xs
xsm
sm
md
lg

แผน“แม้ว”ผนึกทำเนียบขาว ดึงมะกัน แบ๊กอัพ “ปรองดอง”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้(17 มิ.ย.55)นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มกรีน (Green Politics) กล่าวถึงข่าวกรณีสหรัฐฯขอใช้สนามบินอู่ตะเภาเพื่อเป็นฐานปฏิบัติการด้านภัยพิบัติและมนุษยธรรมนั้น ซึ่งต่อมามีการตั้งข้อสังเกตจากนักวิชาการและสื่อมวลชนว่ากรณีดังกล่าวอาจมีวาระแอบแฝง โดยอาจเป็นการยกสนามบินอู่ตะเภาให้สหรัฐใช้เป็นฐานปฏิบัติการทางทหารและสอดแนมด้านความมั่นคงในภูมิภาคนี้ เพื่อแลกกับวีซ่าเข้าสหรัฐฯของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรและปลดล็อกแบล็คลิสต์ นางนลินี ทวีสิน รัฐมนตรีประจำสำนักนายก
เรื่องนี้มีความละเอียดอ่อนสูงและเป็นประเด็นอ่อนไหวมากในระดับสากล เพราะถ้าเกี่ยวข้องกับปฏิบัติการทางทหารก็จะทำให้ไทยถูกลากเข้าไปอยู่ในสงครามก่อการร้ายสากล รวมทั้งความไม่สบายใจจากประเทศมหามิตรอย่างจีนด้วย
มีความจำเป็นมากที่นายกฯ ผบ.ทบ. และฝ่ายความมั่นคงไทยต้องแถลงจุดยืนและชี้แจงเรื่องนี้กัยคนไทยอยงเป็นทางการ ไม่ใช่ปล่อยให้โฆษกที่ไร้ความน่าเชื่อถือออกมาปัดปฏิเสธ จีนสังคมเคลือบแคลงสงสัยแบบนี้เพราะถ้าเป็นปฏิบัติการด้านภัยพิบัติและมนษยธรรมจริงก็ไม่น่าจะเป็นปัญหาอะไรที่ต้องปิดบังหรือทำลับๆล่อๆ
อย่างไรก็ตามหากมีการดำเนินการเรื่องนี้จริงรัฐบาลต้องนำเรื่องเข้าหารือต่อรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 เพื่อชี้แจงและขอความเห็นชอบจากรัฐสภาไทย ในขณะนี้เป็นที่น่าสังเกตว่ามี พ.ร.ฎ.ปิดประชุมสภาสมัยนิติบัญญัติในวันที่ 19 มิถุนายนนี้แล้ว แต่ยังไม่ปรากฎวาระหารือเรื่องนี้ในการประชุมภาฯ นัดสุดท้าย ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่ารัฐบาลอาจลักไก่ลงนามอนุญาตให้สหรัฐใช้สนามบินอู่ตะเภาในช่วงปิดสมัยประชุมนี้ก็ได้
หากมีการลักไก่ลงนามจริงก็แสดงว่าเรื่องนี้รัฐบาลไทยและสหรัฐมีวาระซ่อนเร้น มีผลประโยชน์แอบแฝง โดยเฉพาะความเป็นไปได้ ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ อาจเล่นบทเป็น "กองกำลังส่วนหน้าทำเนียบขาว" ยกเอาผลประโยชนของชาติโดยเฉพาะเรื่องพลังงานและยุทธศาสตร์ความมั่นคงในภูมิภาคนี้ไปแลกกับการสนับสนุนจากสหรัฐ เฉพาะหน้าคือวีซ่าเข้าประเทศสหรัฐในช่วงปิดสมัยประชุม และแผนการดึงสหรัฐมาเป็นแบ็กอัพสงครามปรองดองในช่วงเปิดสมัยประชุมสามัญเดือนสิงหาคมนี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้พบหารือข้อราชการกับนางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ สมาชิกวุฒิสภาสหรัฐฯ และนักธุรกิจจากบริษัทชั้นนำที่ดำเนินธุรกิจในประเทศไทย รวมทั้งพบปะกับทีมประเทศไทย
ในการหารือกับนางคลินตัน ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกันทั้งทางด้านความมั่นคง การค้า การลงทุน ความสัมพันธ์ในระดับประชาชน รวมทั้งแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ในภูมิภาค อาทิ การก่อการร้าย อาชญกรรมข้ามชาติ สถานการณ์ในเมียนมาร์ และสถานการณ์ในทะเลจีนใต้ เป็นต้น โดยรัฐมนตรีว่าการฯ ได้ย้ำถึงคำเชิญของนายกรัฐมนตรีที่เชิญประธานาธิบดีสหรัฐฯ เยือนไทยในช่วงก่อนหรือหลังการประชุม East Asia Summit (EAS) ที่กรุงพนมเปญในเดือนพฤศจิกายนศกนี้ และความเป็นไปได้ที่นายกรัฐมตรีจะเดินทางเยือนสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการในเดือนกรกฎาคมหรือสิงหาคมศกนี้
ในเรื่องเมียนมาร์ รัฐมนตรีว่าการฯ ได้อธิบายถึงบทบาทของไทยในการสนับสนุนพัฒนาการต่าง ๆ ใน เมียนมาร์ และขอให้สหรัฐฯ พิจารณายกเลิกมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ต่อเมียนมาร์ นอกจากนี้ ยังได้มีการหารือถึงความเป็นไปได้ที่จะส่งเสริมความร่วมมือ 3 ฝ่าย (ไทย –สหรัฐฯ –เมียนมาร์) ในการดำเนินโครงการความช่วยเหลือด้านการพัฒนาต่อเมียนมาร์อีกด้วย
สำหรับการหารือกับนายจิม เว็บบ์ (Jim Webb) วุฒิสมาชิก พรรคเดโมแครต มลรัฐเวอร์จิเนีย และนายเจมส์ อินฮอฟ (James Inhofe) วุฒิสมาชิก พรรครีพับลิกัน มลรัฐโอกลาโฮมา ประธานและรองประธานคณะอนุกรรมาธิการการต่างประเทศด้านเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ตามลำดับ นั้น รัฐมนตรีว่าการฯ ได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ในภูมิภาค และได้ขอให้วุฒิสมาชิกสนับสนุนเรื่องการจัดลดลำดับไทยในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ในประเทศต่าง ๆ ซึ่งจัดทำโดยกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ด้วย
ในการหารือกับสมาชิกสภาธุรกิจอาเซียน-สหรัฐฯ (U.S. – ASEAN Business Council - USABC) และสภาหอการค้าของสหรัฐฯ (U.S. Chamber of Commerce - USCC) นั้น ได้มีการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ในภูมิภาค การเพิ่มการลงทุนของบริษัทสหรัฐฯ ในไทย และความเป็นไปได้ที่ไทยจะเข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจข้ามแปซิฟิก (Trans-Pacific Strategic Economic Partnership)
สำหรับการพบปะกับข้าราชการทีมประเทศไทยที่ประจำการในสหรัฐฯ (กระทรวงการต่างประเทศ กองทัพ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานข้าราชการพลเรือน และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย) นั้น รัฐมนตรีว่าการฯ ได้รับฟังข้อมูลเกี่ยวกับโครงการสำคัญและแนวทางการดำเนินงานของทีมประเทศ ตลอดจนได้มอบนโยบายเกี่ยวกับการทำงานอย่างบูรณาการ เพื่อส่งเสริมและปกป้องผลประโยชน์ของไทยในต่างประเทศ โดยเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน
กำลังโหลดความคิดเห็น