xs
xsm
sm
md
lg

รถหัวกระสุนเหนือ-ใต้ตัน ญี่ปุ่นแนะเวียดนามทำ 2 ช่วงก่อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<bR><FONT color=#000033>รถไฟขบวนนี้แล่นออกจากเมืองนีงบี่ง (Ninh Binh) ในจังหวัดชื่อเดียวกันทางตอนใต้กรุงฮานอยในเวลาบ่ายวันที่ 23 ก.พ.2555 จากที่นี่ไปยังนครโฮจิมินห์ในภาคใต้จะต้องใช้เวลาอีกเกือบ 30 ชั่วโมง องค์การ ไจก้า ของญี่ปุ่นที่ศึกษาเรื่องนี้ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา แนะนำให้เวียดนามพัฒนาทางรถไฟในปัจจุบัน ด้วยเงินลงทุนระหว่าง 1,800 ล้านจนถึง 14,500 ล้านดอลลาร์ เพื่อให้ร่นเวลาเดินทางลงเหลือ 25 และ 15 ชั่วโมงตามลำดับ ขณะเดียวกันก็ใช้เงินทุนอีกราว 21,400 ล้านดอลลาร์สร้างรถไฟความเร็วสูง 2 เส้นทางในภาคใต้กับภาคเหนือ ส่วนความหวังที่จะสร้างรวดเดียว 1,750 กม.นั้นจะต้องรอไปอีกราว 20 ปี. -- ภาพโดย วุฒิพงษ์ หลักคำ-บุญญะสาร.  </b>
.

ASTVผู้จัดการออนไลน์ - องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่น หรือ “ไจก้า” สำรวจศึกษาเสร็จแล้วและพบว่า รถไฟหัวกระสุนเชื่อมระหว่างกรุงฮานอย กับนครโฮจิมินห์นั้นเป็นไปได้ยาก ควรจะรอไปอีก 20 ปี และในระหว่างนี้ ควรจะแยกสร้างเป็น 2 ช่วงก่อนเพื่อทดลองเป็นระยะเริ่มแรก ขณะเดียวกัน ก็แนะนำให้เวียดนามพัฒนายกระดับทางรถไฟในปัจจุบันให้ทันสมัยยิ่งขึ้น ขนส่งผู้โดยสารกับสินค้าได้มากขึ้น

ไจก้าได้ศึกษาโครงการรถไฟฟ้าหัวกระสุนเหนือ-ใต้ให้แก่เวียดนามตลอด 1 ปีที่ผ่านมา และจัดการประชุมปรึกษาเรื่องนี้กับฝ่ายเวียดนามในวันอังคาร 14 ส.ค.ที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์เตื่อยแจ๋รายงานเรื่องนี้ในเว็บไซต์ภาษาเวียดนามวันพุธ

ไจก้ากล่าวว่า การพัฒนายกระดับรถไฟในปัจจุบันให้เป็นทางรถไฟความเร็วสูง ที่ขบวนรถสามารถแล่นด้วยความเร็ว 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมงนั้น “ไม่สามารถจะเป็นไปได้ในทางเทคนิค” และหากทำเช่นนั้นจริง ก็จะต้องใช้เงินลงทุนเท่ากับสร้างใหม่ทั้งระบบ นายอิวะตะ ชิซูโอะ (Iwata Shizuo) หัวหน้าคณะผู้เชี่ยวชาญของไจก้ากล่าว

นอกจากนั้นเหตุผลสำคัญยิ่งก็คือ ในเวียดนามยังไม่มีความค้องการการสัญจรด้วยระบบรถไฟฟ้าความเร็วสูง จนกว่าจะถึงปี 2573 ซึ่งคาดว่าปริมาณการสัญจรจะเพิ่มขึ้นเป็นราว 3 เท่าของปัจจุบัน

ในระยะนี้ไปจนถึงปี 2563 ไจก้าได้แนะนำให้เวียดนามพัฒนาทางรถไฟ เพื่อให้รถแล่นในความเร็ว 90 กม./ชม.ได้อย่างปลอดภัยสำหรับรถโดยสาร และ 60 กม./ชม.สำหรับขบวนสินค้า ซึ่งจะช่วยร่นเวลาเดินทางระหว่างฮานอยกับโฮจิมินห์ลงจาก 28 ชั่วโมงในปัจจุบัน เป็น 25 ชั่วโมงกับ 24 นาที และเพิ่มขบวนรถจาก 30 ขบวนในปัจจุบัน เป็นวันละ 50 ขบวน

ทั้งหมดนี้คาดว่าจะใช้เงินลงทุน 1,800 ล้านดอลลาร์ เตื่อยแจ๋ออนไลน์ (TTO) กล่าว

อีกแผนการหนึ่งที่สามารถทำได้ควบคู่กันไปก็คือ ขยายช่วงโค้งตามแนวเส้นทางรถไฟในปัจจุบันที่มีอยู่หลายช่วง จากปัจจุบัน เพียง 100 เมตร ให้เป็น 800 เมตร เพื่อให้รถแล่นได้ด้วยความเร็ว 120 กม./ชม. การพัฒนาเรื่องนี้จะช่วยร่นเวลาเดินจากฮานอยไปโฮจิมินห์ลงเหลือเพียง 15 ชั่วโมงกับ 36 นาที แต่จะต้องใช้งบลงทุน 14,500 ล้านดอลลาร์

สำหรับรถไฟหัวกระสุน ในช่วงเดียวกันนี้ ไจก้าแนะนำให้เวียดนามก่อสร้าง 2 เส้นทางไปพร้อมๆ กัน คือ ระหว่างโฮจิมินห์กับเมืองญาจาง (Nha Trang) เมืองท่องเที่ยวชายทะเลยอดนิยมใน จ.แค้งฮวา (Khanh Hoa) ระยะทาง 360 กม. และอีกเส้นทางหนึ่งจากฮานอยไปยังเมืองวีง (Vinh) เมืองเอกของ จ.เหงะอาน (Nghe An) ในภาคกลางตอนบน รวมระยะทาง 280 กม.

ทั้งสองเส้นทางนี้ มีมูลค่าก่อสร้างรวมกันประมาณ 21,400 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นราว 6.3% ของจีดีพีเวียดนามในปี 2570 ซึ่งเป็นปีที่จะเปิดให้บริการ

ถึงกระนั้นก็ตาม ไจก้ายังแนะนำอีกว่า รถไฟความเร็วสูงทั้ง 2 ช่วงดังกล่าว ควรจะเริ่มการก่อสร้างเป็นช่วงสั้นๆ ก่อน เพื่อทดลองให้บริการ และทดสอบความนิยมของผู้โดยสาร โดยสายใต้ในช่วงแรก 30 กม.ระหว่างโฮจิมินห์ กับ อ.ลองแถ่ง (Long Thanh) จ.โด่งนาย (Dong Nai) ทำเลที่จะสร้างสนามบินนานาชาติขนาดใหญ่

อีกเส้นทางหนึ่ง ไจก้าแนะให้สร้างช่วงแรกจากฮานอยไปยัง อ.ฝูหลี (Phu Ly) จ.ห่านาม (Ha Nam) ที่อยู่ใต้ลงไป 40 กม. ที่นั่นเป็นชุมทางสำคัญที่เชื่อมภาคเหนือ ภาคตะวันตก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือกับภาคใต้

รัฐบาลเวียดนามประกาศในปลายปี 2550 เกี่ยวกับแผนการก่อสร้างรถไฟหัวกระสุนสายเหนือ-ใต้ ระยะทางกว่า 1,750 กม. ด้วยเงินลงทุนราว 63,000 ล้านดอลลาร์ ด้วยการสนับสนุน และช่วยเหลือจากรัฐบาลญี่ปุ่น ทั้งในด้านการเงิน อุปกรณ์ และเทคโนโลยี

แต่แผนการดังกล่าวถูกคว่ำไป เมื่อเสนอต่อรัฐสภาในปี 2552 เนื่องจากสมาชิกเห็นว่า ยังมีโครงการเร่งด่วนยิ่งกว่านั้นอีกมาก ที่ต้องการเงินลงทุนสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมของประเทศ จึงทำให้กระทรวงขนส่งต้องจัดให้มีการสำรวจศึกษาใหม่เพื่อย่อส่วนลง.
.
กำลังโหลดความคิดเห็น