xs
xsm
sm
md
lg

พระสงฆ์พม่าเดินขบวนสนับสนุนแผนต่อต้านโรฮิงญา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033> พระสงฆ์พม่าเดินขบวนบนถนนในเมืองมัณฑะเลย์ เมื่อวันที่ 2 ก.ย. สนับสนุนแนวทางจัดการกับโรฮิงญาของประธานาธิบดีเต็งเส่ง และประท้วงต่อต้านสหประชาชาติเกี่ยวกับเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นในรัฐยะไข่. --  AFP PHOTO. </font></b>

เอเอฟพี - พระสงฆ์พม่าหลายร้อยรูปเดินขบวนในพม่าเมื่อวันอาทิตย์ (2 ก.ย.) สนับสนุนข้อเสนอของประธานาธิบดีเต็งเส่งที่จะเนรเทศมุสลิมโรฮิงญา หรือให้รวมตัวกันอยู่ในค่ายพัก ในการเดินขบวนครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่สิ้นสุดการปกครองระบอบเผด็จการทหาร

พระสงฆ์จำนวนมากเดินขบวนไปตามถนนในเมืองมัณฑะเลย์ที่ล้อมรอบด้วยกลุ่มผู้สนับสนุน ซึ่งภาพเหตุการณ์เช่นนี้มีปรากฏให้เห็นครั้งล่าสุดเมื่อครั้งการประท้วงที่นำโดยพระสงฆ์เมื่อปี 2550 แต่ถูกฝ่ายทหารที่เป็นผู้ปกครองในช่วงเวลานั้นเข้าสลายการประท้วงอย่างรุนแรง

“ปกป้องแผ่นดินแม่ด้วยการสนับสนุนประธานาธิบดี” ข้อความหนึ่งระบุอยู่บนแผ่นป้ายในการเดินขบวน ขณะเดียวกัน มีการวิพากษ์วิจารณ์ นายโทมัส โอเจีย ควินตานา ทูตพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ที่เผชิญกับข้อกล่าวหาว่ามีอคติให้การสนับสนุนโรฮิงญา หลังเกิดเหตุความไม่สงบระหว่างชาวพุทธ และมุสลิมในรัฐยะไข่ ทางตะวันตกของประเทศ

พระสงฆ์รูปหนึ่งที่นำการเดินขบวนครั้งนี้อ้างว่า มีพระสงฆ์ราว 5,000 รูปเข้าร่วมการเดินขบวน พร้อมกับประชาชนนับพันที่เฝ้าดูการเดินขบวน และว่าการเดินขบวนครั้งนี้มีขึ้นเพื่อต้องการให้โลกรับรู้ว่า โรฮิงญาไม่ได้เป็นหนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์ของพม่า และต้องการประณามการก่อการร้ายของโรฮิงญาบังกลาเทศที่สังหารชาวยะไข่อย่างโหดเหี้ยม

เนื่องจากมีภาษาพูดใกล้เคียงกับบังกลาเทศที่เป็นประเทศเพื่อนบ้าน โรฮิงญาในพม่าราว 800,000 คน ถูกมองว่าเป็นผู้อพยพผิดกฎหมาย และความรุนแรงที่เกิดขึ้นสร้างความไม่พอใจต่อประชาชนส่วนใหญ่ที่เป็นชาวพุทธ

การต่อสู้ในรัฐยะไข่ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 90 คน จากทั้งสองฝ่ายนับตั้งแต่เดือน มิ.ย. ตามการระบุของทางการพม่า แต่กลุ่มสิทธิมนุษยชนระบุว่า ยอดผู้เสียชีวิตอาจสูงกว่านั้น

พม่าปฏิเสธข้อกล่าวหาว่ากระทำการปราบปรามชาวมุสลิม และทางการพม่าได้เริ่มกระบวนการสอบสวนเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้น

ประธานาธิบดีเต็งเส่ง แสดงความคิดเห็นต่อนายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ระบุว่า เป็นไปไม่ได้ที่พม่าจะยอมรับโรฮิงญาที่เข้าประเทศอย่างผิดกฎหมาย และไม่ใช่เชื้อชาติพม่า และเสนอที่จะส่งชาวโรฮิงญาไปยังประเทศที่สาม หรือค่ายพักแรมของสหประชาชาติ

พระสงฆ์รูปเดิมกล่าวว่า ประธานาธิบดีเต็งเส่งยืนยันหนักแน่นในความเห็นต่อสหประชาชาติ แม้ประธานาธิบดีเต็งเส่งจะระบุว่า โรฮิงญาอาจได้สถานะพลเมืองพม่าหากอาศัยอยู่อย่างสงบ

การเดินขบวนคาดว่าจะมีขึ้นต่อเนื่องไปอีก 2 วัน รวมทั้งการเดินขบวนในเมืองปะก็อกกู ในเขตมาเกว ที่เป็นจุดกำเนิดการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยในปี 2550 ที่กลายเป็นที่รู้จักในชื่อ การปฏิวัติผ้าเหลือง (Saffron Revolution) เพราะสีจีวรของพระสงฆ์.
กำลังโหลดความคิดเห็น