.
เอเอฟพี - พม่าตั้งเป้าจะฟื้นฟูเส้นทางรถไฟสายมรณะเชื่อมต่อกับไทยที่แต่เดิมที่สร้างขึ้นโดยเชลยสงครามในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐมนตรีที่รับผิดชอบโครงการของพม่กล่าว
เส้นทางรถไฟสายนี้ กลายเป็นเส้นทางรถไฟสายอมตะจากภาพยนตร์รางวัลออสการ์เรื่อง “The Bridge on the River Kwai” ที่ถ่ายทอดให้เห็นถึงสภาพการทำงานอันแสนเลวร้ายของแรงงานนับหมื่นคนที่เป็นเชลยสงคราม ซึ่งกองทัพญี่ปุ่นเกณฑ์มาสร้างในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
นายออง มิน รัฐมนตรีกระทรวงรถไฟพม่ากล่าวว่า การศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการเส้นทางรถไฟความยาว 105 กม. จากพื้นที่บริเวณด่านเจดีย์สามองค์ตั้งแต่ฝั่งพม่าไปยังไทยมีกำหนดเริ่มในเดือน ต.ค. นี้
“เราจะเปิดเส้นทางรถไฟสายนี้อีกครั้ง และจะดำเนินการสำรวจเส้นทางเพื่อพยายามที่จะเริ่มต้นการทำงานในช่วงหลังฤดูฝนด้วยความช่วยเหลือจากประชาคมโลก” นายออง มิน กล่าวหลังการเจรจาสันติภาพกับกลุ่มกบฎรัฐชาน
หลังอยู่ภายใต้การปกครองแบบเผด็จการทหารมาอย่างนาวนาน พม่าเริ่มดำเนินการปฏิรูปการเมือง และเศรษฐกิจหลากหลายประการด้วยความรวดเร็ว ภายใต้การนำของประธานาธิบดีเต็งเส่ง รวมทั้งการพัฒนาความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นกับประเทศเพื่อนบ้าน
ทางรถไฟสายนี้ จะนำมาซึ่งการพัฒนาทางเศรษฐกิจในพื้นที่ยากจน ที่เป็นบ้านของกลุ่มกบฎชนกลุ่มน้อยชาวกะเหรี่ยง จากการส่งเสริมการค้ากับไทย และการท่องเที่ยว
ทางรถไฟสายมรณะถูกสร้างขึ้นจากแรงงานของกรรมกร และเชลยศึกที่ควบคุมโดยกองทัพญี่ปุ่นระหว่างปี 2485-2486 เพื่อเป็นเส้นทางลำเลียงอาวุธยุทโธปกรณ์ รวมทั้งกำลังพล จากไทยไปยังพม่า และถูกฝ่ายสัมพันธมิตรทิ้งระเบิดทำลายลงในปี 2488
เชลยศึกกว่า 13,000 คน ที่ถูกเกณฑ์ไปสร้างทางรถไฟความยาว 424 กม. ตลอดระยะเวลา 14 เดือน ต้องเสียชีวิตลงเพราะทารุณกรรม ขาดอาหาร และโรคภัยไข้เจ็บ ผ่านป่าหนาทึบและภูเขา
คาดว่ายังมีพลเรือนชาวเอเชียที่ถูกบังคับใช้แรงงานอีกราว 80,000-100,000 คน เสียชีวิตลงในการก่อสร้างเส้นทางรถไฟสายนี้ แต่ไม่มีป้ายระบุ หรือหลุมฝังศพ.
.