.
ASTVผู้จัดการออนไลน์ - ภาพชุดหนึ่งกำลังได้รับความสนใจจากชาวเน็ตจำนวนมาก ผ่านเว็บไซต์ข่าวกลาโหมหลายแห่ง เป็นภาพเหตุการณ์ฝึกซ้อมร่วมระหว่างกองทัพอากาศออสเตรเลีย กับกองทัพอากาศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นครั้งแรกในย่านเอเชีย-โอเชียเนีย ที่มีการนำเอาเครื่องบินรบ 2 ตระกูล ของค่ายรัสเซีย กับสหรัฐฯ ออกปฏิบัติการร่วมกันข้ามประเทศ และ เป็นการฝึกร่วมกันครั้งแรกด้วยเครื่องบินรบทันสมัยที่สุด ระหว่างทัพฟ้าของสองประเทศที่เคยเป็นไม้เบื่อไม้เมากันมาตลอดยุคสมัยอีกด้วย
นักวิเคราะห์ด้านกลาโหมในออสเตรเลียมองว่า อินโดนีเซียไม่เคยส่งเครื่องบินรบของตนออกนอกประเทศมาก่อน กระทำการครั้งนี้ ย่อมแสดงให้เห็นว่า ทั้งสองฝ่ายต่างรู้สึกมีภัยที่ข่มขู่ที่ใหญ่กว่า อยู่ใกล้ตัวมากกว่า
อินโดนีเซียส่ง Su-27SK จำนวน 2 ลำ กับ Su-30MK2 อีก 2 ลำ รวมเป็น 4 เหินฟ้าข้ามหมู่เกาะไปยังเมืองดาร์วิน ในมณฑลภาคเหนือ ของทวีปออสเตรเลีย เพื่อร่วมการฝึก “พิตช์แบล็ค 2012” (Pitch Black 2012) ซึ่งกองทัพอากาศ 6 ประเทศ รวมทั้งทัพฟ้าไทยกำลังร่วมกันฝึกในหลายเนื้อหา เพื่อความร่วมมือที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นในอนาคต สำนักข่าวกลาโหมออสเตรเลีย สื่อกลาโหมยอดนิยมรายงาน
การฝึกซ้อมเวลา 3 สัปดาห์ เริ่มขึ้นวันที่ 27 ก.ค.ที่ผ่านมา และกำลังดำเนินต่อไปจนถึงวันที่ 17 ส.ค.นี้ โดยใช้ฐานทัพอากาศดาร์วินเป็นศูนย์กลาง
จอห์น ฟาร์เรล นักวิเคราะห์แห่งนิตยสาร The Journal of Australia & New Zealand Defense กล่าวว่า ทั้งออสเตรเลีย และอินโดนีเซียไม่เคยนำเครื่องบินรบทันสมัยของตนออกฝึกร่วมกันมาก่อน ที่น่าสนใจอย่างยิ่งก็คือ Su-30MK2 รุ่นปัจจุบันได้รับการพัฒนาขึ้นมาเพื่อต่อกรกับ F/A-18E/F “ซูเปอร์ฮอร์เน็ต” ของสหรัฐฯ ที่เป็นเครื่องบินรบยุคที่ 4 เช่นเดียวกัน
“ความจริงก็คือ การที่อินโดนีเซียส่งเครื่องบินซูคอยไปออสเตรเลียครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่า ทั้งแคนเบอร์รา และจาการ์ตาต่างพบว่า มีภัยข่มขู่ที่ยิ่งใหญ่กว่าประชิดประเทศ” นายฟาร์เรลกล่าว และยังชี้อีกว่า การฝึกร่วมโดยใช้เครื่องบินรบทันสมัยของทั้งสองฝ่าย ได้เปิดโอกาสไปสู่ความร่วมมืออันใกล้ชิดมากยิ่งขึ้นในอนาคต
สองประเทศเพื่อนบ้านมึนตึงกันมาตลอดหลายทศวรรษแห่งสงครามเย็น ความสัมพันธ์ด้านกลาโหมจึงแทบจะไม่เกิดขึ้น สัมพันธ์สองฝ่ายยังคงมึนตึงแม้กระทั่งช่วงหลัง แม้ว่าดินแดนติมอร์ตะวันออก (ติมอร์เลสเต-ในปัจจุบัน) ได้รับเอกราช และแยกตัวจากอินโดนีเซียไปแล้วก็ตาม
อินโดนีเซียไม่ได้เป็นคู่กรณีกับฝ่ายใดในความขัดแย้งทะเลจีนใต้ แต่การเป็นเจ้าของหมู่เกาะใหญ่ 6,000 เกาะ ที่อยู่ติดกับน่านน้ำแห่งนี้ ทำให้เกิดความรู้สึกไม่ปลอดภัย และทำให้ประเทศที่เป็นหนึ่งในผู้ให้กำเนิดกลุ่มอาเซียนต้องเร่งพัฒนาเขี้ยวเล็บเป็นการใหญ่ ทั้งกองทัพบก ทัพเรือ และกองทัพอากาศ
.
2
3
4
ออสเตรเลียก็ไม่ต่างกัน ต่างหวาดวิตกกับการขยายอิทธิพลทางทหารของจีนลงสู่ทะเลจีนใต้และไกลออกไปยิ่งกว่านั้น ออสเตรเลียถูกกำหนดให้เป็นปราการสุดท้ายในการสกัดกั้นจีนในแผนการร่วมของสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรในย่านเอเชียแปซิฟิก ซึ่งเริ่มจากญี่ปุ่น ผ่านเกาะกวม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย กับสิงคโปร์ก็รวมอยู่ใน “กำแพงทางทะเล” ดังกล่าวด้วย
ในขณะที่กองทัพออสเตรเลีย ใช้อาวุธของโลกตะวันตกเป็นหลัก เหล่าทัพต่างๆ ของ อินโดนีเซียใช้อาวุธยุทโธปกรณ์ผสมผสานระหว่างค่ายตะวันตกกับรัสเซีย รวมทั้งเครื่องบินรบ F-16 บล็อก A/B ซึ่งเป็นรุ่นเก่าของตระกูล F-16 โดยอัปเกรดขึ้นให้ทันสมัย
แต่ Su-30MK2 เป็นเครื่องบินรบทันสมัยที่สุดของทัพฟ้าในปัจจุบัน
อินโดนีเซีย เป็นหนึ่งในสามประเทศอาเซียนที่ใช้เครื่องบินรบตระกูลซูคอย ถัดจากเวียดนามและมาเลเซีย ปัจจุบัน กองทัพอากาศอินโดนีเซียมี Su-27 จำนวน 10 ลำ กับ Su-30MK2 อีก 4 ลำ กำลังอยู่ระหว่างจัดซื้ออีก 6 ลำ
นอกจากเครื่องบินรบแล้ว อาวุธทันสมัยของอินโดนีเซียหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นรถถังเลโอพาร์ด 2A6 สุดทันสมัยที่เซ็นซื้อจากเยอรมนี 30 คันแรก และ ยานหุ้มเกราะยกพลขึ้นบกแบบ BMP-3F ที่ซื้อเพิ่มเติมจากรัสเซียเมื่อเร็วๆ นี้จะส่งไปประจำการที่กะลิมันตัน และชวาตะวันออก ซึ่งเป็นหน้าด่านของประเทศ.
ต่างค่าย-ใต้ฟ้าเดียวกัน GDVN
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18