xs
xsm
sm
md
lg

“ปานเทพ” ตั้งข้อสังเกต “ป๋าเปรม” ร่วมงานเลี้ยง รบ. เข้าโมเดล “ทุนสามานย์-ทหาร” ฮั้วกันหรือไม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ปานเทพ” ตั้งข้อสังเกต “ป๋าเปรม” ตอบรับร่วมงานเลี้ยงรัฐบาล เข้าข่ายโมเดล “เผด็จการรัฐสภาโดยทุนสามานย์-เผด็จการทหาร” ฮั้วกันหรือไม่ ชี้วิธีนี้ประนีประนอมได้ชั่วคราว เป็นแค่การซื้อเวลาเท่านั้น ด้าน “รศ.ชัยชนะ” เชื่อมีโอกาสสองฝ่ายจับมือกันสูง ระบุอยากได้ผู้นำการเปลี่ยนแปลงแบบ “ฮูโก ชาเวซ” แต่เท่าที่ดูคงหาไม่ได้ในเมืองไทย

วันที่ 7 ก.พ. เมื่อเวลา 20.30 น. นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และ รศ.ชัยชนะ อิงคะวัต อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ร่วมในรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ASTV

โดย นายปานเทพกล่าวว่า สถานการณ์ในวันนี้เราต้องรอให้ประชาชนเจ็บปวดอย่างแสนสาหัส ถึงจะลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงประเทศ แต่ในขณะที่ถูกปรนเปรอด้วยประชานิยม ทำให้ไม่เห็นถึงความเจ็บปวด ทั้งที่การทุจริตเกิดขึ้นอย่างมโหฬาร ยกตัวอย่างวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 ประชาชนเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เลิกฟุ้งเฟ้อ ทั้งนี้ต้องมีบทเรียนที่แพงถ้าประชาชนตื่นช้า

ส่วนกรณี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ตอบรับร่วมงานเลี้ยง “รักเมืองไทย เดินหน้าประเทศไทย” ที่รัฐบาลจัดขึ้นนั้น นายปานเทพกล่าวว่า ขอเชื่อมต่อกับสิ่งที่ตนเคยเขียนไว้ เราเห็นการจัดงานของรัฐบาลเพื่อเชิญ พล.อ.เปรม ด้าน ผบ.ทบ. (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ก็ประกาศเข้มเรื่องการไม่เห็นด้วยต่อการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 รัฐบาลก็ไม่เอาด้วย และหางเสียงของผบ.ทบ.ก็บอกว่าถ้าไม่แก้ก็จะได้จบ จะได้ปรองดองกันได้ ตรงนี้ตนคิดว่ามันมีนัยยะที่สอดคล้องกับเหตุการณ์หลายๆอย่างพร้อมๆกัน

ตนวิเคราะห์ไว้ก่อนหน้านี้ว่ามี 4 ทางเลือก หากประชาชนตื่นช้า 1. มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ระหว่างเผด็จการรัฐสภาโดยทุนสามานย์ กับเผด็จการทางทหาร ได้รับชัยชนะแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด และเมื่อชนะแล้ว ยอมเสียอำนาจเผด็จการนั้นปฏิรูปการเมือง เพื่อรักษาหลักนิติรัฐ ลดอำนาจของนักการเมืองที่ล้มเหลว สร้างดุลยภาพทางการเมืองให้ประชาชนที่หลากหลายมากกว่าเดิม สร้างกระบวนการตรวจสอบที่เข้มแข็งที่สามารถทำให้ฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ ถ่วงดุลได้อย่างแท้จริง โดยฝ่ายเผด็จการนั้นต้องยอมเสียสละ และยอมสูญเสียอำนาจของตัวเองในอนาคต ทางเลือกนี้ยากมากที่จะเป็นไปได้ วิธีการนี้แม้มีความขัดแย้ง มีโอกาสเสียเลือดเนื้อด้วย แต่ก็แค่ช่วงของการต่อสู้ แต่เมื่อปฏิรูปแล้วประเทศจะสงบระยะยาว

2. มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ระหว่างเผด็จการรัฐสภาโดยทุนสามานย์ กับเผด็จการทางทหาร ได้รับชัยชนะแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แล้วฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งนั้นใช้อำนาจล้างความผิดตัวเองในอดีต และมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อผูกขาดอำนาจในอนาคต จนไม่สามารถตรวจสอบทุจริตอะไรได้เลย ถือว่าเป็นเผด็จการเต็มรูปแบบ ทางใดทางหนึ่ง วิธีการนี้ต้องมีการสูญเสียแน่นอน มีโอกาสเสียเลือดเนื้อ ทั้งในช่วงต่อสู้ และหลังกระชับอำนาจแล้ว ประเทศจะไม่สงบไปยาวนาน

3. ทางเลือกนี้ที่หลายๆคนสงสัยอยู่ คือ เผด็จการรัฐสภาโดยทุนสามานย์ และเผด็จการทหาร ได้ตกผลึกและยอมรับแล้วว่าไม่มีทางที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะชนะได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด จึงเกิดการประนีประนอมยอมกัน เพื่อผลประโยชน์ของชนชั้นนำทุกฝ่าย และอาจรวมถึงผู้นำฝ่ายมวลชนบางฝ่ายด้วย หรือที่เรียกว่าจับมือและฮั้วกันระหว่างชนชั้นนำ เพื่อไม่ให้รุกคืบไปในอาณาเขตของแต่ละฝ่าย แบ่งปันอำนาจทางการเมือง งบประมาณ และผลประโยชน์กลุ่มทุนในปัจจุบันและอนาคต ล้างความผิดให้ชนชั้นนำในอดีตของอีกฝ่ายหนึ่ง เพื่อแลกกับการไม่รุกคืบทำลายชนชั้นนำอีกฝ่ายหนึ่ง โดยยังคงดำรงความฉ้อฉลของแต่ละฝ่ายต่อไป และไม่มีการปฏิรูปประเทศไทย

วิธีนี้ชนชั้นนำของทุกฝ่ายจะสมประโยชน์กัน แต่จะสร้างความไม่พอใจให้มวลชนที่สนุบสนุนในแต่ละฝ่ายทันที เหมือนปรากฏการณ์วันนี้ ที่เสื้อแดงไม่พอใจรัฐบาล ส่วนฝ่ายที่สนับสนุนพล.อ.เปรม ก็ไม่เห็นด้วยเช่นกัน แต่ฝ่ายเสื้อแดงเสียเปรียบมากกว่า เพราะเป็นฝ่ายปลุกระดมตลอดให้เกลียด พล.อ.เปรม แต่กลับเป็นฝ่ายออกปากเริ่มต้นเชิญเอง ฉะนั้นการเดินทางไปของ พล.อ.เปรมครั้งนี้ ฝ่ายเสื้อแดงจึงสูญเสียมวลชนมากกว่าฝ่ายอื่น

การทำเช่นนี้จะนำไปสู่การเสื่อมศรัทธา และเสียมวลชนในฝ่ายตัวเอง และมีโอกาสก่อตัวในรูปแบบอื่นที่ไม่สามารถควบคุมได้ ในที่สุดแต่ละฝ่ายที่แบ่งปันอำนาจและผลประโยชน์ลงตัวนั้น ก็จะเกิดขึ้นแค่ชั่วคราวเท่านั้น เพราะการประนีประนอมดังกล่าวเป็นแค่การซื้อเวลาเท่านั้น ในที่สุดจะมีฝ่ายหนึ่งที่สามารถรอเวลาได้ เพราะยิ่งนานวันยิ่งได้เปรียบ ในขณะที่อีกฝ่ายไม่สามารถรอเวลาได้ เพราะยิ่งนานก็ยิ่งเสียเปรียบลงเรื่อยๆ จนในที่สุด ก็จะต้องเกิดชัยชนะ และความพ่ายแพ้ ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ทั้งทางเลือกแรกและทางเลือกที่ 2 กลับไปหาสิ่งนั้นอย่างใดอย่างหนึ่ง

ทางเลือกที่ 4 ทั้งสองฝ่ายคือเผด็จการทางรัฐสภาโดยทุนสามานย์ และเผด็จการทางทหาร ได้ตกผลึกและยอมรับแล้วว่า ไม่มีทางที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะได้รับชัยชนะแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดได้ จึงยอมเสียสละทุกฝ่าย เรื่องในอดีตฝ่ายผู้นำที่กระทำผิดกฎหมายก็ให้ได้รับโทษทางกฎหมายเพื่อรักษาหลักนิติรัฐ และเรื่องในอนาคตก็ยอมเสียสละอำนาจของตัวเองและพวกพ้องเพื่อปฏิรูปประเทศไทย ยอมให้ประชาชนทุกพื้นที่ ทุกสาขาอาชีพ ทุกสังคม และทุกภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้ไขกฎหมายเพื่อการลดอำนาจนักการเมืองทุกฝ่ายในเชิงโครงสร้าง โดยมีเป้าหมายในการทำลายระบบเผด็จการทางรัฐสภาโดยทุนสามานย์ เพื่อไม่ให้เกิดเผด็จการทางทหารในอนาคต วิธีการนี้เป็นแนวทางสันติวิธี แต่ยากที่จะเกิดขึ้นได้ในยามที่นักการเมืองยังคงเหิมเกริมและหลงในอำนาจ

รศ.ชัยชนะกล่าวว่า การจับมือกันของชนชั้นนำเป็นไปได้มาก แต่คนที่จะโดนกดมากที่สุดก็คือคนชั้นล่าง แต่โมเดลหนึ่งที่ไม่น่าจะเกิดในประเทศไทย ตนขอยกตัวอย่างเวเนซุเอลา วันนี้ ฮูโก ชาเวซ ปกครองประเทศมานานเหลือเกิน เพราะเอา ปตว. (เปรียบกับ ปตท.ของไทย) กลับมาเป็นของประชาชน เอามาให้รากหญ้า ไม่เหมือนประชานิยมบ้านเรา

ก้บประเทศนี้คงเป็นไปได้ยาก ยกตัวอย่างง่ายๆ ถ้ามีทหารทำรัฐประหาร ยังไม่เห็นว่าจะมีทหารคนไหนมีอุดมการณ์เช่นนั้น อย่างรัฐประหารปี 49 น่าเสียดาย ครั้งนั้นน่าจะเป็นวิธีการที่เปลี่ยนแปลงประเทศได้ ตามที่นายปานเทพพูด ตนก็ยังนึกไม่ออกว่าจะเปลี่ยนแปลงด้วยวิธีไหน ตนขอเสนออีกโมเดล คือ ชนชั้นกลางที่เป็นเด็กๆตกงานเยอะๆ คนพวกนี้มีสติปัญญา ตนนึกถึงโมเดลอาหรับสปริง พวกนี้แลกเปลี่ยนด้วยโซเชียลมีเดีย คิด และตกผลึกในจุดหนึ่ง แล้วก็ออกมา

รศ.ชัยชนะกล่าวอีกว่า มีโอกาสที่อมาตยาเก่า กับทุนนิยมสามานย์ จะร่วมมือกัน แต่ตนอยากเห็นแบบฮูโก ชาเวซ มากกว่า แต่มันหาไม่ได้




กำลังโหลดความคิดเห็น