.
ASTVผู้จัดการออนไลน์ - กระทรวงกลาโหมอินโดนีเซีย ได้ประกาศล้มเลิกแผนการจัดซื้อเครื่องบินรบ Su-30 จากรัสเซียทั้งหมด โดยอ้างงบกลาโหมลดลง และสร้างความหวังว่า สหรัฐฯ จะขาย F-16 ที่ใช้แล้วจำนวน 24 ลำ พร้อมอัปเกรดให้ นอกจากนั้น อินโดนีเซียเองยังร่วมลงทุนโครงการพัฒนาเครื่องบิน K-FX เทคโนโลยี “สเตลธ์” กับเกาหลี ทั้งหมดนี้ จะทำให้กองทัพอากาศมีเครื่องบินเพียงพอต่อความต้องการในอีก 20 ปีข้างหน้า
อินโดนีเซีย ประกาศในปลายปี 2553 จะซื้อ SU-30 MK2 จากรัสเซียอีก 6 ลำ เพื่อให้มีครบฝูงในแผนการจัดซื้อเครื่องบินจากรัสเซียเกือบ 200 ลำ ตลอด 20 ปีข้างหน้า การตัดสินใจครั้งนี้ เท่ากับยกเลิกแผนการเดิมทั้งหมด สำนักข่าว Lenta.Ru ในรัสเซียรายงาน ตอกย้ำข่าวของเว็บไซต์ FlightGlobal.Net ในสัปดาห์นี้
ปัจจุบัน อินโดนีเซียมีเครื่องบินตระกูลซูใช้งานจำนวน 10 ลำ เป็น Su-30MK/MK2 จำนวน 5 ลำ และ Su-27SK/SKM อีก 5 ลำ โดยแผนการเดิมจะอัปเกรด Su-27 ทั้งหมดขึ้นเป็น Su-30MK2
ทำเนียบประธานาธิบดีสหรัฐฯ ออกคำแถลง หลังจากประธานาธิบดีสหรัฐฯ บารัค โอบามา ไปร่วมประชุมผู้นำเอเชียแปซิฟิกที่เกาะบาหลีในเดือน พ.ย.ปีที่แล้ว ระบุว่า พร้อมจะขาย F-16C/D จำนวนดังกล่าวให้แก่อินโดนีเซีย โดยบริษัทล็อคฮีดมาร์ตินผู้ผลิตจะอัปเกรดให้ทันสมัย ด้วยราคาต่ำพิเศษรวมประมาณ 750 ล้านดอลลาร์
“เราคาดหวังว่า จะได้รับเครื่องบินรบเอฟ-16 จากสหรัฐฯ หลังได้รับแล้ว จะทำให้เราไม่ต้องการเครื่องบินใหม่อีกตลอด 20 ปีข้างหน้า” สำนักข่าวออนไลน์รายงานอ้างคำพูดของ พล.อ.ท.เออร์ริส เฮอร์เรียนโต (Erris Herrianto) ปลัดกระทรวงกลาโหมอินโดนีเซีย
อินโดนีเซียมีงบประมาณไม่พอซื้อเครื่องบินรัสเซีย งบที่มีอยู่พอสำหรับ F-16 “ไฟติ้งฟัลคอน” และเพื่ออัปเกรดเครื่องบินขนลำเลียงขนส่ง C-130 เฮอร์คิวลีส จำนวน 15 ลำ ที่มีอยู่ รวมทั้งอีก 4 ลำ ที่จะซื้อต่อจากออสเตรเลียในแผนการอัปเกรดเช่นกัน นายทหารคนเดียวกันกล่าว
ในเดือน ก.ย.2553 รัฐมนตรีกลาโหมอินโดนีเซีย ปูร์โนโม ยุสเกียนโตโร (Purnomo Yusgiantoro) ให้สัมภาษณ์ว่า ในช่วง 20 ปีข้างหน้า กองทัพอากาศมีแผนจะซื้อเครื่องบินรบซูคอยจากรัสเซียถึง 180 ลำ เพื่อให้มีจำนวนทั้งหมด 10 ฝูง
อย่างไรก็ตาม อินโดนีเซียได้เขาร่วมกับเกาหลีใต้ในโครงการพัฒนาเครื่องบินรบยุคใหม่ K-FX ที่ใช้เทคโนโลยีสเตลธ์ และใช้คุณสมบัติที่ดีเด่นส่วนหนึ่งของ F-22 “Raptor” และ F-35 “Lightning” ของสหรัฐฯ โครงการที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2001 นี้ จะผลิตเครื่องบินรบที่ก้าวหน้ากว่า ดาโซลท์ราฟาล (Dassault Rafale) กับ ยูโรไฟเตอร์ไต้ฝุ่น (Eurofighter Typhoon)
อินโดนีเซีย มีแผนจัดซื้อเครื่องบินในอนาคตที่ผลิตร่วมกับเกาหลีจำนวน 3 ฝูงๆ ละ 16-22 ลำ นอกจากนั้น ยังมีแผนจัดซื้อเครื่องบินลำเลียงแบบ CN-295 ที่ได้รับสิทธิบัตรผลิตในประเทศเองอีกจำนวนมาก ทั้งนี้ เป็นรายงานในเว็บไซต์ของกองทัพอากาศอินโดนีเซีย (Tentara Nasional Indonesia Angkatan Udara) หรือ TNI–AU
.
.
ไม่กี่ปีมานี้ อินโดนีเซียยังเซ็นซื้อเครื่องบินขับไล่โจมตีแบบเทอร์โบพร็อพ EMB-314 ”ซูเปอร์ทูคาโน” (Super Tucano) ของค่ายเอ็มเบรเออร์ (Embraer) แห่งบราซิลอีก 16 ลำ เพิ่งได้รับไป 4 ลำแรก เพื่อใช้แทนฝูงบินโอวี-10 “บร็องโก” (OV-10 Bronco) ที่ผลิตในสหรัฐฯ และใช้งานมาหลายสิบปีแล้ว ทั้งหมดจะใช้ในภารกิจปราบปรามการก่อการร้ายภายในประเทศ FlightGlobal.Net กล่าว
กองทัพอากาศอินโดนีเซีย ยังต้องทำอีกหลายอย่างในการพัฒนาขีดความสามารถ รวมทั้งการจัดซื้อเฮลิคอปเตอร์รุ่นใหม่เข้าประจำการแทน ยูโรคอปเตอร์ AS332 “ซูเปอร์พูม่า” (Super Puma) ที่ผลิตในฝรั่งเศสอีกด้วย
หากทุกอย่างเป็นไปตามนี้ ก็เท่ากับว่าอินโดนีเซียได้ปลดตัวเองออกจากการพึ่งพาอาวุธจากค่ายรัสเซียโดยสิ้นเชิง ตลอด 2 ทศวรรษข้างหน้า
ปัจจุบัน อินโดนีเซียเป็นเพียง 1 ใน 3 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีเครื่องบินรบ Su-27/30 ประจำการ รองจากเวียดนาม และมาเลเซีย ที่ต้องการเครื่องบินรบอเนกประสงค์ปฏิบัติการระยะไกลได้ในทุกสภาพภูมิอากาศ
ในเดือน มี.ค.ปีนี้ กองทัพอากาศอินโดนีเซียแถลงว่า ประสบความสำเร็จในการติดระเบิดที่ผลิตเองเข้ากับ Su-30MK2 ทิ้งลงทำลายเป้าหมายได้อย่างแม่นยำ และน่าพึงพอใจ
อินโดนีเซีย ยังส่ง Su-30MK2 ทั้ง 4 ลำ เข้าร่วมการฝึกซ้อม Pitch Back กับกองทัพอากาศออสเตรเลีย กับอีกหลายประเทศมาตั้งปลายเดือนที่แล้ว และเพิ่งจะสิ้นสุดลงในวันพฤหัสบดี 9 ส.ค.นี้ นับเป็นครั้งแรกสำหรับการนำเครื่องบินรบต่างค่ายออกฝึกซ้อมร่วมกันในระดับระหว่างประเทศ.