเวียดนามของเขายังไม่มีสันติภาพ
การเจรจาเริ่มขึ้นในเดือน พ.ค.2511 ทั้งสองฝ่ายต่างคาดหวังว่าจะสามารถลงเอยกันได้โดยเร็ว แต่ความไม่ลงรอยในหลายเรื่องทำให้การเจรจาหยุดชะงักเป็นพักๆ ยืดเยื้อต่อมาอีก 5 ปี และสองฝ่ายต่างก็ยอมรับในกลยุทธ์ “เจรจา รบ และเจรจา” โดยใช้ความได้เปรียบในสนามรบเป็นเครื่องต่อรอง
เหตุการณ์สำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้สองฝ่ายสามารถลงนามในสัญญาสันติภาพกันได้ในวันที่ 27 ม.ค. ก็คือ การโจมตีทิ้งระเบิดกรุงฮานอย กับเมืองท่าหายฝ่องในเดือน ธ.ค.2515 ของสหรัฐฯ ไม่อาจหยุดยั้งการรุกลงใต้ของฝ่ายคอมมิวนิสต์ได้ สหรัฐฯ ยังสูญเสียเครื่องบินทิ้งระเบิดยุทธศาสตร์บี-52 ไปถึง 34 ลำ ในชั่วเวลาเพียง 12 วัน 12 คืนของยุทธการดังกล่าว
ก่อนหน้านั้น ในตอนต้นปีสหรัฐฯ ไม่ประสบความสำเร็จในการสู้รบตัดเส้นทางลำเลียงขนส่งของฝ่ายคอมมิวนิสต์ตาม ตาม “เส้นทางโฮจิมินห์” ที่ตัดผ่านเข้าดินแดนลาว ลงสู่ดินแดนกัมพูชา ก่อนวกเข้าสู่ภาคใต้เวียดนาม และทุกฝ่ายรวมทั้งฝ่ายเวียดนามเหนือต่างสูญเสียอย่างหนักในสงครามชิงทางหลวงเลข 9 กับสงครามในดินแดนลาว
ในช่วงปีดังกล่าว รัฐบาลประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน ของสหรัฐฯ ก็กำลังเผชิญแรงกดดันอย่างหนักภายประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ การเดินขบวนต่อต้านสงครามเวียดนามที่แผ่ลามออกไปทั่วประเทศ และทั่วโลก ทำให้สหรัฐฯ ต้องถอนทหารออกจากเวียดนามครั้งแล้วครั้งเล่า ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเจรจาทางการทูตด้วย
สำหรับเวียดนาม การเจรจาสันติภาพกรุงปารีสถือเป็นชัยชนะครั้งสำคัญ และยังเป็นการสร้างนักการทูตเข้าสู่ยุคใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ การเปิดตัวนางเหวียนถิบี่ง (Nguyen Thi Binh) ในฐานะรัฐมนตรีต่างประเทศของรัฐบาลปฏิวัติเฉพาะกาลที่ฝ่ายเวียดนามเหนือจัดตั้งขึ้น นำการต่อสู้กับสหรัฐฯ และฝ่ายใต้ ได้กลายเป็นนักการทูตสตรีชาวเวียดนามคนแรกที่รู้จักกันไปทั่วโลก
เวียดนามจัดการเฉลิมฉลอง และรำลึกครบรอบปีสำคัญนี้ในขอบเขตทั่วประเทศ ตลอดช่วงเดือนที่ผ่านมานี้ สื่อของทางการได้รายงานเปิดเผยเบื้องหน้าเบื้องหลังเหตุการณ์ มีการจัดแสดงปาฐกถา และจัดแสดงนิทรรศการภาพถ่าย ฯลฯ
พิธีฉลองอย่างเป็นทางการจัดขึ้นในกรุงฮานอยในวันศุกร์ 25 ม.ค. มีผู้นำระดับสูงของพรรค และรัฐบาลเข้าร่วมจำนวนมาก กับประชาชนทั่วไปอีกหลายพันคน และมีผู้ที่ร่วมอยู่ในคณะเจรจาที่ยังมีชีวิตอยู่เข้าร่วมพิธีด้วยหลายคน
.
2
ประธานาธิบดีเจืองเติ๋นชาง (Truong Tan Sang) กล่าวว่า การเจรจาสันติภาพกับสหรัฐฯ นั้นเป็น “การต่อสู้ทางการทูตที่ยาวนานที่สุด และยากลำบากที่สุดสำหรับเวียดนาม”
นางเหวียนถิบี่ง ซึ่งเป็นอดีตรองประธานาธิบดีได้ยกย่องลงเจรจา และการเซ็นสัญญาสันติภาพกรุงปารีสครั้งนั้นเป็น “ชัยชนะทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ที่นำไปสู่ชัยชนะในปี 2518 การปลดปล่อยภาคใต้ และการรวมประเทศ”
ภายใต้สัญญาดังกล่าว ทุกฝ่ายตกลงหยุดยิง สหรัฐฯ จะถอนทหารออกจากดินแดนเวียดนามทั้งหมดภายใน 60 วัน เวียดนามเหนือยอมส่งคืนเชลยศึกที่ถูกคุมขังทั้งหมด และเวียดนามเหนือกับใต้ตกลงจะหาทางรวมประเทศอย่างสันติ
อย่างไรก็ตาม สองฝ่ายเหนือใต้ไม่อาจตกลงกันได้ในทางการเมือง และเวียดนามเหนือเป็นฝ่ายละเมิดข้อตกลงสันติภาพ ส่งกองทัพลงทำสงครามในภาคใต้โดยตรงเป็นครั้งแรก
ในที่สุด ฝ่ายคอมมิวนิสต์เข้ายึดกรุงไซ่ง่อน เมืองหลวงของฝ่ายใต้ได้ในวันที่ 30 เม.ย.2518 เป็นการสิ้นสุดสงครามที่มีทหารอเมริกันเสียชีวิตกว่า 58,000 คน ชาวเวียดนามทั้งเหนือ และใต้เสียชีวิตรวมกันประมาณ 3 ล้านคน.
แนวรบทางการทูต AFP/Reuters
3
4
5
6
7
8
9
10
11