xs
xsm
sm
md
lg

อินเดียสั่งซื้อเครื่องบินขับไล่ 126 ลำ

เผยแพร่:   โดย: สิทธารถ ศรีวัสตาวา

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

India plays fighter catch-up
By Siddharth Srivastava
13/02/2012

อินเดียตัดสินใจเลือกเครื่องบินขับไล่ราฟาล ของบริษัทดัซโซลท์ แห่งฝรั่งเศส มาใช้แทนฝูงบินที่ล้าสมัยแล้วของตน โดยที่จะทำข้อตกลงซื้อเป็นจำนวนมากถึง 126 ลำ คิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้นระหว่าง 12,000 ล้าน ถึง 16,000 ล้านดอลลาร์ ความเคลื่อนไหวคราวนี้คือการที่แดนภารตะออกมาตอกย้ำยืนยันในที่สุดว่า มีความมุ่งมั่นจริงจังที่จะเข้าประชันขันแข่งความทะเยอทะยานทางการทหารกับปากีสถานและจีน ยิ่งไปกว่านั้น การซื้อเครื่องบินรบที่ใช้งานได้หลายวัตถุประสงค์รุ่นนี้ ยังจะช่วยให้นิวเดลีบรรลุความมุ่งหมายที่จะกระจายแแหล่งที่มาแห่งอาวุธยุทโธปกรณ์ของตนให้มีความหลากหลายกว้างขวางมากขึ้นกว่าเดิมอีกด้วย

นิวเดลี - หลังจากที่ปล่อยให้เวลาผ่านพ้นไปนานถึง 1 ทศวรรษ อินเดียก็ได้ฤกษ์ทำการตัดสินใจในเรื่องข้อตกลงด้านกลาโหมที่ถือว่ายิ่งใหญ่มหึมาจริงๆ โดยที่เครื่องบินขับไล่ ราฟาล (Rafale) ของบริษัทดัซโซลท์ (Dassault) แห่งฝรั่งเศส เป็นผู้ชนะได้รับคัดเลือกให้เป็นเครื่องบินรบหลายภารกิจขนาดกลาง (medium multi-role combat aircraft ใช้อักษรย่อว่า MMRCA) รุ่นใหม่ของแดนภารตะ ทั้งนี้อินเดียวางแผนจะซื้อมาใช้งานเป็นจำนวนถึง 126 ลำ

สำหรับมูลค่าของข้อตกลงจัดซื้อคราวนี้น่าจะอยู่ในระหว่าง 12,000 ล้าน ถึง 16,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ถึงแม้มีบางฝ่ายประมาณการว่าจะบานปลายออกไปถึง 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯทีเดียว เป็นที่ชัดเจนมากว่า นี่คือข้อตกลงซื้ออากาศยานทางทหารที่มีมูลค่าสูงที่สุดฉบับหนึ่งของโลก

ประธานาธิบดีนิโกลาส์ ซาร์โกซี แห่งฝรั่งเศส ก็รู้สึกว่าอยู่เฉยๆ ไม่ได้ ต้องออกมาแถลงแสดงความยินดีกับข้อตกลงฉบับนี้ โดยที่ได้เรียกสัญญาซื้อขายคราวนี้ว่า คือ “การลงมติไว้วางใจในเศรษฐกิจของฝรั่งเศสโดยรวม”

เรื่องการทำข้อตกลงด้านกลาโหมของอินเดียนั้น ขึ้นชื่อลือฉาวอยู่มาก ทั้งในด้านความล่าช้าอืดอาด, การทุจริตคอร์รัปชั่น, การไม่ยอมตัดสินใจ, และระบบราชการอันยุ่งยากซับซ้อน อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ในปัจจุบันถึงขั้นใกล้จะเข้าสู่ภาวะฉุกเฉินแล้ว สืบเนื่องจากสมรรถนะในการสู้รบทางอากาศของประเทศทั้งหดหายและทั้งล้าสมัย และภัยคุกคามด้านความมั่นคงที่อาจเกิดขึ้นจากพวกชาติเพื่อนบ้านก็ได้บังคับให้นิวเดลีต้องลงมือทำเรื่องนี้กันเสียที

สัญญาซื้อขายคราวนี้ ถือเป็นข้อตกลงกับต่างประเทศฉบับแรกสำหรับเครื่องบินขับไล่ราฟาลของดัซโซลท์ และจะเป็นตัวกระตุ้นที่สำคัญทีเดียวสำหรับอุตสาหกรรมอาวุธของฝรั่งเศส การตัดสินใจของอินเดียอาจทำให้ดัซโซลท์ได้ข้อตกลงขายอากาศยานรบเพิ่มขึ้นอีก โดยที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์คือชาติที่น่าจะกลายเป็นลูกค้าของบริษัทได้มากที่สุด ขณะที่ข้อตกลงเกี่ยวกับการตอบแทนแลกเปลี่ยนในสัญญาฉบับนี้ ก็ทำให้แดนภารตะพึงพอใจมาก เพราะมั่นใจได้ว่าส่วนหนึ่งของมูลค่าเครื่องบินที่จ่ายไป จะถูกนำมาลงทุนใหม่ในอุตสาหกรรมกลาโหมของอินเดียเอง

ในขั้นตอนท้ายๆ ของการประกวดราคาซื้อเครื่องบินขับไล่ของอินเดียคราวนี้ การแข่งขันได้กลายเป็นการชิงชัยกันระหว่าง ยูโรไฟต์เตอร์ ไต้ฝุ่น (Eurofighter Typhoon) กับ ราฟาล แล้วฝ่ายหลังก็เป็นผู้กำชัย ภายหลังผ่านกระบวนการในการกำหนดความแน่ชัดทางเทคนิคและการเจรจาต่อรองเชิงพาณิชย์ ทั้งนี้ความสำเร็จของเครื่องบินไอพ่นฝรั่งเศสรุ่นนี้ ระหว่างการปฏิบัติการในลิเบียและอัฟกานิสถานเมื่อเร็วๆ นี้ ก็มีบทบาทส่วนหนึ่งที่ทำให้ชนะใจคณะกรรมการ

เวลาเดียวกัน ใครๆ ก็คงไม่หลงลืมว่า รัฐบาลผสมชุดปัจจุบันของแดนภารตะที่มีพรรคคองเกรสเป็นผู้นำ กำลังเผชิญกับข้อกล่าวหาร้ายแรงเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่น และดังนั้นจึงต้องพยายามทำสัญญาจัดซื้อเครื่องบินรบที่มีราคาถูกที่สุด ประมาณการกันว่า ยูโรไฟเตอร์ ไต้ฝุ่น จะมีราคาแพงกว่าการซื้อราฟาล สักประมาณ 5,000 ล้านดอลลาร์ทีเดียว

รายละเอียดในสัญญาฉบับนี้ระบุว่า ดัซโซลท์จะส่งเครื่องบินขับไล่ราฟาลจำนวน 18 ลำให้อินเดียก่อนภายในระยะเวลา 3 ปีจากนี้ไป ส่วนอีก 108 ลำที่เหลือจะมีการสร้างขึ้นภายในแดนภารตะเอง โดยบริษัทฮินดูสถาน แอร์โรนอตทิกส์ (Hindustan Aeronautics) อันเป็นกิจการของรัฐ ทั้งนี้ดัซโซลท์จะถ่ายทอดเทคโนโลยีให้

ภายหลังการแข่งขันประกวดราคาที่เต็มไปด้วยแผลฟกช้ำ โดยที่มีการใช้แรงกดดันทางการทูตอย่างหนักหน่วงกันด้วย ทั้ง มิก-35 (MiG-35) ของรัสเซีย, กริปเพน (Gripen) ของบริษัทซาป (Saab) แห่งสวีเดน, เอฟ/เอ 18 (F/A-18) ของบริษัทโบอิ้ง แห่งสหรัฐฯ และ เอฟ-16 (F-16) ของ ล็อกฮีด มาร์ติน (Lockheed Martin) ซึ่งเป็นบริษัทอเมริกันอีกรายหนึ่ง ต่างก็ทยอยตกรอบไป ด้วยเหตุผลทั้ง “ทางด้านเทคนิคและทางการดำเนินงาน”

มีรายงานข่าวหลายกระแสมากว่า วอชิงตันที่รู้สึกไม่สบายใจเป็นอย่างยิ่ง ได้พยายามผลักดันให้นิวเดลีกลับมาพิจารณาเครื่องบินของสหรัฐฯอีกรอบหนึ่ง อย่างไรก็ดี ผู้ชนะสุดท้ายจะเป็นใครนั้นได้รับการคาดหมายกันอย่างถูกต้องจากฝ่ายต่างๆ มาระยะหนึ่งแล้ว เนื่องจากในร่างงบประมาณแผ่นดินประจำปี (ปีงบประมาณปัจจุบัน ซึ่งเริ่มต้นในเดือน เม.ย. 2011 และสิ้นสุดเดือน มี.ค. 2012) ได้มีการจัดสรรเงินให้แก่สัญญาฉบับนี้อยู่หลายๆ รายการ

อินเดียมีการศึกษาพิจารณามานานทีเดียวในเรื่องการสร้างฝูงเครื่องบินขับไล่ไอพ่นขนาดกลางรุ่นใหม่ขึ้นมาแทนที่เครื่องบิน มิก-21 (MiG-21) ของรัสเซียซึ่งอินเดียใช้อยู่เดิมและประสบปัญหาตกอยู่บ่อยๆ รวมทั้งยังจะเป็นการอุดช่องว่างที่เกิดขึ้นตรงกลาง ภายหลังที่อินเดียมีทั้งเครื่องบินรบพิสัยทำการไกลอย่าง ซูคอย-30 (Sukhoi-30) ของรัสเซีย และเครื่องบินขับไล่ขนาดเบา เตจัส แอลซีเอ (Tejas LCA) ซึ่งผลิตขึ้นมาโดยแดนภารตะเอง

ในขณะที่เครื่องบินซูคอย-30 เป็นอากาศยานผู้พิทักษ์ทางยุทธศาสตร์ที่อินเดียเอาไว้รับมือกับจีน จุดมุ่งหมายในการใช้ราฟาลของแดนภารตะ ดูจะเพื่อการเผชิญกับปากีสถานมากกว่า นอกจากนั้น ข้อตกลงซื้อราฟาลคราวนี้ ยังถือเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินการปรับปรุงกำลังรบให้ทันสมัยของแดนภารตะ ซึ่งกระตุ้นให้เกิดการนำเข้าคิดเป็นมูลค่าประมาณ 100,000 ล้านดอลลาร์ทีเดียวในตลอดช่วงระยะเวลา 1 ทศวรรษที่ผ่านมา โดยที่มีทั้งการซื้อทั้งเรือดำน้ำ, รถถัง, ขีปนาวุธ, เรือบรรทุกเครื่องบิน, เรดาร์เทคโนโลยีชั้นสูง, ปืนใหญ่, และอื่นๆ

ตามข้อมูลที่รวบรวมโดยสถาบันวิจัยสันติภาพระหว่างประเทศแห่งสต็อกโฮล์ม (Stockholm International Peace Research Institute) อินเดียเป็นประเทศผู้นำเข้าอาวุธรายใหญ่ที่สุดของโลกในช่วงระหว่างปี 2006 ถึง 2010 โดยคิดเป็นสัดส่วน 9% ของการค้าอาวุธของทั่วโลกในระยะเวลาดังกล่าว

ปากีสถาน กับจีน ซึ่งเป็นสองประเทศที่อินเดียเคยทำสงครามด้วยนั้น ต่างก็กำลังให้ความสนใจกับเรื่องการปรับปรุงกองทัพให้ทันสมัยเช่นกัน ปากีสถานยังคงได้รับความช่วยเหลือทางทหารอย่างต่อเนื่องจากสหรัฐฯ ในฐานะที่เป็นหุ้นส่วนรายหนึ่งใน “สงครามต่อสู้เอาชนะการก่อการร้าย” ทั่วโลก ถึงแม้อินเดียได้ท้วงติงมานานแล้วว่าการปล่อยให้ปากีสถานได้โอกาสสั่งสมอาวุธอย่างมากมายเช่นนั้น มีแต่จะเป็นการเพิ่มความไร้เสถียรภาพในภูมิภาคแถบนี้เท่านั้น

นิวเดลีรู้สึกว่า อาวุธยุทโธปกรณ์ที่สหรัฐฯจัดหาให้แก่ปากีสถานนั้น มีอานุภาพในการใช้เล่นงานศัตรูตามแบบแผนมากกว่าใช้ต่อสู้กับพวกเครือข่ายก่อการร้ายที่ไร้รูปแบบแน่นอน เครือข่ายเหล่านี้ยังแผ่กระจายไปทั่วอัฟกานิสถานด้วย จึงจำเป็นต้องอาศัยข่าวกรองอันทรงประสิทธิภาพและการปฏิบัติการชนิดที่แม่นยำตรงเป้า เฉกเช่นการปฏิบัติการล่าสังหารอุซามะห์ บิน ลาดิน จึงจะสามารถกำจัดปราบปรามได้สำเร็จ

ในเวลาเดียวกัน กองทัพปากีสถานยังคงได้รับความสนับสนุนจากปักกิ่งอยู่อย่างต่อเนื่อง ในเรื่องของขีปนาวุธนำวิถี ซึ่งมีพิสัยทำการที่สามารถทำลายนครใหญ่ๆ ของอินเดียได้

แสนยานุภาพทางทหารของจีนนั้นไปไกลล้ำเกินกว่าอินเดียมากมาย แดนมังกรยังพยายามที่จะลอกเลียนประดาต้นแบบอาวุธของฝ่ายตะวันตก เพื่อนำมาจัดสร้างและเพิ่มพูนสมรรถนะการผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ภายในประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ จากการที่ระบอบการเมืองของจีนอยู่ในลักษณะปกปิดไม่เปิดเผยต่อภายนอก จึงไม่มีใครมั่นอกมั่นใจได้ว่า จีนดำเนินการลงทุนและพัฒนาทางเทคนิคในปริมณฑลด้านกลาโหมอยู่มากน้อยระดับไหน

พิจารณาจากภาพสถานการณ์ดังกล่าวเช่นนี้ อินเดียจึงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากใช้ความพยายามและดำเนินการจัดสร้างสิ่งที่จะสามารถเป็นตัวป้องปรามอันทรงประสิทธิภาพเพื่อมาต้านทานจีน ขณะเดียวกับที่เร่งการแข่งขันชิงชัยด้านสมรรถนะทางทหารกับปากีสถาน ซึ่งภัยคุกคามด้านความมั่นคงในเฉพาะหน้านี้ดูจะมีความน่ากลัวมากกว่าแดนมังกรด้วยซ้ำ

นอกจากนั้น อินเดียยังกำลังใช้ความพยายามอย่างจงใจ เพื่อถอยออกมาจากการต้องพึ่งพาอาศัยอาวุธยุทโธปกรณ์นำเข้าจากรัสเซีย ทั้งนี้นอกเหนือจากการสร้างสายสัมพันธ์อันลึกซึ้งยิ่งขึ้นกับพวกหุ้นส่วนเก่าแก่อย่างเช่นฝรั่งเศส, สวีเดน, และอังกฤษแล้ว แดนภารตะยังกำลังหันไปหาพวกประเทศอย่างอิสราเอลและสหรัฐฯมากขึ้นเรื่อยๆ อีกด้วย

อุตสาหกรรมด้านกลาโหมของรัสเซียนั้นถูกมองว่ากำลังล้าสมัยมากขึ้นเรื่อยๆ ในเมื่อปราศจากการสนับสนุนอย่างทรงประสิทธิภาพของภาครัฐ อาวุธยุทโธปกรณ์รัสเซียที่อยู่ในความครอบครองของอินเดียในปัจจุบันกำลังเสื่อมคุณค่าลงทุกที สืบเนื่องจากขาดแคลนอะไหล่ชิ้นส่วน และการบำรุงรักษาหลังการขาย

ถึงแม้ในคราวนี้แดนภารตะตัดสินใจทำข้อตกลงซื้อเครื่องบินขับไล่ของฝรั่งเศส แต่อินเดียก็ได้ไปลงนามข้อตกลงด้านกลาโหมมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์กับสหรัฐฯแล้ว เพื่อซื้อเครื่องบินขนส่งและเครื่องบินตรวจการณ์

สิทธารถ ศรีวัสตาวา เป็นนักหนังสือพิมพ์ที่พำนักอยู่ในนิวเดลี สามารถติดต่อเขาทางอีเมล์ได้ที่ sidsri@yahoo.com
กำลังโหลดความคิดเห็น