เอเอฟพี - ประธานาธิบดีพม่าเจรจาหารือกับกบฎชนชาติกะเหรื่ยงเป็นครั้งแรก วานนี้ (7 เม.ย.) ในความพยายามอย่างหนักของรัฐบาลที่จะเดินหน้าสร้างสันติภาพกับกลุ่มต่อต้านรัฐบาลที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศ
การยุติความขัดแย้งกับชนกลุ่มน้อย รวมทั้งข้อกล่าวหาละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับกองกำลังทหารของรัฐบาล เป็นข้อเรียกร้องหลักของประชาคมโลกต่อการพิจารณายกเลิกมาตรการคว่ำบาตรเพื่อเป็นรางวัลแก่พม่า
เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลพม่าระบุว่า ประธานาธิบดีเต็งเส่งได้หารือกับคณะผู้แทนจากสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) ในเช้าวันเสาร์ (7 เม.ย.) ที่กรุงเนปีดอ หลังคณะผู้แทนกลุ่ม KNU ได้เจรจากับรัฐมนตรีในนครย่างกุ้งเมื่อวันศุกร์ (6 เม.ย.)
“นี่เป็นการหารือกันครั้งแรกระหว่างประธานาธิบดีกับผู้นำ KNU” เจ้าหน้าที่อีกนายหนึ่งที่มีส่วนในการเจรจาสันติภาพ กล่าว
เจ้าหน้าที่คนเดิมระบุว่า ผู้แทนจาก KNU ทั้งหมด 6 คน เดินทางด้วยเที่ยวบินพิเศษมายังกรุงเนปีดอ เมืองหลวงของประเทศ เพื่อเจรจาหารือครั้งสำคัญนี้เป็นเวลานาน 90 นาที และสมาชิก KNU ยังมีหมายที่จะเข้าพบหารือกับนางอองซานซูจี ผู้นำฝ่ายค้านในวันอาทิตย์ (8 เม.ย.)
พม่าได้ลงนามข้อตกลงหยุดยิงกับกลุ่มกบฎหลายกลุ่ม ขณะที่การต่อสู้ในรัฐกะฉิ่นยังคงดำเนินอยู่ ที่ส่งผลให้ประชาชนหลายหมื่นคนต้องอพยพลี้ภัย เป็นอุปสรรคต่อความพยายามสร้างสันติภาพในประเทศ
ทางการพม่าได้เลื่อนการเลือกตั้งซ่อม 3 เขตเลือกตั้งในรัฐกะฉิ่น ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย และกลุ่มสิทธิมนุษยชนอ้างว่า ยังมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงในพื้นที่ดังกล่าว
ความมุ่งมั่นที่จะยุติความขัดแย้งกับชนกลุ่มน้อยทั่วประเทศเป็นหนึ่งในแผนสันติภาพ 13 ข้อ ที่รัฐบาล และ KNU หารือตกลงกันเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา
แถลงการณ์ร่วมระบุว่า ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบในหลักปฏิบัติที่จะรับรองความปลอดภัยของพลเรือน เช่น การจัดหาแหล่งที่อยู่ใหม่ให้แก่ผู้อพยพย้ายถิ่นภายในประเทศ รวมทั้งการดำเนินการเก็บกู้ระเบิด