เอเอฟพี - “โอบามา”เปิดยุทธศาสตร์การทหารฉบับปรับปรุงใหม่ของอเมริกา ที่ออกแบบมาเพื่อให้สอดคล้องกับงบประมาณอันจำกัด และการให้ความสำคัญเพิ่มขึ้นกับแนวโน้มการคุกคามจากจีนและอิหร่าน
เจ้าหน้าที่และนักวิเคราะห์ระบุว่า แผนการนี้มุ่งเน้นการเผชิญกับแนวโน้มความท้าทายทางอากาศและทางทะเลจากอิหร่านและจีน ควบคู่กับการผละออกจากการรณรงค์ต่อต่อต้านการก่อความไม่สงบ อย่างที่กระทำในอิรักและอัฟกานิสถาน ซึ่งต้องใช้กำลังพลทางบกขนาดใหญ่
เอกสาร “การทบทวนยุทธศาสตร์กลาโหม” (defense strategic review) ฉบับใหม่นี้ จะเป็นการกำหนดแนวทางสำหรับกองทัพสหรัฐฯ ในยุคแห่งการประหยัดงบประมาณ โดยคณะรัฐบาลของประธานาธิบดีบารัค โอบามา กำลังเตรียมตัดลดงบกลาโหมลงกว่า 450,000 ล้านดอลลาร์ในระยะเวลา 10 ปีข้างหน้า
นอกจากนั้นในปีแห่งการเลือกตั้งเฉกเช่นปี 2012 นี้ พวกเจ้าหน้าที่รัฐบาลจึงต้องพยายามสร้างภาพว่า โอบามากำลังใช้แนวทางที่รอบคอบในด้านค่าใช้จ่ายทางการทหาร ขณะที่เพนตากอนก็ยืนยันว่า การทบทวนยุทธศาสตร์การทหารนี้จะสะท้อนถึงงบประมาณทางทหารที่จะต้องลดลง
เจ้าหน้าที่เพนตากอนที่ไม่ประสงค์ออกนามเผยว่า เอกสารการทบทวนนี้ที่ประธานาธิบดีบารัค โอบามา กำหนดแถลงอย่างเป็นทางการในวันพฤหัสบดี (5) จะเน้นให้กองทัพสหรัฐฯเป็นกองกำลังที่มีขนาดเล็กลงและคล่องตัว ซึ่งจะช่วยขยายบทบาททางการทหารของแดนอินทรีในเอเชีย ขณะที่คงการประจำการอย่างเข้มแข็งในตะวันออกกลางต่อไป
ภายใต้แผนการนี้ กองทัพสหรัฐฯ จะได้รับการเตรียมพร้อมเพื่อตอบโต้ความพยายามใดๆ ก็ตามจากอิหร่านในการปิดเส้นทางขนส่งน้ำมันสำคัญในอ่าวเปอร์เซีย รวมถึงตอบโต้ความพยายามใดๆ ของจีนเพื่อครอบครองน่านน้ำระหว่างประเทศในทะเลจีนใต้
สำหรับปฏิบัติการต่อต้านการก่อความไม่สงบเช่นที่กระทำในอิรักและอัฟกานิสถาน จะถูกลดระดับความสำคัญลง เปิดโอกาสให้คณะรัฐบาลสามารถลดขนาดกองทัพบกและกองทัพนาวิกโยธิน
ลอเรน ธอมป์สัน นักวิเคราะห์จากสถาบันเล็กซิงตัน ชี้ว่า ยุทธศาสตร์ของโอบามาดูจะเน้นหนักไปที่การปิดล้อมจำกัดอิทธิพลของอิหร่านและจีน โดยที่การโยกย้ายกำลังพลและการขายอาวุธในอ่าวเปอร์เซียและในแปซิฟิกตะวันตก จะเป็นหัวใจสำคัญของยุทธศาสตร์นี้
เอกสารการทบทวนนี้ยังตอกย้ำสิ่งที่เจ้าหน้าที่กลาโหมเคยส่งสัญญาณออกมาก่อนหน้านี้ นั่นคืองบประมาณจะถูกอัดฉีดให้แก่เครื่องบินรบและเรือรบ ขณะที่กองทัพบกและกองทัพนาวิกโยธินถูกลดขนาดลง หลังจากขยายใหญ่ขึ้นมากในช่วงสงครามที่ยืดเยื้อหนึ่งทศวรรษในอัฟกานิสถานและอิรัก
การมุ่งเน้นเอเชียของวอชิงตันถูกผลักดันโดยความกังวลเกี่ยวกับการขยายกองทัพเรือและคลังแสงขีปนาวุธต่อต้านเรือของจีน ซึ่งเจ้าหน้าที่เชื่อว่า เป็นอันตรายต่ออำนาจทางการทหารของสหรัฐฯ ในย่านแปซิฟิก
สตีเฟน บิดเดิล นักวิจัยอาวุโสของสภาวิเทศสัมพันธ์ (Council on Foreign Relations) สำทับว่า แม้กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ไม่แถลงอย่างเปิดเผย แต่ดูเหมือนคณะรัฐบาลโอบามาพร้อมแล้วที่จะให้ความสำคัญมากขึ้นกับเอเชีย-แปซิฟิกและลดความสำคัญของตะวันออกกลางลง
เจ้าหน้าที่เพนตากอนเสริมว่า การทบทวนยุทธศาสตร์ครั้งนี้จะปูทางสู่การลดกองกำลังของสหรัฐฯ ในยุโรป ด้วยการถอนทหารออกอย่างน้อย 1 กองพลน้อยหรือประมาณ 3,500 คน
นอกจากนี้ ยังคาดว่าจะมีการยกเลิกหลักนิยม (doctrine) ซึ่งเพนตากอนยึดถือมานานที่ว่า สหรัฐฯต้องเตรียมพร้อมเพื่อสู้รบใน 2 สงครามพร้อมกัน แล้วเปลี่ยนมาเป็นการเตรียมพร้อมเพื่อต่อสู้ในสงครามเดียวขณะที่พยายามหยุดยั้งหรือสกัดกั้นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่อื่นเพื่อกำจัดการคุกคามจากแหล่งที่ 2
ก่อนปี 2001 เพนตากอนเน้นเรื่องการเตรียมพร้อมรับสงคราม 2 สมรภูมิพร้อมๆ กัน แต่ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นก็คือ เมื่อเกิดสงครามในอัฟกานิสถานและในอิรัก พวกผู้บังคับบัญชาทหารของสหรัฐฯก็ต้องประสบปัญหาการขาดแคลนกำลังพล
การทบทวนยุทธศาสตร์นี้มีขึ้นก่อนการเปิดเผยงบประมาณกลาโหมปี 2013 ที่จะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่สัปดาห์ต่อจากนี้ โดยเชื่อว่าจะมีการะบุให้เลื่อนโครงการอาวุธต่างๆ เช่น การชะลอการผลิตเครื่องบินขับไล่เอฟ-35 ที่มีปัญหาออกไป
สถานการณ์หนีเสือปะจระเข้ที่สำคัญที่สุดที่เพนตากอนต้องเผชิญคือ เงินเดือนและสวัสดิการสำหรับทหารและทหารผ่านศึกจำนวนมหาศาลที่ไปเบียดเบียนงบประมาณกลาโหม กล่าวคือจากงบประมาณรายปีที่เกือบ 700,000 ล้านดอลลาร์นั้น ต้องปันไปจ่ายเงินเดือน สวัสดิการการรักษาพยาบาล และบำนาญถึงราว 181,000 ล้านดอลลาร์