.
เอเอฟพี - สภาคองเกรสของสหรัฐฯ วานนี้ มีมติขยายมาตรการห้ามนำเข้าสินค้าจากพม่า เพื่อกดดันให้พม่าดำเนินการปฏิรูปประเทศอย่างต่อเนื่อง แม้ที่ผ่านมา พม่าจะปฏิรูปประเทศแล้วหลายประการที่ส่งผลให้มีการผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรบางส่วน
วุฒิสภา และสภาผู้แทนราษฎร ได้ลงมติขยายระยะเวลามาตรการห้ามนำเข้าสินค้าทุกอย่างจากพม่าเพิ่มอีก 1 ปี
ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ได้ผ่อนคลายข้อจำกัดบางประการต่อพม่า ในความหวังที่จะสนับสนุนการปฏิรูป และเมื่อวันที่ 1 ก.ค. ประธานาธิบดีโอบามาอนุญาตให้บริษัทของสหรัฐฯ เข้าลงทุนในพม่า และหุ้นส่วนกับรัฐวิสาหกิจน้ำมัน และก๊าซของประเทศ
วุฒิสมาชิกสหรัฐฯ ระบุว่า แม้ที่ผ่านมา จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายในพม่า รวมทั้งการเลือกตั้งที่ทำให้อองซานซูจีเข้าสู่สภาได้ แต่พวกเขายังต้องการที่จะคานอำนาจกดดันเพื่อให้พม่าปฏิรูปก้าวหน้ายิ่งขึ้น
โจ ครอว์ลีย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จากพรรคเดโมแครต ระบุว่า การขยายระยะเวลาห้ามนำเข้าสินค้าจากพม่า และคงมาตรการไว้ รวมทั้งการที่สหรัฐฯ มีมาตรการยืดหยุ่นต่อพม่า เป็นการแสดงให้เห็นว่า สหรัฐฯ สนับสนุนการปล่อยนักโทษการเมืองทุกคน การยุติความรุนแรงต่อชนกลุ่มน้อย รวมทั้งกะฉิ่น และโรฮิงญา และการปรับใช้การปฏิรูปประชาธิปไตยอย่างแท้จริงในพม่า
ด้านวุฒิสมาชิก มิทช์ แมคคอนเนล ผู้นำพรรครีพลับลิกัน กล่าวว่า สหรัฐฯ มีสิทธิในการยกเลิกการห้ามนำเข้าสินค้าพม่า หากพม่ามีความคืบหน้าในการปฏิรูป และเขาสนับสนุนการตัดสินใจของประธานาธิบดีโอบามา ที่อนุญาตให้สหรัฐฯ เข้าลงทุนในพม่า พร้อมทั้งเรียกร้องให้นักธุรกิจชาวอเมริกัน แสดงให้เห็นผลเชิงบวกจากการเข้าไปมีส่วนร่วมของสหรัฐฯ
“ผมมั่นใจว่า กิจการของสหรัฐฯ ในพม่าจะกำหนดมาตรฐานของการดำเนินธุรกิจที่โปร่งใส และมีศีลธรรม และเป็นแนวทางให้แก่คนอื่นๆ” แมคคอนเนลกล่าวในคำแถลงฉบับหนึ่ง
บรรดานักธุรกิจสหรัฐฯ ได้กดดันให้รัฐบาลยกเลิกข้อจำกัดต่างๆ ด้วยเกรงว่า พวกเขาจะสูญเสียโอกาสให้แก่ผู้แข่งขันรายอื่นจากยุโรป และเอเชีย ที่รัฐบาลไม่ดำเนินมาตรการคว่ำบาตรต่อพม่า.
.