xs
xsm
sm
md
lg

สหรัฐฯ ระบุ "หัวเว่ย-ZTE" ภัยความมั่นคงฯ เสี่ยงคบหาค้าขาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ไมค์ โรเจอร์ส ประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงฯ และดัชท์ รัพเพอร์เบอร์เกอร์ ผู้แทนฯ จากพรรคเดโมแครต ขณะแถลงรายงานภัยคุกคามความมั่นคงชาติ ที่มีใจความสำคัญให้กิจการสหรัฐฯ เลี่ยงการทำการค้ากับ บ.หัวเว่ย และ ซีทีอี (ภาพรอยเตอร์ส)
เอเยนซี - คณะกรรมการด้านความมั่นคงแห่งรัฐสภาสหรัฐฯ แนะนำไปยังรัฐสภาฯ ให้เลี่ยงทำธุรกิจกับบริษัทจีน 2 ราย คือ หัวเว่ยเทคโนโลยีส์ และ ซีทีอี คอร์ปอเรชั่น (ZTE) ด้วยเหตุผลความมั่นคงของชาติฯ

สื่อต่างประเทศรายงาน (9 ต.ค.) ว่า คณะกรรมการด้านความมั่นคงแห่งรัฐสภาสหรัฐฯ ได้เผยรายงานความยาว 52 หน้า เมื่อวันจันทร์ที่ 8 ต.ค. ระบุคำแนะนำไปยังรัฐสภาฯ และบรรดากิจการท้องถิ่นฯ ให้เลี่ยงในการทำธุรกิจกับบริษัทจีน 2 ราย คือ หัวเว่ยเทคโนโลยีส์ และ ซีทีอี คอร์ปอเรชั่น (ZTE) หลังจากทั้งสองไม่สามารถชี้แจงตอบข้อสงสัยเกี่ยวกับความเกี่ยวข้องกับรัฐบาลและกองทัพจีน

นายไมค์ โรเจอร์ส ประธานคณะกรรมาธิการฯ ได้กล่าวชี้แจงระหว่างการแถลงรายงานฯ ถึงความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงของการล้วงฐานข้อมูลรัฐบาล ว่าพิจารณาบอยคอตต์บริษัทจีนเฉพาะในส่วนของอุปกรณ์เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่ แต่ไม่จำเป็นต้องแบนทั้งหมด ซึ่งเป็นการชี้แจงเพิ่มเติมภายหลังจาก สื่อหลายสำนักได้เสนอข่าวรายงานฉบับร่างไปก่อนแล้วว่า คณะกรรมการฯ ได้ระบุถึงการเลี่ยงการทำธุรกรรม กิจกรรมการควบรวมกิจการและการเข้าถือสิทธิ์กับบริษัททั้งสอง

ลอสแอนเจลิส ไทม์ส ยังได้อ้างคำสัมภาษณ์ของ ประธานคณะกรรมาธิการฯ ในรายการทีวี 60 มินิทส์ (60 Minutes) ว่า ถ้าเขาเป็นบริษัทอเมริกัน และกำลังจะเล็งร่วมงานกับหัวเว่ย เขาจะเปลี่ยนใจไปมองคู่ค้ารายอื่น ถ้านึกถึงเรื่องความมั่นคงในด้านข้อมูลของลูกค้า ทรัพย์สินทางปัญญาต่างๆ ของตน และความมั่นคงชองชาติ

"เราควรจะแน่ใจก่อนจะดำเนินกิจการร่วมกับ บริษัทโทรคมนาคมของจีนในสหรัฐฯ เพราะอาจจะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อปัจจัยสาธารณูปโภคสำคัญๆ ทั้งระบบ และรายงานนี้ ก็สรุปว่าเรามีความกังวลเกี่ยวกับ บริษัทหัวเว่ย กับ ซีทีอี และรวมถึงความเชื่อมโยงกับรัฐบาลจีนของบริษัททั้งสอง" โรเจอร์กล่าว

โรเจอร์ส ยังกล่าวว่า เป็นที่รู้กันว่า อาชญากรรมคอมพิวเตอร์ส่วนใหญ่มีแหล่งกำเนิดมาจากจีน และตลอดการสอบสวนประเมินรายงานนี้ ทั้ง หัวเว่ย กับ ซีทีอี ก็ไม่สามารถชี้แจงในประเด็นดังกล่าวได้ชัดเจนจนคลายข้อสงสัยต่างๆ ได้หมด จึงขอแนะนำให้บริษัทสหรัฐฯ เลี่ยงการร่วมดำเนินกิจการกับบริษัททั้งสองนี้ก่อน

รายงานฯ ของคณะกรรมาธิการฯ มีขึ้นหลังการสอบสวนภัยคุกคามความมั่นคงฯ เกี่ยวกับระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งใช้เวลาจัดทำนานกว่า 11 เดือน ที่รวมถึงการสอบถามผู้บริหารของบริษัทหัวเว่ย และซีทีอีฯ ซึ่งต่างปฏิเสธ ว่าไม่มีทางที่จะคุกคามความมั่นคงสหรัฐฯ

จีนย้ำปล่อยวางอคติ อย่าวิตกเกินเหตุ
ด้านโฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน กล่าว (7 ต.ค.) เรียกร้องให้รัฐภาสหรัฐฯ ปล่อยวางอคติ และพิจารณาจากข้อเท็จจริง รวมทั้งคิดถึงผลประโยชน์ที่จะได้รับร่วมกันจากความร่วมมือของสองชาติ

ขณะที่ เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ ได้รายงาน (8 ต.ค.) คำแถลงของผู้แทนจากหัวเว่ย และซีทีอี ว่า ไม่ได้มีการกระทำหรือสินค้าใดๆ ที่เป็นไปตามข้อกล่าวหาเหล่านั้น

สก็อต ไซค์ รองประธาน บริษัท หัวเว่ย กล่าวว่า หัวเว่ยเป็นกิจการที่ได้รับความเชื่อถือระดับสากล ทำธุรกิจแพร่หลายทั่วโลก กว่า 150 ประเทศ มีผู้ร่วมดำเนินกิจการมากกว่า 500 ราย เป็นผู้ผลิตและดำเนินกิจการโทรคมนาคมที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลกแล้ว เหล่านี้ล้วนพิสูจน์ถึงความเชื่อถือที่มีต่อบริษัทฯ

เดวิด ไต่ ซู๋ ผู้แทนของบริษัท ซีทีอีฯ กิจการโทรคมนาคมใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก ที่ล่าสุดมีรายได้เฉพาะครึ่งปีแรก 4.2 หมื่นล้านหยวน และมีอัตราการเติบโตในสหรัฐฯ เฉลี่ยร้อยละ 10 ในแต่ละปี กล่าวถึงรายงานนี้ว่า เป็นการสรุปฯ เอาของหน่วยงานอิสระ รวมกับการกังวลจนเกินเหตุของหน่วยงานรัฐบาล ทั้งที่ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 90 ของบริษัทที่วางจำหน่ายในตลาด เป็นเพียงโทรศัพท์มือถือเท่านั้น พร้อมกับเสริมว่า ถ้าจะใช้หลักพิจารณาเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือแบบนี้ ก็ควรเป็นมาตรฐานเหมือนกันทั้งอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไปเลย

วิลเลี่ยม พลัมเมอร์ โฆษกของ หัวเว่ย กล่าว (7 ต.ค.) หลังมีการปล่อยข่าวแบนฯ บริษัทฯ ว่า รายงานฉบับดังกล่าว เป็นตัวอย่างหนึ่งของการตีผู้ประกอบการจีน โดยอ้างใช้การปกป้องประเทศฯ และว่าถ้าจะขวางการทำธุรกรรม กิจกรรมการควบรวมกิจการและการเข้าถือสิทธิ์ลงทุนของบริษัททั้งสองจริง ก็จะกลายเป็นการปั่นป่วนแทรกแซงตลาดอุตสาหกรรมนี้ ซึ่งก็เกี่ยวข้องกับกิจการของสหรัฐฯ เองทั้งนั้น

ดัชท์ รัพเพอร์เบอร์เกอร์ ผู้แทนฯ จากพรรคเดโมแครต กล่าวสนับสนุนรายงานต่อข้อโต้แย้งทั้งหลายที่อาจจะมีต่อไปว่า เป็นความรับผิดชอบตามหน้าที่ของคณะกรรมาธิการฯ ที่จะต้องพิทักษ์ปกป้องความมั่นคงของชาติ และข้อสรุปในรายงานฯ ก็แสดงให้เห็นว่าเราไม่มั่นใจในประเด็นนี้กับบริษัทหัวเว่ย และ ซีทีอีฯ

รายงานข่าวกล่าวว่า บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยีส์ ก่อตั้งขึ้นในปีพ.ศ. 2530 โดยนายเหริน เจิ้งเฟย อดีตสมาชิกกองทัพเพื่อการปลดปล่อยประชาชน มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองเซินเจิ้น ปัจจุบันเป็นหนึ่งในบริษัทด้านเทคโนโลยีชั้นนำของโลก และเมื่อปีที่แล้วเคยถูกคณะกรรมการด้านความมั่นคงของสหรัฐฯ ปฎิเสธแผนการซื้อบริษัทคอมพิวเตอร์ท้องถิ่นฯโดยอ้างว่าเป็นการช่วยรัฐบาลจีนในการรวบรวมข้อมูลของรัฐบาลฯ และบริษัทต่างชาติ เช่นเดียวกับ ซีทีอี ที่ถูกกล่าวหาว่า อุปกรณ์บางประเภทของบริษัทติดตั้งพร้อมรหัสลับ เพื่อส่งข้อมูลที่มีความอ่อนไหวต่อความมั่นคงบางประเภทกลับไปยังจีน

ด้านนักวิเคราะห์การตลาดไบรอัน หวัง รองประธาน บ.วิจัยฯ ฟอร์เรสเตอร์รีเสิร์ช กล่าวว่า คำแนะนำของคณะกรรมาธิการฯ จะทำให้หัวเว่ย กับ ซีทีอีฯ ซึ่งมีแผนที่จะขยายและยกแบรนด์ไปสู่ระดับสินค้าไฮ-เอนด์ ขยายธุรกิจและเครื่อข่ายการตลาดในสหรัฐฯ ยากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น