xs
xsm
sm
md
lg

อียู แคนาดา และสหรัฐฯ ส่งผู้สังเกตการณ์เลือกตั้งซ่อมพม่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033>ภาพแฟ้มเอเอฟพี วันที่ 7 พ.ย. 2553 ชาวพม่าหย่อนบัตรลงคะแนนเสียงเลือกตั้งลงในกล่อง ที่คูหาเลือกตั้งแห่งหนึ่งในรัฐชาน ซึ่งการเลือกตั้งทั่วไปครั้งนั้น พม่าไม่อนุญาตให้ผู้สังเกตการณ์ต่างชาติเข้าสังเกตการณ์และเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่โปร่งใส แต่ในการเลือกตั้งซ่อมที่จะมีขึ้นในวันที่ 1 เม.ย. นี้ พม่าได้เชิญผู้สังเกตการณ์จากชาติต่างๆ เข้าร่วมสังเกตการณ์การเลือกตั้ง ทั้งอาเซียน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย แคนาดา สหภาพยุโรป และสหรัฐ --AFP PHOTO/Soe Than Win/FILES.  </font></b>

เอเอฟพี - สหภาพยุโรป สหรัฐฯ และ แคนาดา ระบุวานนี้ (28 มี.ค.) ว่า จะส่งผู้สังเกตการณ์เข้าสังเกตการเลือกตั้งซ่อมของพม่าที่จะมีขึ้นในวันที่ 1 เม.ย.นี้ ที่ นางอองซานซูจี ได้ร่วมลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นครั้งแรก

แถลงจากสำนักงานของ นางแคทเธอรีน แอชตัน ประธานฝ่ายนโยบายต่างประเทศของสหภาพยุโรป ระบุว่า สหภาพยุโรปตอบรับคำเชิญของรัฐบาลพม่า และตัดสินใจส่งคณะผู้เชี่ยวชาญเข้าร่วมสังเกตการณ์การเลือกตั้งซ่อม ที่จะรวมกันกับนักการทูตจากสถานทูตของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปที่อยู่ในพม่า

ทางด้าน นายจอห์น แบร์ด รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศแคนาดา ระบุว่า แคนาดาระบุจะส่งผู้สังเกตการณ์ 2 คน คือ วุฒิสมาชิกจากพรรคอนุรักษนิยม และเลขาธิการรัฐสภา ทำหน้าที่เป็นพยานและรายงานการเลือกตั้งซ่อมในพม่า

ขณะเดียวกัน กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุ วานนี้ (28) ว่า สหรัฐฯจะส่งผู้สังเกตการณ์ 2 คนจากกลุ่มสนับสนุนประชาธิปไตยที่รัฐบาลให้ทุนสนับสนุนเข้าสังเกตการณ์การเลือกตั้งในวันที่ 1 เม.ย.นี้ โดยเป็นผู้แทนจากสถาบันส่งเสริมประชาธิปไตยแห่งชาติ (NDI) 1 คน และจากสถาบันรีพับลิกันนานาชาติ (IRI) อีก 1 คน

นางวิคทอเรีย นูแลนด์ โฆษกกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุว่า ทั้งสองคนจะอยู่ที่พม่าจนถึงวันที่ 3 เม.ย.เพื่อศึกษากระบวนและความสำคัญของการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง

“เนื่องจากพวกเขาจะเดินทางถึงพม่าก่อนการเลือกตั้งเพียง 3 วัน พวกเขาจะไม่อยู่ในตำแหน่งที่จะตรวจสอบตามรูปแบบดั้งเดิมภายใต้ข้อตกลงของปฏิญญาว่าด้วยหลักการการสังเกตการณ์การเลือกตั้งสากลของสหประชาชาติ ดังนั้น กระบวนการที่พม่าเสนอให้นั้น แม้ว่าจะก้าวหน้ากว่าการเลือกตั้งในครั้งก่อน แต่ไม่สอดคล้องตามมาตรฐานสากลของกระบวนการการสังเกตการณ์การเลือกตั้ง” นางนูแลนด์ กล่าว พร้อมย้ำว่า ผู้แทนจากสหรัฐฯทั้งสองคนจะเป็นพยานว่าการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งดำเนินไปอย่างไร และคาดหวังว่า จะมีผูัสื่อข่าวสหรัฐฯและชาติอื่นๆ ร่วมอยู่ด้วย

นอกจากสหภาพยุโรป แคนาดา และสหรัฐฯ แล้ว ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และอาเซียนได้ประกาศที่จะส่งผู้ส่งเกตการณ์เข้าร่วมสังเกตการณ์การเลือกตั้งซ่อมในพม่า ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่นางอองซานซูจี ลงสมัครรับเลือกตั้งเพื่อที่นั่งในรัฐสภาเป็นครั้งแรก

พม่าไม่อนุญาตให้มีผู้สังเกตการณ์ต่างชาติในการเลือกตั้งทั่วไป ปี 2553 ที่พันธมิตรทางการเมืองของกองทัพกวาดคะแนนเสียงส่วนใหญ่ ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ว่า มีการข่มขู่และโกงเลือกตั้ง และนับตั้งแต่รัฐบาลพลเรือนชุดใหม่ขึ้นขึ้นบริหารประเทศ ประธานาธิบดี เต็งเส่งได้สร้างความประหลาดใจให้กับบรรดานักวิจารณ์ด้วยการปฏิรูปประเทศในหลายด้าน เช่น การลงนามข้อตกลงหยุดยิงกับกบฏชนกลุ่มน้อย และปล่อยนักโทษการเมืองหลายร้อยคน.
กำลังโหลดความคิดเห็น