xs
xsm
sm
md
lg

ภาพประทับใจ แอร์โฮสเตสคุกเข่าพนมมือขอโทษผู้โดยสาร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<bR><FONT color=#000033>การขอโทษอย่างจริงใจและจริงจัง แม้จะเป็นเรื่องคอขาดบาดตายก็จะได้รับการให้อภัยไม่ยาก แต่ชาวเน็ตเวียดนามกล่าวว่า เรื่องแบบนี้กลับหาดูได้ยากในประเทศของพวกเขา ทั้งๆ ที่ผู้คนได้รับการอบรมสั่งสอนอย่างดีเกี่ยวกับศีลธรรมจรรยาและการเสียสละเพื่อสังคม. -- ภาพ: Tuoi Tre.</b>   </b>
.

ASTVผู้จัดการออนไลน์ - ภาพพนักงานบริการบนเครื่องบินสายการบินเกาหลีที่แพร่สะพัดในเว็บไซต์ข่าวภาษาเวียดนามหลายแห่งขณะนี้ กำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันกว้างขวาง ประเด็นไม่ได้อยู่ที่หน้าตาน่ารักน่าเอ็นดู หรือบริการที่ดีเยี่ยมของหญิงสาว หากเป็นกิริยาและน้ำใสใจจริงที่เธอแสดงออกต่อผู้โดยสาร เมื่อเธอกระทำผิด

ไม่ต่างกับอีกเหตุการณ์หนึ่งที่นักท่องเที่ยวชาวตะวันตก 2 คน ซึ่งสละที่นั่งบนรถโดยสารให้หญิงสูงอายุชาวเวียดนาม 2 คน ทั้งสองเหตุการณ์ถูกโยงเข้าด้วยกัน เป็นประเด็นทางวัฒนธรรม ซึ่งประชาคมออนไลน์เวียดนามได้ตั้งคำถามว่า ..แล้วรากเหง้าทางศีลธรรม และวัฒนธรรมอันดีงามของพวกเราหายไปไหน?

ชาวเน็ตกล่าวว่า แม้กระทั่งการกล่าวขอโทษกันอย่างง่ายๆ เมื่อทำผิดพลาดก็ยังเป็นสิ่งหาได้ยากตามท้องถนนทั่วไป และในปัจจุบัน คนเวียดนามส่วนใหญ่ได้ชื่อว่า “ขอโทษไม่เป็น”

ภาพเหตุการณ์นี้ถ่ายเอาไว้โดยผู้โดยสารชาวเวียดนามคนหนึ่ง เครื่องโคเรียนแอร์ไลน์ส เที่ยวบินจากกรุงโซลไปนครโฮจิมินห์ในวันสิ้นเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา

ขณะที่หญิงสาวให้บริการผู้โดยสารทั่วไปในนาทีที่เครื่องกำลังเผชิญคลื่นลมแรงเหนือทะเลจีนใต้ที่เรียกว่า แอร์เทอร์บิวเลนซ์ (Air Turbulence) นั้น เธอได้ทำน้ำกระฉอกจากแก้วน้ำโดนผู้โดยสารชายคนหนึ่ง

“เธอรีบขอโทษผู้โดยสารคนนั้น พร้อมกับใช้ผ้าขนหนูผืนเล็ก ซับหยดน้ำที่ติดบนกางเกงของเขาออกไป แต่เขายังโกรธจัด ไม่พอใจ และจะขอพูดกับเพอร์เซอร์” เจ้าของภาพนี้กล่าวในเว็บไซต์ข่าวภาษาเวียดนามของหนังสือพิมพ์เตื่อยแจ๋ และ “เพอร์เซอร์” ในที่นี้ก็คือหัวหน้าพนักงานบริการบนเครื่อง

“ทันใดนั้นห ญิงสาวได้นั่งลงพนมมือ และขอโทษผู้โดยสารชายอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งทำให้เขาคลายความโกรธเคืองลง เหตุการณ์นี้สร้างความประทับใจให้แก่ผู้โดยสารจำนวนมาก ทุกคนเห็นอกเห็นใจหญิงสาว รวมทั้งตัวฉันเองด้วย” เจ้าของภาพถ่ายบรรยายเหตุการณ์

“คนย่อมทำผิด” .. และการทำผิดแล้วขอโทษเป็นการกระทำที่แสดงความมีอารยะ แม้กระทั่งความผิดที่รุนแรงใหญ่โต หากกล่าวขอโทษอย่างจริงใจ และจริงจังก็จะได้รับการให้อภัยไม่ยาก

เจ้าของภาพนี้กล่าวต่อไปว่า จากเหตุการณ์บนเครื่องบินในวันนั้น ทำให้อดที่จะนึกถึงชีวิตจริงในเวียดนามไม่ได้ ซึ่งผู้คนในสังคมปัจจุบันได้ชื่อว่า “ขอโทษไม่เป็น” “ปากแข็ง” หรือ “มือแข็ง” ต่างไปจากรุ่นพ่อแม่ หรือรุ่นปู่ย่าตายาย ในปัจจุบัน การกล่าวขอโทษเป็นสิ่งที่ได้ยิน หรือพบเห็นได้ยากตามท้องถนน

“นี่ไม่ต้องไปพูดถึงความผิดใหญ่ๆ ที่เกิดขึ้น และผู้เกี่ยวข้องปล่อยเลยตามเลย ไม่เคยออกขอโทษประชาชนผู้ตกเป็นเหยื่อ ไม่ว่าจะเป็นโรงงานที่ปล่อยน้ำเสียลงสู่หนองบึงธรรมชาติของชาวบ้าน บางบริษัท (รัฐวิสาหกิจ) ใช้เงินภาษีของราษฎรไปลงทุน และขาดทุนมหาศาล เมื่อความจริงปรากฏ ผู้นำบริษัท หรือหน่วยงานพวกนี้ไม่เคยเอ่ยปากขอโทษประชาชน”
.
<bR><FONT color=#000033>การเสียสละหรือ การให้ แบบง่ายๆ เช่นนี้ได้รับการแซ่ซร้องสรรเสริญเสมอๆ แต่ประชาคมออนไลน์ในเวียดนามตั้งคำถามว่า มีแต่ชาวต่างชาติเท่าหรือที่ทำแบบนี้เป็น?. -- ภาพ: Tuoi Tre.</b>
.
ภาพเหตุการณ์นี้ถูกนำขึ้นโพสต์มานานนับสัปดาห์ แต่ก็ยังมีผู้อ่านจำนวนมากเข้าแสดงความคิดเห็น โดยเปรียบเทียบกับเรื่องราวทางวัฒนธรรมของชนชาติ

จากเรื่องนี้ได้ลามไปสู่เรื่องอื่นๆ ในชีวิตประจำวันที่ทุกคนเห็นว่าควรปรับปรุง รวมทั้งการขึ้นลงบันได แบบหน้ากระดานเรียงตัว ขวางทางผู้อื่นที่เดินขึ้นลงสวนทาง จนถึงการไม่ยอมยืนเข้าคิวเพื่อซื้อของ หรือใช้บริการต่างๆ หรือการทิ้งเศษสิ่งของแบบไม่เลือกที่ ซึ่งชาวเน็ตวิจารณ์ว่าชาวเวียดนามทั่วไปอ่อนด้อยใน “วัฒนธรรม” เหล่านี้

ในอีกฟอรัมหนึ่ง ผู้คนอีกจำนวนมากกำลังแสดงความเห็นเกี่ยวกับภาพนักท่องเที่ยวผิวขาวสองคนบนรถโดยสาร สละที่นั่งให้หญิงสูงวัยชาวเวียดนามสองคน พร้อมตั้งคำถามว่า มีแต่คนต่างชาติเท่านั้นหรือที่ทำเรื่องแบบนี้เป็น?

เหตุการณ์หลังนี้ เกิดบนรถโดยสารจากเมืองโฮยอาน-ด่าหนัง ในเที่ยวเช้าที่คนแออัดมาก ที่นั่งเต็มตั้งแต่ต้นทาง คนที่ขึ้นภายหลังยืนกันแบบอัดแน่น คุณยาย 2 คนขึ้นรถที่สี่แยกแห่งหนึ่งนอกเมือง พยายามมองหาที่นั่ง แต่เมื่อไม่มีทั้งที่นั่ง ทั้งสองจึงตัดสินใจนั่งลงกับพื้นรถ

แต่แม้ว่าจะเกิดเรื่องเช่นนี้ขึ้นต่อหน้าต่อตา ชายหนุ่มชาวเวียดนามบนรถก็ยังนั่งนิ่ง ขณะที่ชาวตะวันตกทั้งสองคนยอมสละที่ และพยุงหญิงชราทั้งสองคนขึ้นนั่งแทน

“เรื่องนี้ทำให้ฉันคิดมาก ตอนเรียนพวกเราชาวเวียดนาม ก็ถูกพร่ำสอนให้เคารพผู้สูงวัย และให้โอกาสแก่เด็กๆ แต่เมื่อพวกเราโตขึ้นมา วิชาศีลธรรมจรรยาพวกนี้มันหายไปไหนหมด?” ผู้อ่านหญิงอีกคนหนึ่งตั้งคำถาม

อย่างไรก็ตาม ทางการเวียดนามได้พยายามโฆษณา และจัดกิจกรรมส่งเสริมความเอื้ออาทรในสังคมมาอย่างต่อเนื่อง โรงเรียนก็ยังสอนเรื่องความเสียสละส่วนตัวเพื่อส่วนรวม การให้ความรัก และความเห็นอกเห็นใจต่อผู้อื่น

องค์การบริหารการท่องเที่ยวเวียดนามเองก็รณรงค์ให้ชาวเวียดนามเป็นเจ้าบ้านที่ดี เอื้ออาทรและต้อนรับขับสู้ผู้ไปเยือนจากต่างแดน ในขณะที่นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ และเชื่อว่าทุกอย่างจะค่อยๆ ดีขึ้น.
กำลังโหลดความคิดเห็น