.
วอชิงตัน (รอยเตอร์) - สหรัฐฯ กล่าวในวันศุกร์ (16 พ.ย.) ว่า จะอนุญาตให้นำเข้าสินค้าต่างๆ จากพม่าได้เป็นครั้งแรกในรอบเกือบทศวรรษ อันเป็นความเคลื่อนไหวที่จะช่วยขับดันเศรษฐกิจของประเทศที่ในอดีตเป็นที่น่ารังเกียจ
การประกาศเรื่องนี้มีขึ้นก่อนประธานาธิบดีบารัค โอบามา จะออกเดินทางเยือนเอเชีย ซึ่งรวมทั้งการแวะเยือนประเทศที่รุ่มรวยด้วยทรัพยากรแห่งนี้ด้วย
การหลุดผ่อนข้อจำกัดทางการค้านับเป็นอีกก้าวหนึ่งในการปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ และอาจช่วยผลักดันทางการเมืองของอดีตนายพลซึ่งในปัจจุบันเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในเมียนมาร์ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อ “พม่า”
“การดำเนินการในวันนี้ .. มีจุดมุ่งหมายที่จะสนับสนุนการปฏิรูปของรัฐบาลที่ดำเนินอยู่ในขณะนี้ และเพื่อเร่งเร้าการเปลี่ยนแปลงต่อไป” รัฐบาลสหรัฐฯ ระบุในคำแถลงฉบับหนึ่งที่ออกในวันศุกร์
ประธานาธิบดีโอบามามีกำหนดการไปถึงพม่าในวันจันทร์ และจะเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนแรกที่ไปเยือนประเทศที่คณะปกครองทหารยอมมอบอำนาจให้แก่รัฐบาลกึ่งพลเรือนเมื่อปีที่แล้ว และรัฐบาลใหม่ได้ทำการปฏิรูปอย่างรวดเร็ว รวมทั้งทำการสะสางเศรษฐกิจ ผ่อนคลายมาตรการเซ็นเซอร์ ทำให้สหภาพแรงงานถูกกฎหมาย และปล่อยนักโทษการเมือง
“เราเรียกร้องให้รัฐบาลพม่าดำเนินความคืบหน้าเหล่านี้ต่อไป” คำแถลงของสหรัฐฯ ระบุ
ในขณะที่กลุ่มพิทักษ์สิทธิมนุษยชนเร่งเร้าให้ประธานาธิบดีโอบามากดดันให้ฝ่ายทหารพม่ามอบอำนาจให้ฝ่ายพลเรือนมากขึ้น บรรดาผู้ช่วยของนายโอบามากล่าวก่อนหน้านี้ว่า การเยือนจะช่วยให้การปฏิรูปขณะนี้ดำเนินต่อไป และส่งเสริมให้ปฏิรูปอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น
พวกเขากล่าวว่า การเยือนสามารถเป็นตัวอย่างให้แก่ประเทศอื่นๆ เช่น เกาหลีเหนือได้ตระหนักว่า สหรัฐฯ จะเข้าไปร่วมมือช่วยเหลือคู่ปรับเก่าถ้าหากพวกเขาทำการปฏิรูป
เมื่อวันศุกร์นี้ รัฐบาลได้ทำการยกเลิกคำสั่งห้าม และอนุญาตให้สามารถนำเข้าสินค้าจากพม่าได้เกือบจะทุกรายการ แม้วาจะยังไม่ครอบคลุมถึงการห้ามนำเข้าสินค้าพวกหยก กับทับทิมก็ตาม
เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ กล่าวว่า รัฐบาลพม่าได้ร้องขอให้ผ่อนคลายข้อจำกัดต่างๆ เหล่านี้ เพื่อช่วยพม่าในการบูรณาการกับเศรษฐกิจโลก การยกเลิกข้อห้ามนำเข้าสินค้าเป็นการให้แรงกระตุ้นเศรษฐกิจที่พม่าต้องการมากที่สุด อัตราว่างงานในประเทศนี้สูงถึง 25%
ในปี 2545 สหรัฐฯ นำเข้าสินค้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปกับสินค้าอื่นๆ ที่ผลิตในพม่ารวมมูลค่า 356.4 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นปีสุดท้ายก่อนจะมีคำสั่งห้าม มูลค่านำเข้าหล่นลงเหลือ 257.7 ล้านดอลลาร์ในปี 2546 และเป็นศูนย์หลังจากนั้นมา
เมื่อปีที่แล้ว บริษัทสหรัฐฯ ได้รับอนุญาตให้ส่งสินค้าออกไปพม่าได้ และมูลค่าเมื่อปีที่แล้วเพิ่มขึ้น 5 เท่าตัว เป็น 48 ล้านดอลลาร์ เทียบกับมูลค่าการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับไทยที่ชายแดนติดกันซึ่งเมื่อปีที่แล้วสูงถึง 36,000 ล้านดอลลาร์.
.
กว่า 1 ปีที่ผ่านมา มีประมุขแห่งรัฐ ผู้นำรัฐบาล และเจ้าหน้าที่ระดับสูงไปเยือนกรุงย่างกุ้งหลากหลายคณะ แต่ยังไม่เคยมีครั้งใดผู้คนที่นั่นจะเคลื่อนไหวคึกคักเช่นครั้งนี้ .. ต้อนรับการเยือนของประธานาธิบดีสหรัฐฯ บารัค โอบามา ที่จะมีขึ้นต้นสัปดาห์หน้า. -- ภาพ: AFP/Reuters. |
2
3
4
5
6
7
8