“ยิ่งลักษณ์ ” เป็นประธานวันครู หลั่งน้ำตานึกถึงพระคุณ ย้ำ รัฐบาลมีนโยบายปฏิรูปครูให้มีคุณภาพพร้อมดูแล สวัสดิการ เหตุเพราะเป็นอาชีพที่มีหนี้สินเยอะที่สุด
ที่หอประชุมคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ วันนี้ (16 ม.ค.) น.ส.ยิงลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีน้อมเกล้าฯถวายสักการะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “พระผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดิน” ในงานวันครูของคุรุสภา ครั้งที่ 56 ภายใต้แนวคิด “ครูดี ตามรอย...พระผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดิน”
โดย นายกรัฐมนตรีได้ถวายเครื่องสักการะพระบรมสาทิสลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุ
ฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ก่อนจะนำกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณ แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ว่า จะยึดมั่นในจรรยาบรรณของความเป็นครู และจะเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาท และวางพวงมาลัยสักการะปฐมบูรพาจารย์ จากนั้น นายกรัฐมนตรี ได้ทำพิธีคารวะครูอาวุโส โดยปีนี้นายกรัฐมนตรีได้คารวะครูที่เคยสอนจำนวน 3 ท่าน ประกอบด้วย ซิสเตอร์ อรศรี มนตรี คุณครูระดับอนุบาล คุณครูกาญจนา นันทขว้าง คุณครูระดับประถมศึกษา และคุณครูสุภาพ วัฒนวิกย์กรรม์ คุณครูระดับมัธยมศึกษา ซึ่งขณะที่นายกรัฐมนตรีมอบดอกไม้ธูปเทียนและก้มกราบครูนั้น น้ำตาของนายกรัฐมนตรีได้ไหลออกมาด้วย หลังจากนั้น นายกรัฐมนตรีจึงมอบรางวัลให้กับครูดีเด่นในด้านต่างๆ
นายกรัฐมนตรีได้กล่าวคำปราศรัย เนื่องในวันครูว่า ขอให้ครูทุกคนน้อมนำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงให้ความสำคัญกับบทบาทของครูในฐานะผู้นำการเปลี่ยนแปลงสังคมมาปรับใช้ ซึ่งรัฐบาลก็ให้ความสำคัญกับครูเช่นกัน จึงมีนโยบายปฏิรูประบบการผลิตครูให้มีคุณภาพ สร้างแรงจูงใจให้คนเรียนดี และมีคุณธรรมเข้าสู่วิชาชีพครู จัดระบบการศึกษาและฝึกอบรม ที่สำคัญ นอกจากจะให้ความยกย่องครูแล้ว ขวัญกำลังใจ และการดูแลสวัสดิการต่างๆ รัฐบาลจะความสำคัญ วันนี้น่าตกใจ เพราะอาชีพครูเป็นอาชีพที่มีหนี้สินมากที่สุด เพราะถึงอย่างไรทุกท่านก็ทำด้วยจิตวิญญาณของครูอย่างแท้จริง เพราะถ้าครูไม่รักและผูกพันกับลูกศิษย์คงไม่มายืนที่จุดนี้และไม่ได้รับการยกย่องเป็นครูดีเด่นแห่งปี
ทั้งนี้ นายองค์กร อมรสิรินันท์ เลขาธิการคุรุสภา ได้ทำพิธีมอบข้อเสนอต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อเป็นตัวแทนผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ให้คำปรึกษาเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี โดยเป็นผลสรุปจากที่ประชุมสมัชชาผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา เมื่อวันที่ 12 มกราคมที่ผ่านมา เพื่อร่วมผลักดันนโยบายด้านการศึกษาให้ประสบความสำเร็จ
สำหรับข้อเสนอของคุรุสภาต่อคณะรัฐมนตรี ต้องการให้รัฐบาลกำหนดให้การศึกษาเป็นวาระแห่งชาติ ในปี 2555 โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เนื่องจากที่ผ่านมาความขัดแย้งทางการเมืองทำให้ไทยเสียโอกาสในการพัฒนาการศึกษาไป จึงควรก้าวข้ามความคิดล้าหลังและยกให้การศึกษาเป็นภารกิจสำคัญ ทั้งนี้ ได้กำหนดยุทธศาสตร์ 6 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์ที่ 1 ส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ยุทธศาสตร์ที่ 2 เสริมสร้างความเข้มแข็งให้สถาบันต่างๆ ในสังคมในการจัดการศึกษา ยุทธศาสตร์ที่ 3 ผลักดันให้นักการศึกษามีบทบาทในการบริหารกระทรวงศึกษาธิการ ยุทธศาสตร์ที่ 4 พัฒนาการบริหารจัดการหน่วยงานทางการศึกษาสู่มาตรฐานสากล ยุทธศาสตร์ที่ 5 บังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาให้มีประสิทธิภาพ ยุทธศาสตร์ที่ 6 มุ่งนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาใช้พัฒนาการศึกษา