.
ASTVผู้จัดการออนไลน์ - หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของเวียดนามกำลังเตรียมการขอถอดชื่อไต้ฝุ่นเซินตีง (Son Tinh) ออกจากสาระบบชื่อพายุในแปซิฟิกตะวันตกเฉียงเหนือ หลังจากไต้ฝุ่นลูกนี้สร้างความเสียหายให้ระบบสาธารณูปโภคในจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือเวียดนามอย่างหนักในสัปดาห์ปลายเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา และยังทำให้มีผู้เสียชีวิตอีก 7 คน
ไต้ฝุ่นเซินตีงได้สร้างความเสียหายให้แก่ 3 ประเทศ และยังสร้างความแปลกประหลาดใจให้แก่นักอุตุนิยมวิทยาอย่างมากมาย
“เซินตีง” เป็นชื่อเทพเจ้าแห่งขุนเขาในนิทานโบราณ เกี่ยวกับการกำเนิดฤดูมรสุมของเวียดนาม เป็นเทพเจ้าที่ทรงอิทธิฤทธิ์มาก ประชามติส่วนใหญ่ของชาวเวียดนามเห็นว่า ไม่สมควรนำชื่อเทพเจ้า หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไปตั้งเป็นชื่อพายุ สื่อของทางการรายงาน
ที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนชื่อพายุไปประมาณ 76 ชื่อ ทั้งในย่านทวีปอเมริกาเหนือ-แอตแลนติก และในมหาสมุทรแปซิฟิกด้วยเหตุผลต่างๆ กัน “ไอรีน” (Irene) เป็นรายล่าสุดที่ถูกถอดออกไปจากบัญชีโดยองค์การอุตุนิยมวิทยาระหว่างประเทศ (International Meteorological Organization)
เฮอริเคนไอรีนซึ่งตั้งตามชื่อเทพไอรีน ได้คร่าชีวิตผู้คนไป 49 ราย ในสาธารณรัฐโดมินิกัน กับเฮติ และสร้างความเสียหายแก่สหรัฐฯ เป็นมูลค่าราว 15,800 ล้านดอลลาร์ ชื่อไอรีนถูกแทนที่โดย “เออร์มา” (Irma) ซึ่งจะนำไปใช้ในปี พ.ศ.2560
ตามที่มีการบันทึกไว้ พายุลูกแรกที่ถูกถอดชื่อออกจากระบบก็คือ เฮอริเคนแครอล (Carol) ในปี พ.ศ.2497 เป็นพายุที่เร็ว และแรงที่สุด สร้างความเสียหายแก่สหรัฐฯ หนักหนาสาหัสที่สุดในยุคโน้น
ไกลออกไปจากย่านนี้ พายุคารินา (Katrina) ถูกถอดชื่อออกจากระบบหลังจากพัดเข้าทำลายภาคตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐฯ เสียหายย่อยยับเมื่อปี 2548 และถูกแทนที่โดย “คาเทีย” (Katia) ซึ่งเริ่มใช้ในฤดูพายุปี 2554
นายบุ่ยมีงตัง (Bui Minh Tang) ผู้อำนวยการศูนย์อุตุนิยมวิทยาและอุทกศาสตร์ (กรุงฮานอย) กล่าวว่า ชื่อพายุเสนอโดยประเทศต่างๆ ภายใต้กฎว่า ชื่อจะต้องสั้นๆ จำง่าย เป็นคำๆ เดียวไม่มีอะไรนำหน้า หรือต่อท้าย ถ้าหากขอถอดชื่อเซินตีงออกด้วยเหตุผลที่ว่าได้รับความเสียหายจากพายุลูกนี้อย่างหนักก็อาจจะไม่ได้รับความเห็นชอบ แต่ถ้าหากใช้เหตุผลไม่ควรจะตั้งตามชื่อเทพเจ้า ก็อาจจะได้รับความเห็นใจ
เมื่อหลายปีก่อนโน้น ชื่อพายุจะตั้งโดยหน่วยงานของ 3 ประเทศคือ สหรัฐฯ ญี่ปุ่นและฟิลิปปินส์ ต่อมา นักอุตุนิยมวิทยาเห็นพ้องกันที่จะตั้งชื่ออย่างเป็นระบบระเบียบ เพื่อให้กำกับดูแลง่าย จึงเป็นที่มาของการเรียงตามลำดับอักษร เช่น ชื่อขึ้นต้นด้วยอักษร A ก็จะใช้ก่อน และเรียงลำดับกันไป
ปัจจุบัน ในย่านแปซิฟิกตะวันตกเฉียงเหนือ มีบัญชีรายชื่อพายุที่ใช้อยู่จำนวน 4 บัญชี หมุนเวียนกันไป เช่น รายชื่อที่ใช้เมื่อปี 2551 จะถูกนำกลับไปใช้อีกครั้งหนึ่งในปี 2557
.
.
ชื่อพายุที่สร้างความเสียหายให้แก่ชีวิต และทรัพย์สินของผู้คนอย่างหนักมักจะถูกเสนอถอดออกจากบัญชี และจะนำเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุมคณะกรรมาธิการพายุเขตร้อน (Tropical Storm Commission) แห่งองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก ที่โดยปกติตะเปิดประชุมในเดือน ม.ค.ของทุกกปี
หลายปีมานี้ มีพายุที่ก่อตัวในแปซิฟิกตะวันตกเฉียงเหนือซึ่งครอบคลุมถึงทะเลจีนใต้ ถูกถอดชื่อออกไปจำนวน 23 ชื่อ พายุเหล่านั้นสร้างความเสียหายเป็นมูลค่ารวมกันประมาณ 47,000 ล้านดอลลาร์ (มูลค่าในปี 2012) และทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 5,600 คน
พายุที่ถูกถอดชื่อในช่วง 5-6 ปีมานี้ ยังรวมทั้งไต้ฝุ่น “มัดสา” (มัจฉา) ชื่อภาษาลาว ซึ่งถูกถอดในปี 2548 และแทนที่ด้วย “ปาข่า” (ปลาข่า ซึ่งหมายถึงโลมาอิรวดีในแม่น้ำโขง) ไต้ฝุ่นซ้างสาน (ช้างสาร) ถูกถอดปี 2549 แทนที่โดย “หลี่ผี” ไต้ฝุ่นทุเรียนชื่อไทยก็ถูกถอดปี 2549 และใช้ “มังคุด” แทน
ไต้ฝุ่นเกดสะหนา พายุชื่อลาวอีกลูกหนึ่งถูกถอดในปี 2549 เช่นกัน และใช้ชื่อ “จำปี” แทน และปี 2549 เช่นกัน เวียดนามได้ขอถอนชื่อจันจู (Chanchu) ที่เสนอเข้าสู่ระบบโดยเกาหลี หลังจากไต้ฝุ่นลูกนี้สร้างความเสียหายให้แก่เวียดนามอย่างหนัก
ปีเดียวกัน เกาหลีได้เสนอถอดชื่อซาวมาย (Sao Mai) ภาษาเวียดนามที่มีความหมายว่า “ดาวรุ่ง” หลังจากไต้ฝุ่นลูกนี้พัดเข้าทำลายสร้างความเสียหายอย่างหนักให้แก่จีนกับคาบสมุทรเกาหลี และเวียดนามเสนอชื่อ “เซินตีง” ใช้แทนในปีนั้น.
.