สธ.ชวนประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์กลุ่มเสี่ยง ทุกสิทธิฟรี จำนวน 3.55 ล้านคน ใช้งบกว่า 500 ล้านบาท ดีเดย์ฉีดพร้อมกันทั่วประเทศ ตั้งแต่ 1 มิ.ย.ถึง 30 ก.ย.2555 ที่สถานพยาบาลของของรัฐและเอกชน ที่อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อป้องกันการเสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล 3 สายพันธุ์
วันนี้ (31 พ.ค.) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ สมชัย นิจพานิช รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช.นายแพทย์ พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และนายแพทย์ วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม ร่วมกันแถลงข่าวว่า ในปี 2555 นี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมมือกับ สปสช.และองค์การเภสัชกรรม จัดโครงการรณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ประจำปี 2555 เพื่อฉีดให้กลุ่มเสี่ยง 7 กลุ่มฟรี ได้แก่ 1.ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ได้แก่ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคไตวายเรื้อรัง มะเร็งที่กำลังรับเคมีบำบัด เบาหวาน ธาลัสซีเมีย และภูมิคุ้มกันบกพร่อง รวมทั้งผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีอาการ 2.ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป
3.ผู้มีน้ำหนักตัวมากกว่า 100 กิโลกรัม 4.ผู้พิการทางสมองช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ 5.เด็กอายุ 6 เดือน - 2 ปี 6.หญิงตั้งครรภ์อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป และ 7.บุคลากรทางการแพทย์เจ้าหน้าที่ที่ให้การดูแลรักษาผู้เจ็บป่วย และเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องกับการกำจัดสัตว์ปีก รวมทั้งหมด 3,550,000 คน ซึ่งได้ขยายกลุ่มเป้าหมายเพิ่มขึ้นจากปี 2554 จำนวน 1 ล้านคน
โครงการดังกล่าวใช้งบประมาณของ สปสช.กว่า 500 ล้านบาท ให้บริการฉีดที่โรงพยาบาลภาครัฐ และเอกชนที่อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เริ่มพร้อมกันทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน เป็นต้นไป จนถึง 30 กันยายน 2555 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่สายด่วน สปสช. โทร.1330
นายวิทยา กล่าวต่อว่า โรคไข้หวัดใหญ่ มักระบาดในช่วงหน้าฝนถึงฤดูหนาว ปัจจุบันประชาชนจะมองโรคนี้ว่า เป็นโรคที่ไม่รุนแรง แต่สำหรับคนกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ เด็ก ผู้ป่วยโรคเรื้อรังนั้น หากป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ แทรกซ้อน จะมีความเสี่ยงต่อชีวิตมาก ซึ่งในแต่ละปีประเทศไทยมีผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ 7-9 แสนราย ในจำนวนนี้มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น ปอดบวม ต้องรับไว้โรงพยาบาล 12,575-75,801 รายต่อปี อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ที่มีภาวะแทรกซ้อนอยู่ที่ร้อยละ 2.5 ก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจมูลค่ามหาศาลปีละ 913-2,453 ล้านบาท ดังนั้น แนวทางป้องกันที่ดีที่สุด คือ การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ซึ่งเป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพในการสร้างภูมิคุ้มกันโรคได้ ในปีนี้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-14 พฤษภาคม 2555 ทั่วประเทศมีรายงานผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ 11,380 ราย ไม่มีเสียชีวิต
นายวิทยา กล่าวต่อไปว่า เมื่อประชาชนกลุ่มดังกล่าวข้างต้น ได้รับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่แล้ว ก็จะลดการเจ็บป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่หรือภาวะแทรกซ้อนจากโรคไข้หวัดใหญ่ได้ คนไข้ และญาติก็ไม่ต้องเสียเวลา ค่าใช้จ่ายมาหาหมอ ไม่ต้องมีการตรวจรักษา หรือจ่ายยา และไม่มีค่าเดินทางมาโรงพยาบาล ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ขณะที่ภาครัฐก็ลดภาระการรักษาพยาบาลลงได้เช่นกัน ทั้งนี้ วัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ฉีดในปีนี้ เป็นวัคซีนรวม 3 สายพันธุ์ คือ ชนิดเอ เอช1เอ็น1 (A H1N1) ชนิดเอ เอช3เอ็น2 (A H3N2) และชนิดบี (B) ซึ่งเป็นเชื้อไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลที่พบบ่อยในไทยและทั่วโลก และวัคซีนยังใช้ได้ผลดี เนื่องจากเชื้อไม่มีปัญหากลายพันธุ์