xs
xsm
sm
md
lg

เต็งเส่งประกาศปฏิรูประลอกสอง ตั้งเป้า 3 ปีเพิ่ม ศก.โต 3 เท่าตัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033> ประธานาธิบดีเต็งเส่งแถลงผ่านทางโทรทัศน์วันนี้ (19 มิ.ย.) ประกาศดำเนินการปฏิรูประลอกสอง มุ่งเน้นการปฏิรูปเศรษฐกิจและตั้งเป้าเพิ่มจีดีพีเฉลี่ยต่อประชากรแต่ละคนขึ้นไปเป็น 3 เท่าตัวภายในปีงบประมาณ 2558-2559 . --AFP PHOTO/POOL/Tomohiro Ohsumi. </font></b>

รอยเตอร์ - ประธานาธิบดีเต็งเส่งแห่งพม่า ประกาศ “การปฏิรูประลอกสอง” ซึ่งจะรวมถึงการแปรรูปรัฐวิสาหกิจขั้นต้น และกฎหมายค่าแรงขั้นต่ำ พร้อมให้คำมั่นด้วยว่าการปฏิรูปเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วจะต้องไม่สะดุด โดยตั้งเป้าดันจีดีพีเฉลี่ยต่อหัวขึ้นไปเป็น 3 เท่าตัว ภายในปีงบประมาณ 2558

เต็งเส่ง อดีตนายพลที่ริเริ่มให้พม่าใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวแบบจัดการ รวมทั้งมาตรการปฏิรูปอื่นๆ นับจากเข้ารับตำแหน่งเมื่อปีที่แล้ว ออกมาแถลงทางโทรทัศน์ในวันนี้ (19) ว่า นับจากปีนี้เป็นต้นไป รัฐบาลจะดำเนินการการปฏิรูประลอกที่ 2 ที่จะมุ่งเน้นการพัฒนาประเทศ และสวัสดิการสังคมเป็นพิเศษ

สำหรับกฎหมายการลงทุนของต่างชาติที่รอคอยกันอยู่นั้น จะประกาศใช้เป็นกฎหมายในการประชุมสภาสมัยหน้า ซึ่งคาดว่าจะเป็นในเดือนหน้า ขณะเดียวกัน รัฐบาลยังกำลังร่างกฎหมายว่าด้วยเขตอุตสาหกรรม และค่าแรงขั้นต่ำอยู่ในขณะนี้

ในระหว่างการแถลง ซึ่งสื่อทางการระบุว่า เป็นการแถลงนโยบายประจำปีเกี่ยวกับขั้นตอนการปฏิรูปประเทศที่ยังอยู่ในฐานะยากจนยิ่งของเขา เต็งเส่งยังระบุว่า รัฐบาลมีเป้าหมายเพิ่มตัวผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) เฉลี่ยต่อประชากรแต่ละคนขึ้นไปเป็น 3 เท่าตัว ภายในปีงบประมาณ 2558-2559

เต็งเส่ง ผู้นำรัฐบาลกึ่งพลเรือนที่รับสืบทอดอำนาจมาจากรัฐบาลเผด็จการทหาร ยังกล่าวถึงการลดบทบาทของรัฐในอุตสาหกรรมหลายๆ แขนง เช่น โทรคมนาคม ไฟฟ้า พลังงาน ป่าไม้ การศึกษา สุขอนามัย และการเงิน

อย่างไรก็ดี เขาสำทับว่า การแปรรูปรัฐวิสาหกิจตามแผนปฏิรูประลอก 2 นี้ ไม่ได้หมายความถึงการชำแหละแบ่งขายกิจการของรัฐ

ประธานาธิบดีพม่าเสริมว่า ลำพังงบประมาณของประเทศไม่เพียงพอในการบรรลุเป้าหมายต่างๆ เหล่านี้ จึงมีความจำเป็นในการรับความช่วยเหลือจากต่างชาติทั้งในรูปเงินช่วยเหลือ เงินให้เปล่า เงินกู้ และความเชี่ยวชาญ เพื่อลดความยากจน และส่งเสริมเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม เขายืนยันว่า พม่าจะเลือกการลงทุนที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจของสังคม

ข้อสังเกตนี้คล้ายคลึงอย่างมากกับความคิดเห็นของอองซานซูจี ผู้นำฝ่ายค้านที่อยู่ระหว่างเดินทางเยือนยุโรปครั้งแรกนับจากปี 2531 ซึ่งเธอได้ทิ้งชีวิตครอบครัวในอังกฤษเข้าสู่การต่อสู้กับเผด็จการในพม่า

ทว่า การประกาศแผนการเศรษฐกิจของเต็งเส่งไม่มีแนวโน้มว่าจะสามารถแย่งชิงความสนใจไปจากการทัวร์ 5 ชาติของซูจี ที่เธอได้พบกับประมุขประเทศ ร่วมชมคอนเสิร์ตศิลปินดัง และรับการยืนปรบมือให้เกียรติในออสโลว์ระหว่างขึ้นเวทีรับรางวัลโนเบลสันติภาพที่เธอได้รับตั้งแต่ปี 2534 ขณะถูกกักบริเวณให้อยู่แต่ภายในบ้านพักในนครย่างกุ้ง

ว่ากันว่า การที่เต็งเส่งยกเลิกการร่วมประชุมเวิลด์ อิโคโนมิก ฟอรัม ที่กรุงเทพฯ เมื่อต้นเดือนนั้น เป็นเพราะกลัวถูกซูจีขโมยซีน เพราะนั่นถือเป็นครั้งแรกในรอบ 24 ปีที่เธอเดินทางออกนอกพม่า

นอกจากนี้ ในการแถลงเมื่อวันอังคาร เต็งเส่งยังพาดพิงถึงการประท้วงจากปัญหาไฟฟ้าดับเรื้อรัง ด้วยการยอมรับว่า ความต้องการใช้ไฟฟ้าของประชาชนมีมากกว่ากำลังผลิตซึ่งมาจากแหล่งไฟฟ้าพลังน้ำเป็นหลัก พร้อมทั้งประกาศจัดตั้งคณะกรรมาธิการพลังงานแห่งชาติเพื่อศึกษาแหล่งพลังงานทางเลือก เช่น ก๊าซธรรมชาติที่ปัจจุบันขายให้ไทยเป็นจำนวนมาก

แม้ไม่มีการกล่าวถึงประเด็นทางการเมือง ทว่า ในส่วนการจลาจลจากความขัดแย้งทางศาสนาและชาติพันธุ์ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ ระหว่างชาวพุทธในรัฐยะไข่กับชาวมุสลิมโรฮิงญา ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต 50 คน และผู้คนต้องอพยพออกจากที่อยู่อาศัยกว่า 30,000 คนนั้น เต็งเส่งได้กล่าวเตือนไม่ให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดยั่วยุ และเรียกร้องให้ประชาชนร่วมมือในแนวทางเดียวกันเพื่อพัฒนาประเทศ

เต็งเส่งยังประกาศสานต่อแผนการปรองดองแห่งชาติ สันติภาพและความมั่นคง และหลักนิติธรรม รวมทั้งความปลอดภัยของประชาชน แต่ไม่มีการพาดพิงถึงชะตากรรมของนักโทษการเมืองหลายร้อยคนซึ่งซูจีเรียกร้องเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (16) ให้รัฐบาลปล่อยตัวโดยเร็วที่สุด และโดยไม่มีเงื่อนไข.
กำลังโหลดความคิดเห็น