xs
xsm
sm
md
lg

“สร้างสุข สลายทุกข์” อย่างไร ให้ตอบโจทย์ประชาชน

เผยแพร่:   โดย: ไพศาล อินทสิงห์

จำได้ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ประกาศต่อสื่อมวลชนในวันเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการว่า จะมุ่งมั่น “สร้างสุข สลายทุกข์” ให้แก่พี่น้องประชาชนอย่างสุดกำลังความสามารถ

ที่จำได้ เพราะ “สร้างสุข สลายทุกข์” เป็นคำใหม่ ได้ยินครั้งแรก ฟังแล้วทรงพลังและความหมายยิ่ง มิเพียงคำใหม่ แต่ยังเป็นความหวังใหม่ให้ประชาชน

โดยเฉพาะคนยากคนจน

นับว่า เป็นแนวคิดที่ฉีก และแตกต่าง ในฐานะผู้นำการเปลี่ยนแปลง เพราะจะทำให้ประชาชนได้พบกับผลลัพธ์และความสำเร็จใหม่ๆ

ตรงใจประชาชนที่จะทำให้สังคมเปลี่ยนแปลงพัฒนาที่ดีขึ้น

นั่นคือ อะไรๆ ที่เป็นความทุกข์ยากลำบากในการดำรงชีวิต จะได้รับการขจัดปัดเป่า ช่วยเหลือ อย่างน้อยก็ให้บรรเทาเบาบางลง

เป็นแนวคิดที่ดีสร้างสรรค์ ขณะที่ก็ต้องไปดูที่การปฏิบัติอีกทีว่าจะแปลงแนวคิดไปสู่โครงการอะไรบ้าง มีกิจกรรมอะไรรองรับ

สลายทุกข์ได้ เท่ากับสร้างสุข

ทำอย่างไรให้ชีวิตดีขึ้น พอมีพอใช้ พออยู่พอกินอย่างเหมาะสม หากทำได้มากกว่านั้น ยิ่งเป็นผลดี สร้างสุขได้ เท่ากับสร้างคุณภาพชีวิต

คุณภาพชีวิต = คุณภาพสังคม = คุณภาพประเทศ

จะสร้างคุณภาพชีวิตได้ คุณภาพรัฐบาลต้องมาก่อน

คุณภาพรัฐบาล มาจากผู้นำ

เป็นวงจรของการเปลี่ยนแปลงพัฒนาครบวงจร ทำให้ประเทศเข้มแข็ง ส่งผลถึงศักยภาพในการพึ่งตนเองและแข่งขันได้ในเวทีโลก

หัวใจของการพัฒนาใดๆ อยู่ที่การพัฒนาคน

“สร้างสุข สลายทุกข์” เกิดจากการเอาใจเขามาใส่ใจเรา เอาใจประชาชนมาใส่ใจรัฐบาล ทำให้ประชาชน คนยากคนจนหลุดพ้นทุกข์ในการดำรงชีวิต ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง ถือว่า ถูกทาง ผู้เขียนเห็นอย่างนั้น เชื่อว่า ผู้อ่านก็คงเห็นอย่างผู้เขียน

ส่วนจะสำเร็จ เห็นผลแค่ไหน ประการใด อยู่ที่การปฏิบัติจริง

วันนี้ จึงได้เห็นโครงการรถคันแรก บ้านหลังแรก บัตรสินเชื่อเกษตรกร เงินเดือน ป.ตรี 15,000 ค่าแรง 300 และโครงการอื่นๆ ขับเคลื่อนออกมาจำนวนมาก

จากวันนั้นถึงวันนี้ 1 ปีพอดี ถามว่า ที่เป็นความหวังของประชาชน คนยากคนจนที่ฟังนายกรัฐมนตรีเมื่อวันแรกเข้ารับตำแหน่ง เห็นผลลัพธ์อย่างไร เป็นผลสำเร็จตามเจตนารมณ์ของรัฐบาล และการรอคอยพึ่งพา พึ่งหวังของประชาชน เพียงใด มาก น้อย ปานกลาง ไม่แน่ใจ

สร้างสุข สลายทุกข์ได้ตรงใจ เข้าถึงความต้องการเพียงใด อยู่ที่ประชาชนเป็นผู้ประเมินในฐานะผู้รับบริการโครงการรัฐ

ถ้าจะว่าไปแล้ว การที่รัฐบาลช่วยเหลือประชาชนผู้เดือดร้อน ยากลำบาก พึ่งพาตนเองไม่ได้ เท่ากับใช้หลักธรรม ควบคู่หลักบริหาร อาจเรียกว่า “ธรรมบริหาร”

มองในมุมนั้น ก็น่าจะได้ คงไม่ผิดกติกา เป็นรัฐบาลธรรมาภิบาล

อย่างไรก็ตาม มองว่า หากรัฐบาลใช้อีกหนึ่งหลัก คือ หลักการประชาสัมพันธ์(PR) เพิ่มเข้ามา เพื่อประกอบการพิจารณาให้ความช่วยเหลืออีกทาง น่าจะเป็นผลดี หรือไม่ ประการใด

อาจช่วยให้เข้าถึง และมองเห็นโอกาสของการ “สร้างสุข สลายทุกข์” ให้กลุ่มคนอื่นๆ มากยิ่งขึ้น หรือไม่ อย่างไร

หลักธรรม +หลักบริหาร +หลักประชาสัมพันธ์

กลุ่มคนในสังคม ประเทศมีหลากหลายกลุ่ม ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายของการประชาสัมพันธ์รัฐบาล หากพิจารณาไล่เรียงรายกลุ่ม ก็จะไม่ตกหล่นกลุ่มเป้าหมายใดกลุ่มเป้าหมายหนึ่ง ตอบสนองได้ครอบคลุมครบทุกกลุ่ม

ตรงนี้สำคัญ ถ้าเป็นธุรกิจ การตกหล่นกลุ่มเป้าหมายใดกลุ่มเป้าหมายหนึ่ง หมายถึง ทำให้เสียโอกาสธุรกิจและยอดขาย ซึ่งแทนที่จะขายได้เพิ่มขึ้น ก็ไม่ได้

หลัก PR คือ การติดต่อสื่อสาร สำรวจตรวจสอบ ติดตามสดับตรับฟังปัญหาความต้องการ ความเป็นอยู่ สารทุกข์สุกดิบ เข้าไปรับรู้ข้อมูลข้อเท็จจริงของประชาชน

อะไรที่เป็นทุกข์ของประชาชน อาจดูทั้งภาพรวม และดูเป็นกลุ่มๆ กลุ่มคนในเมือง กลุ่มคนในชนบท กลุ่มเกษตรกร ผู้ประกอบการ ผู้สูงอายุ ผู้ใช้แรงงาน ผู้บริโภค กระทั่งพนักงานลูกจ้างของรัฐ ข้าราชการโดยเฉพาะชั้นผู้น้อย ฯลฯ

ไม่ลงลึก ก็ดูหลวมๆ

ถ้าโจทย์ชัด วิธีทำถูก คำตอบหรือผลลัพธ์ย่อมถูกต้อง

กลุ่มไหนเดือดร้อนเรื่องอะไร ความจำเป็นเร่งด่วนของปัญหาขนาดไหน ต้องช่วยเหลือใครก่อน-หลัง รอได้ หรือต้องช่วยทันที และรู้ว่าจะช่วยเหลืออะไร อย่างไร ใส่โครงการอะไรในแต่ละกลุ่ม เพื่อที่จะ “ลดทุกข์ เพิ่มสุข” อย่างเป็นผล

ทั้งยังป้องกันมิให้การช่วยเหลือผิดพลาดคลาดเคลื่อน ไม่ตรงจุด หรือตอบโจทย์เท่าที่ควร ดีไม่ดีส่งผลถึงกลุ่มอื่นๆ เสียโอกาส แทนที่จะได้รับความช่วยเหลือเร่งด่วนกว่าก็ไม่ได้ หรือแทนที่จะได้รับการเหลียวแลกลับตกหล่นไป

เผลอๆ อาจมองข้าม หรือไม่เห็นปัญหา ก็เป็นไปได้ และเผลอๆ อีกเช่นกัน อาจถูกทวงถามจากประชาชนกลุ่มต่างๆ ดีไม่ดีเจอต้าน ประท้วง

แทนที่เดิมตั้งใจว่า จะรุกสร้างสุข สลายทุกข์ กลับเป็นตั้งรับไป

การใช้ช่องทาง PR โดยการสดับตรับฟังที่ดีที่สุดประการหนึ่ง คือ ฟังจากสื่อ ในฐานะตัวแทนประชาชน

“...ความทุกข์ยากของครอบครัว ลูกหนีไปอยู่ที่อื่นไม่กลับมา เหลือตายายชราภาพ ตาป่วยด้วยโรคภัยรุมเร้า พิการช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ อาศัยเพื่อนบ้านเอาข้าวเอาน้ำมาให้กิน ตามมีตามเกิด หนำซ้ำลูกยังเอาหลาน 2 คนมาทิ้งไว้ให้เลี้ยง...”

ถึงตรงนี้ ผู้อ่านคงนึกออก เราๆ ท่านๆ คุ้นกันมาก หมายถึงใคร กลุ่มไหน ถูกต้องแล้วครับ เป็นรายการประเภทสกู๊ปชีวิต เป็นกลุ่มคนในชนบท คนยากไร้ เป็นอีกกลุ่มที่รัฐบาลต้องเหลียวแลและห่วงใย เป็นไปได้หรือไม่ หากจะใช้เสียงสะท้อนจากสื่อ ซึ่งเป็นกลวิธีหนึ่งทางการประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างสุข สลายทุกข์

เห็นไหมว่า บางทีเรามองข้ามกลุ่มนี้ไป หรือไม่ ประการใด

จึงมีคำถามชวนคิด : จะดีหรือไม่ หากรัฐบาลใช้ “สกู๊ปชีวิต” เป็นโจทย์

วิธีทำ คือ ให้กลไกรัฐอย่าง อบต.ทุกแห่ง หรือกำนันผู้ใหญ่บ้าน สำรวจข้อมูล ค้นหาครอบครัวที่เข้าข่ายลักษณะนี้ และทำทั่วประเทศ และหาทางช่วยเหลืออย่างเป็นระบบ (น่าจะมีมากแต่ไม่เป็นข่าว)

จะช่วยอย่างไร ก็ว่าไป ระดับไหน เร่งด่วนเพียงใดอยู่ที่ความเหมาะสม และการพิจารณา อาจมีหลักเกณฑ์ มาตรการ กระทั่งนำไปสู่การกำหนดนโยบายหรือไม่ ประการใด

โฆษกรัฐบาลหรือทีมประชาสัมพันธ์ของรัฐบาล น่าใช้ประโยชน์จากสื่อ เพราะสื่อมีมุมมองในสายตาของสื่อ สัมผัสใกล้ชิดประชาชน รู้หมด ใคร อะไร อย่างไร ถือว่ามีบทบาท และอิทธิพลต่อประเด็นสาธารณะ

สื่ออยู่ในฐานะเป็นผู้ชี้แนะ ชี้นำที่ดีให้สังคม นำคุณค่าข่าวสารที่ดีสู่สังคม

ต้องขอบคุณสื่อ (ทั้งสื่อทีวี วิทยุ หนังสือพิมพ์) ที่บุกไปทำข่าว หยิบประเด็นความทุกข์ยากของประชาชน ในที่ต่างๆ ออกมานำเสนอต่อสาธารณะ

ถือเป็นความห่วงใยสังคม

มิเพียงหวังแค่ให้ทราบ แต่ยังหวังผลให้เกิดความช่วยเหลือจากผู้ที่เกี่ยวข้อง ภาครัฐ ภาคเอกชน หรือประชาชนที่มีความพร้อม

ทำงาน two ways communication ผู้เขียนเคยกล่าวอยู่บ่อยๆ นอกจากสื่อแข่งข่าวสาร เรตติ้งหรือยอดขาย สื่อยังเป็นนักประชาสัมพันธ์ของสังคม

มองว่า ลำพังกลไกจังหวัด อำเภอ หน่วยราชการท้องถิ่น ช่วยเหลือได้ระดับหนึ่ง ซึ่งอาจทั่วถึงบ้าง ไม่ทั่วถึงบ้าง มีพลังน้อยก็จะเป็นจุดอ่อน

ต้องเป็นรัฐบาล!

โฆษกรัฐบาล อาจต้องพิจารณา และเสนอแนะนายกรัฐมนตรี

หากใช้สื่อ ก็ได้เปรียบ

ชีวิตคนในชนบท คนยากไร้ต้องดำเนินต่อไป หรือจะปล่อยให้เป็นตามยถากรรม ตามมีตามเกิด ปล่อยให้ชุมชนเพื่อนบ้านดูแลช่วยเหลือกันเอง

คนอายุมากขนาดนี้ ผ่านชีวิตประสบการณ์มาเยอะ อดีตทำคุณประโยชน์ให้สังคม ประเทศชาติ ถึงคราวชราภาพ ช่วยเหลือตนเองไม่ได้

ทุกชีวิตมีคุณค่า ไม่ว่าเขา ว่าใคร นั่นคือ คุณค่าของความเป็นมนุษย์ ไม่ช่วยกันยามนี้ จะไปช่วยกันยามไหน

เป็นโอกาสรัฐบาลที่จะเติมเต็มให้การ “สร้างสุข สลายทุกข์” แก่กลุ่มคนต่างๆ มีความสมบูรณ์ ครอบคลุมและทั่วถึงยิ่งขึ้นในการก้าวสู่ปีที่ 2 ของรัฐบาล

ลดทุกข์ เพิ่มสุขได้ ก็เป็นรัฐบาลในดวงใจประชาชน
กำลังโหลดความคิดเห็น