xs
xsm
sm
md
lg

อภ.แนะวิธีรับมือโรคที่มากับฝน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
อภ.เตือนช่วงฤดูฝน จะป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ โดยเฉพาะเด็กกับคนชรา แนะทำร่างกายให้อบอุ่น ถ้าเปียกฝนรีบเปลี่ยนเสื้อผ้า เช็ดผมให้แห้ง ดื่มน้ำอุ่น

นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้เป็นช่วงฝนชุก ส่งผลให้เชื้อโรคต่างๆ เติบโต คุกคามสุขภาพของเรา ประกอบด้วย โรคติดต่อทางระบบทางเดินอาหาร ได้แก่ โรคอุจจาระร่วงไทฟอยด์ อาหารเป็นพิษ รวมทั้งตับอักเสบ โรคกลุ่มนี้มีวิธีการที่จะป้องกันง่ายๆ คือ กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ โรคติดต่อทางระบบการหายใจ ได้แก่ โรคไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ สูตรการป้องกันคือการทานอาหารอ่อนๆ ดื่มน้ำอุ่นๆ และพักผ่อนมากๆ แยกตัวออกจากคนในครอบครัว กล่าวคือ ไม่ใช้ของร่วมกัน เช่น ผ้าขนหนู รับประทานอาหารด้วยช้อนกลาง เพื่อไม่ให้ติดต่อไปยังคนในครอบครัว โดยเฉพาะเด็กและคนชรา ซึ่งจะติดเชื้อได้ง่าย หากมีอาการคัดจมูก ตัวร้อน ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ทานยาภายใน 1-2 วัน อาการไม่ดีขึ้นก็ควรไปพบแพทย์ หากตรวจพบว่าเป็นไข้หวัดใหญ่ 2009 ก็ไม่ต้องกังวล เพราะมียารักษาทานต่อเนื่อง 5 วัน ก็หายขาด โดยใช้ยาจีพีโอ เอ ฟลู ซึ่งองค์การเภสัชกรรมเป็นผู้ผลิตรายเดียวในประเทศไทย ทดแทน การนำเข้ายาโอเซลทามิเวีย โดยยา ดังกล่าวได้กระจายไปยังโรงพยาบาลทุกแห่งทั่วประเทศแล้ว ผู้ป่วยสามารถเข้ารับบริการโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด ส่วนโรคที่จะตามมาหลังจากที่เป็นไข้หวัดใหญ่ คนไข้มักมีอาการแทรกซ้อน คือ โรคปอดบวม ซึ่งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และกระทรวงสาธารณสุข ได้มอบให้องค์การเภสัชกรรมจัดวัคซีนสำหรับป้องกันไข้หวัดใหญ่ ฉีดให้กับเด็กและผู้สูงวัย บุคลากรทางการแพทย์ การสาธารณสุข ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวเพื่อให้กลุ่มดังกล่าวที่เป็นกลุ่มเสี่ยงมีภูมิต้านทานที่ดี ไม่เสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อน

สำหรับไข้หวัดใหญ่ประจำฤดูกาลต้องได้รับการฉีดวัคซีนทุกปี เนื่องจากแต่ละปีเชื้อของไวรัส ไม่เหมือนเดิม จะสลับไปเป็นตัวไหนอย่างไร องค์การอนามัยโลกจะมีผู้เชี่ยวชาญประกาศให้ทราบว่าปีนี้ควรจะฉีดตัวไหนบ้าง ซึ่งหมายความว่า ใน 1 เข็มจะมีเชื้อที่ป้องกันได้ถึง 3 ตัว ครอบคลุมเชื้อตัวไหนบ้าง

สำหรับโรคปอดบวม เป็นอีกสาเหตุการตายอันดับหนึ่งอีกโรค ซึ่งผู้ที่สงสัยว่าจะเป็นโรคปอดบวม ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ จะมีอาการของโรค คือ มีไข้ ไอ หอบ เมื่อแพทย์ตรวจแล้วพบการหายใจที่ผิดปกติอาจต้องเอกซเรย์ซ้ำ เพื่อหาสาเหตุและวินิจฉัยว่ามีอาการมากน้อยเพียงใด เกิดจากเชื้อโรคตัวใด โรคปอดบวมสามารถรักษาให้หายได้ แต่หากบางรายอาจมีเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย ก็จะเป็นโรคปอดบวมจากแบคทีเรียซึ่งต้องใช้ยาปฏิชีวนะตามที่แพทย์สั่งเท่านั้น และไม่ควรซื้อยามาทานเอง

ผู้อำนวยการ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ ยังมีโรคกลุ่มเชื้อที่เข้าทางผิวหนัง ได้แก่ เชื้อเลปโตรสไปโรซีส โรคฉี่หนู ต้องระวังหากมีบาดแผลบริเวณนิ้วมือ นิ้วเท้า ควรสวมถุงมือ รองเท้าบูตเวลาลุยน้ำ ซึ่งก็จะช่วยป้องกันโรคดังกล่าวได้ โรคไข้เลือดออก ซึ่งอาการในเบื้องต้นจะคล้ายๆ โรคไข้หวัดใหญ่ เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสเหมือนกัน มีอาการครั่นเนื้อครั่นตัว มีน้ำมูก มีไข้อยู่ 3-5 วัน เกิดขึ้นได้ทั้งกับเด็ก ผู้สูงอายุ หรือแม้แต่ผู้ใหญ่ซึ่งร่างกายแข็งแรง หากได้รับเชื้อก็มีโอกาสเป็นโรคไข้เลือดออกได้ ดังนั้น จึงควรเฝ้าระวังหากผิดปกติควรพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย ข้อควรระวัง คือ คนที่เป็นโรคไข้เลือดออกไม่ควรรับประทานยาแอสไพริน เนื่องจากผลข้างเคียงของยาแอสไพรินจะไประคายเยื่อบุกระเพาะอาหาร หรือทางเดินอาหาร การระคายเคืองอาจทำให้มีเลือดออกในกระเพาะอาหาร เลือดจะออกมากไม่หยุด ทำให้เกิดอันตรายต่อผู้ป่วยถึงแก่ชีวิตได้ โรคที่มีสาเหตุมาจากยุง ได้แก่ ไข้สมองอักเสบเจอี ซึ่งองค์การเภสัชกรรมเป็นผู้ผลิตและการกระจายยา ให้กับโรงพยาบาลทั่วประเทศ ตามโครงการของ สปสช.

ผู้อำนวยการยังได้กล่าวถึงวิธีดูแลไม่ให้เกิดโรคติดต่อในหน้าฝนด้วยว่า จะต้องดูแลร่างกาย
ให้อบอุ่น หากมีเหตุจำเป็นให้เปียกฝน ต้องรีบเช็ดตัวและผมให้แห้ง ใส่เสื้อผ้าให้อบอุ่น ปฏิบัติตนให้ถูกสุขลักษณะ ได้แก่ กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ ให้เป็นนิสัยเพื่อป้องกันโรคต่างๆ ที่พร้อมจะฉกฉวยโอกาส ขณะที่ร่างกายอ่อนแอ สำหรับผู้ที่อยู่ระหว่างเดินทางไปต่างจังหวัด ไม่สะดวกในการล้างมือ อาจใช้เจลล้างมือ เจลแอลกอฮอล์ แทนการล้างมือด้วยน้ำ ถ้ารู้สึกครั่นเนื้อครั่นตัวไม่สบาย ให้ดื่มน้ำมากๆ นอนพักผ่อนเยอะๆ ยังไม่จำเป็นต้องใช้ยา การทานยาเป็นเพียงบรรเทาอาการปวด ลดน้ำมูก คัดจมูก เท่านั้น ไม่ได้เป็นการรักษาต้นเหตุ การดื่มน้ำมากๆ และนอนพักผ่อนเยอะๆ เป็นการรักษาและเยียวยาตัวเราเองในเบื้องต้น โดยใช้ภูมิต้านทานของตัวเรารักษาจัดการกับเชื้อหวัด
กำลังโหลดความคิดเห็น