.
ASTVผู้จัดการออนไลน์ - สถาบันปาสเตอร์ในนครโฮจิมินห์ ตรวจพบเชื้อไวรัสฮันตา (Hantaan Virus) โผล่ในคนไข้รายหนึ่งในนครโฮจิมินห์ และทางการยังพบว่า มีหนูท่อน้ำทิ้งที่ติดเชื้อโรคโบราณชนิดนี้โผล่ขึ้นมาตามท้องถนนวิ่งกันพล่าน และตายเป็นจำนวนมากเนื่องจากไตวาย ทางการสั่งกำจัดหนู และออกแนะนำมาตรการป้องกัน
นี่คือโรคร้ายที่ทำให้มีทหารเสียชีวิตหลายพันคนในช่วงสงครามคาบสมุทรเกาหลีเมื่อกว่าศตวรรษก่อน และยังพบการแพร่ระบาดเป็นระยะๆ ในหลายพื้นที่ทั่วโลก ย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศไทยก็รวมอยู่ในนั้นด้วย
จากการสุ่มตรวจกลุ่มตัวอย่างหนูท่อน้ำทิ้ง กับหนูตามบ้านเรือนจำนวน 25 ตัว ในนครโฮจิมินห์ พบว่า ทั้ง 25 ตัวมีเชื้อไวรัสฮันตาที่สามารถทำให้เกิดอาการไตวายได้ สถาบันปาสเตอร์ออกรายงานในสัปดาห์นี้
สัปดาห์ที่แล้ว ผู้ป่วยวัย 55 ปี จากอำเภอที่ 3 มีอาการคล้ายเป็นโรคไข้เลือดออก แพทย์ที่โรงพยาบาลโรคเขตร้อนทำการรักษาด้วยยารักษาโรคชนิดนี้แต่ไม่ได้ผล จึงตรวจโดยละเอียดจนกระทั่งพบว่า ไวรัสฮันตาเป็นสาเหตุ
นายเหวียนวัน... (ขอสงวนนาม) แสดงอาการป่วยเมื่อวันที่ 17 พ.ย. มีไข้สูง ไอ เป็นผื่นตามผิวหนัง เพดานบนในปากเปื่อยเป็นแผลในมาปาก
นพ.หวอวันกวาง (Vo Van Quang) รองหัวหน้าแผนกวางแผนการรักษาของโรงพยาบาลโรคเขตร้อนบอกกับหนังสือพิมพ์เตื่อยแจ๋ว่า เชื้อฮันตาไวรัสสามารถพบได้ในสัตว์ประเภทฟันแทะเกือบทุกชนิด แต่ในนครโฮจิมินห์มีหนูเป็นพาหะ พบในอุจจาระ ปัสสาวะ กระทั่งในน้ำลายของหนู
ไวรัสฮันตาติดต่อได้ผ่านการหายใจ และการสัมผัสโดยตรงกับตัวหนู มูล และน้ำปัสสาวะของหนูที่มีเชื้อ จึงสามารถแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็วจากสัตว์สู่คน อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคนี้สูงมาก ผู้ป่วยมักมีอาการเลือดออกตามรูขุมขน และไตวายในที่สุด
.
.
นายแพทย์กล่าวอีกว่า ปัจจุบัน ยังไม่มีวัคซีน หรือยาเฉพาะที่สามารถป้องกัน หรือรักษาให้หายได้โดยตรง หากจะต้องหาทางป้องกัน กำจัดสัตว์ที่เป็นพาหะ และหากมีอาการที่น่าสงสัย เช่น ปวดศีรษะรุนแรง ปวดหลัง ไอจัด มีอาการไข้หนาวสั่น อาเจียน วิงเวียน ผิวหน้าเปลี่ยนเป็นสีแดง และเกิดผื่นคันตามผิวหนังผิดปกติควรรีบไปพบแพทย์
หากไม่ได้รับการดูแลทันท่วงที คนไข้อาจจะมีอาการความดันโลหิตต่ำ และมีอาการแทรกซ้อนของไต ทำให้เกิดไตวายในที่สุด นพ.กวางกล่าวกับเตื่อยแจ๋
ในเวียดนามยังไม่มีผู้ป่วยเสียชีวิตด้วยไวรัสชนิดนี้ แต่ในปี 2552 เคยพบผู้ป่วยด้วยไวรัสฮันตาอีกสายพันธุ์หนึ่ง จำนวน 2 ราย โรงพยาบาลโรคเขตร้อน กับโรงพยาบาลอีกแห่งหนึ่งประสบความสำเร็จในการเยียวยารักษาผู้ป่วยทั้งสองราย เตื่อยแจ๋รายงายในเว็บไซต์ข่าวภาษาเวียดนาม
พญ.หลีกิมแคง (Ly Kim Khanh) หัวหน้าแผนกกีฏวิทยา สถาบันปาสเตอร์ได้แนะนำให้ประชาชนทั่วไปป้องกันมิให้หนูเข้าไปในบริเวณที่อาศัย หรือเข้าถึงอาหาร ไม่แตะต้องมูลของสัตว์ชนิดนี้โดยตรง ไม่ดูดฝุ่น หรือปัดกวาดบริเวณใดๆ ที่หนูเข้าถึง และควรทำความสะอาดโดยใช้น้ำผสมยาฆ่าเชื้อโรคชะล้าง ผู้ที่สัมผัสกับดัก หรือกรงดักหนูต้องล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง
หากพบหนูตายพึงสงสัยไว้ก่อนว่า อาจจะติดเชื้อโรคร้ายแรงนี้ ควรเผาทำลาย หรือฝังในความลึกตั้งแต่ 50 ซม.-1 เมตร พญ.กิมแค็งกล่าว.