xs
xsm
sm
md
lg

พม่าเจรจาสันติภาพขั้นสูงกับกบฏชนกลุ่มน้อย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เจ้าหน้าที่รัฐบาลพม่า (ซ้าย) และผู้แทนจาก KNU จัดเจรจาหารือสันติภาพที่โรงแรมแห่งหนึ่งในนครย่างกุ้ง วันที่ 6 เม.ย. การหารือครั้งนี้นับเป็นการหารือขั้นสูงสุดกับกลุ่มกบฏจากรัฐกะเหรี่ยง หลังมีการลงนามข้อตกลงหยุดยิงเมื่อต้นปี. --AFP PHOTO/Soe Than Win.

เอเอฟพี - พม่าจัดการหารือสันติภาพขั้นสูงสุดกับกลุ่มกบฏชนกลุุ่มน้อยจากรัฐกะเหรี่ยง นับตั้งแต่ทั้งสองฝ่ายลงนามข้อตกลงหยุดยิงกันไปเมื่อต้นปี

คณะผู้แทนจาก KNU ได้เข้าหารือกับเจ้าหน้าที่รัฐบาล อันเป็นส่วนหนึ่งของการเจรจาในความพยายามครั้งล่าสุดที่จะยุติความขัดแย้งระหว่างกบฏชนกลุ่มน้อยกับรัฐบาลที่ดำเนินมาอย่างยาวนาน

นายขิ่น ยี รัฐมนตรีกระทรวงตรวจคนเข้าเมืองพม่า กล่าวกับผู้สื่อข่าวคืนวานนี้ว่า การเจรจาเบื้องต้นที่เมืองปะอัน เมืองเอกของรัฐกะเหรี่ยง ทางตะวันออกของพม่า ครอบคลุมหลักปฏิบัติสำหรับกองกำลังทหารของทั้งสองฝ่าย

“เราต้องการสันติภาพ พวกเขาก็ต้องการเช่นเดียวกัน ดังนั้น การหารือจะต้องประสบความสำเร็จด้วยดี” นายขิ่น ยี กล่าว

พม่าพิจารณากำหนดให้ KNU เป็นองค์กรผิดกฎหมาย และกองกำลังทหารของ KNU ต่อสู้ปะทะกับกองกำลังทหารของรัฐบาลมาตั้งแต่ปี 2492

รัฐบาลพม่าลงนามข้อตกลงหยุดยิงกับ KNU ในเดือนมกราคม 2555 ในขั้นตอนหนึ่งของกระบวนการปฏิรูปประชาธิปไตยที่นำไปสู่การจัดการเลือกตั้งซ่อมในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ที่พรรคฝ่ายค้านของนางอองซาน ซูจี กวาดคะแนนเสียงไปได้อย่างถล่มทลาย

นอกจากนั้น คณะผู้แทนจาก KNU วางแผนที่จะพบกับนางอองซาน ซูจีในวันอาทิตย์นี้ ที่จะกลายเป็นการหารือครั้งสำคัญครั้งแรกของนางอองซาน ซูจีในฐานะนักการเมือง

โฆษกหญิงของ KNU กล่าวว่า KNU ต้องการประเมิน “ทัศนคติและความมุ่งมั่น” ของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยของนางซูจี ต่อความพยายามสร้างความปรองดองในชาติ

“ความเชื่อ ความเสียสละ และบทบาทการเป็นผู้นำ มีความสำคัญอย่างมากต่อพม่า” โฆษกหญิง KNU กล่าวถึงนางอองซาน ซูจี ที่ได้รับการยกย่องในพื้นที่ชนกลุ่มน้อย แต่มองว่านางซูจีเป็นหนึ่งในกลุ่มชนชั้นสูงของพม่า

ชาวบ้านจำนวนมากในรัฐกะเหรี่ยงซึ่งเป็นพื้นที่ขัดแย้งยาวนานที่สุดของพม่า ต้องอพยพลี้ภัย และอีกหลายหมื่นคนต้องลี้ภัยเข้าไปอาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยในฝั่งไทย

ขณะที่รัฐบาลลงนามหยุดยิงกับกลุ่มกบฏหลายกลุ่ม แต่การปะทะกันในรัฐกะฉิ่นดำเนินขึ้นเช่นเดียวกัน ทำให้ประชาชนหลายหมื่นคนต้องย้ายที่อยู่อาศัย เป็นอุปสรรคในความพยายามสร้างสันติภาพในประเทศ และในการเลือกตั้งซ่อมที่ผ่านมา ทางการพม่าได้เลื่อนการเลือกตั้ง 3 เขตในรัฐกะฉิ่นเพื่อความปลอดภัย ซึ่งกลุ่มสิทธิมนุษยชนอ้างว่า การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงยังมีอยู่อย่างต่อเนื่องในพื้นที่ดังกล่าว

โฆษกหญิงของ KNU ระบุว่า ผู้แทนของ KNU ได้กล่าวกับผู้แทนของรัฐบาลให้ทำงานให้หนักขึ้นเพื่อยุติความขัดแย้งให้รัฐกะฉิ่นด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น