เอเอฟพี - กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เสนอให้ปลดประจำการทหารประมาณ 100,000 นาย วานนี้ (26) แต่ประกาศมั่นที่จะลงทุนครั้งใหม่ เพื่อเสริมอำนาจในเอเชียและตะวันออกกลาง ขณะที่รัฐบาลอเมริกันที่แบกหนี้สินมหาศาล กำลังหาทางออกจากทศวรรษแห่งสงคราม
จากแรงกดดันให้ปรับสมดุลบัญชีงบประมาณ รัฐบาลของประธานาธิบดีบารัค โอบามา ได้กำหนดให้ลดจำนวนทหารในกองทัพลง 13 เปอร์เซ็นต์ รวมถึงการถอนกำลังของกองพลน้อย 2 กองพล ออกจากยุโรป อีกทั้งปลดประจำการเรือและเครื่องบินรุ่นเก่า
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลโอบามาเรียกร้องให้มีการลงทุนในโครงการใหม่ๆ เช่น ฐานทัพลอยน้ำสำหรับปฏิบัติการพิเศษและอากาศยานรบไร้นักบิน (โดรน) และยังมอบหมายภารกิจให้ชุดปฏิบัติการรบประจำกองพลน้อย (บีซีที) ฝึกภาษาที่ใช้ในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก
วานนี้ ลีออน พาเนตตา รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ได้เปิดเผยคำร้องของบประมาณรายจ่ายของเพนตากอน ประจำปี 2013 โดยให้คำมั่นว่า สหรัฐฯ จะรักษาอิทธิพลในตะวันออกกลางและเอเชียต่อไป ซึ่งจะมีการพัฒนาศักยภาพของเรือดำน้ำ และสร้างเครื่องบินทิ้งระเบิดยุคใหม่
รัฐมนตรีพาเนตตายังเรียกร้องให้ส่งเรือรบชายฝั่ง (littoral combat ship) ประจำการในสิงคโปร์ และเรือตรวจการณ์ประจำการในบาห์เรน
อย่างไรก็ตาม งบประมาณของกระทรวงกลาโหมยังเจรจากันไม่ลงตัว ขณะที่นักการเมืองพรรคเดโมแครตต้องการให้ตัดงบประมาณกลาโหมลงอีก รีพับลิกันกลับต้องการให้คงงบการทหารไว้ แต่ตัดงบประมาณด้านประกันสังคมแทน
ทั้งนี้ ลีออน พาเนตตา ได้เสนอของบประมาณ 613,000 ล้านดอลลาร์ สำหรับปีงบประมาณ 2013 ซึ่งจะเริ่มในเดือนตุลาคม ลดลง 9 เปอร์เซ็นต์ จากงบประมาณที่ขอสำหรับปี 2012
นอกจากนี้ มีการเสนอให้ลดจำนวนทหารในกองทัพบกจาก 570,000 นาย เมื่อปี 2010 เป็น 490,000 นาย ภายในปี 2017 และในช่วงเดียวกัน จะลดจำนวนนาวิกโยธินจาก 202,000 นาย เหลือ 182,000 นาย รวมเป็น 100,000 นาย
เพนตากอนยังวางแผนถอนกำลังกองพลน้อย 2 จาก 4 กองพล ซึ่งประจำการอยู่ในยุโรปมากกว่า 7,000 นาย และยังจะเลื่อนโครงการซื้อเครื่องบินขับไล่ เอฟ-35 เข้ากองทัพเพิ่มจนกว่าจะผ่านพ้นปี 2017
กระนั้นก็ดี แม้มีการตัดลดงบประมาณขนานใหญ่ แต่กองทัพสหรัฐฯ ยังได้ชื่อว่ามีเงินสนับสนุนมากที่สุดในโลก จีน เจ้าของกองทัพอันดับ 2 รองจากอเมริกัน ระบุว่า เมื่อปี 2011 ได้ทุ่มงบประมาณด้านการทหาร 91,100 ล้านดอลลาร์ ซึ่งน้อยกว่าของสหรัฐฯ หลายเท่าตัว แต่นักวิเคราะห์จากตะวันตกเชื่อว่า ตัวเลขจริงต้องสูงกว่าที่จีนเปิดเผยแน่นอน
อีกเป้าหมายหนึ่ง เพนตากอนจะทุ่มงบประมาณในสงครามไซเบอร์และการพัฒนาโดรน ซึ่งเป็นสองวาระสำคัญท่ามกลางความขัดแย้งกับอิหร่านและปากีสถาน