ASTVผู้จัดการออนไลน์ - ประธานาธิบดีจีนหูจิ่นเทา (Hu Jintao) สิ้นสุดการเยือนกัมพูชาเป็นเวลา 4 วันในวันจันทร์นี้ เป็นการสิ้นสุดการออกตระเวน 3 ประเทศในเอเชีย และในกัมพูชาผู้นำจีนได้พิสูจน์ความขลังของ “อำนาจละมุน” ให้ปรากฏอีกครั้งหนึ่ง สามารถกล่อมผู้นำประเทศนี้ให้คล้อยตามความต้องการของจีนได้ ในปัญหาความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ โดยระบุเอาไว้ในคำแถลงร่วมกัมพูชา-จีน ที่ออกในวันอาทิตย์
ก่อนหน้านั้น ฝ่ายจีนได้ตกลงจะให้ความช่วยเหลือกัมพูชาอีกหลายร้อยล้านดอลลาร์ รวมทั้งตกลงจะเพิ่มมูลค่าการค่าระหว่างกันขึ้นเป็น 2 เท่า ภายใน 5 ปีข้างหน้า
ช่วงปีหลังๆ นี้กัมพูชาได้แสดงท่าทีคล้อยตามเวียดนาม ซึ่งมีความเห็นสอดคล้องกับอีกหลายฝ่ายที่ประสงค์ให้ความขัดแย้งในน่านน้ำที่เชื่อว่าอุดมไปด้วยพลังงานแห่งนี้ ได้รับการแก้ไขแบบเบ็ดเสร็จโดยมีทุกฝ่ายที่มีผลประโยชน์เข้าร่วม
ความขัดแย้งส่อเค้าจะขยายตัวไปสู่การใช้ความรุนแรงมากยิ่งขึ้น นับตั้งแต่จีนประกาศใช้ “แผนที่เส้นประ 9 เส้น” แสดงอาณาบริเวณน่านน้ำของตน ซึ่งครอบคลุมราว 80% ของพื้นที่กว่า 3.5 ล้านตารางกิโลเมตรในทะเลจีนใต้ นั่นคือเป็นเจ้าของหมู่เกาะใหญ่น้อยเกือบจะทั้งหมด
“จีน และประเทศกลุ่มอาเซียนควรจะสืบต่อปฏิบัติตามจุดประสงค์ และจิตใจแห่งคำประกาศเกี่ยวกับวิถีปฏิบัติของฝ่ายต่างๆ ในทะเลจีนใต้ (Declaration on the Conduct of Parties in the South China Sea) และใช้บรรดากลไกที่มีอยู่อย่างเต็มที่ รวมทั้งแนวทางการใช้คำประกาศฯ เพื่อทำให้กลายเป็นทะเลแห่งมิตรภาพ และความร่วมมือระหว่างจีนกับประเทศอาเซียน” เป็นข้อหนึ่งของคำแถลงร่วม ที่ออกมาในกรุงพนมเปญ 1 วันก่อนที่ผู้นำสูงสุดของจีนจะสิ้นสุดการเยือน
โฆษกของจีน และกัมพูชากล่าวว่า นายหูกับฮุนเซนเห็นพ้องกันที่จะให้ปัญหาน่านน้ำได้รับการแก้ไขในกรอบความร่วมมือระหว่างจีนกับอาเซียนเท่านั้น ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศจีนกล่าวว่า การเยือนกัมพูชาของประธานาธิบดีหู จบลงด้วย “ความสำเร็จอย่างสมบูรณ์”
ทั้งจีน และเวียดนามต่างก็กล่าวอ้างเป็นเจ้าของหมู่เกาะพาราเซลทางตอนบนของทะเลจีนใต้ ต่างฝ่ายต่างแสดงหลักฐานทางประวัติศาสตร์อันยาวไกล เพื่อแสดงความชอบธรรมในการเป็นเจ้าของ
ขณะเดียวกัน จีน เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย บรูไน ตลอดจนไต้หวัน ต่างก็กล่าวอ้างสิทธิ์เหนือหมู่เกาะสแปร็ตลี ที่อยู่ใต้ลงไป จีนและเวียดนามกล่าวอ้างทั้งหมด ฝ่ายอื่นๆ ที่เหลือกล่าวอ้างดินแดนบางส่วนในหมู่เกาะพิพาท ในขณะที่สหรัฐฯ กับอีกหลายประเทศพันธมิตรต่างไม่ยอมรับแผนที่ใหม่ของจีน โดยระบุว่า ทะเลจีนใต้เป็นเส้นทางเดินเรือเสรีมาแต่ครั้งโบราณ ที่จะต้องพิทักษ์รักษาเอาไว้
สหรัฐฯ ได้ประกาศจุดยืนชัดเจนว่า ตนเองมีผลประโยชน์มหาศาลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งด้านการลงทุนด้วย สิ้นค้าเข้า และออกส่วนใหญ่ต้องส่งผ่านทะเลจีนใต้ทั้งสิ้น ทั้งเกาหลีและญี่ปุ่นก็ได้ประกาศท่าทีเดียวกันกับสหรัฐฯ
.
2
ความตึงเครียดเพิ่มทวีขึ้นปีที่แล้ว เมื่อเวียดนาม และฟิลิปปินส์ ต่างก็กล่าวหาเรือจีนแล่นล้ำเขตน่านน้ำของตนในบริเวณหมู่เกาะพิพาท และเวียดนามกล่าวหาว่าจีนได้ส่งเรือตรวจการณ์เข้าขัดขวางการปฏิบัติงานสำรวจทรัพยากรของเรือเวียดนามในน่านน้ำเขตเศรษฐกิจจำเพาะ 200 ไมล์ทะเลของตน
ทั้งสองประเทศซึ่งต่างก็เป็นสมาชิกกลุ่มอาเซียนได้ประท้วงการะทำของจีนหลายครั้ง ฐานละเมิด COD เกี่ยวกับทะเลจีนใต้ ที่มีเนื้อหาห้ามมิให้ฝ่ายใดปฏิบัติโดยใช้ความรุนแรง
เวียดนามกับฟิลิปปินส์ได้ใช้ท่าทีเห็นด้วยกับสหรัฐฯ ที่ต้องการให้มีการเจรจาเบ็ดเสร็จโดยมีหลายฝ่ายที่เป็นหุ้นส่วนในทะเลจีนใต้เข้าร่วม ซึ่งรวมทั้งสหรัฐฯ กับพันธมิตรเอเชียตะวันออกรวมอยู่ด้วย ซึ่งจีนถือเป็นการทำให้กรณีพิพาทในภูมิภาคนี้กลายเป็น “ปัญหาระหว่างประเทศ” และไม่อาจยอมรับได้
จีนได้ร่วมลงนามรับรอง COD ดังกล่าวในการร่วมประชุมกับกลุ่มอาเซียนในกรุงพนมเปญเมื่อปี 2545 และให้คำมั่นอย่างหนักแน่นจะยึดถือปฏิบัติ แต่ทั้งเวียดนาม และฟิลิปปินส์ยังคงประท้วงจีนเป็นระยะๆ กล่าวหาจีนละเมิดอธิปไตย โดยเฉาะอย่างยิ่งนับตั้งแต่จีนประกาศใช้แผนที่ “จุดประ 9 จุด” เป็นต้นมา
สำหรับรัฐบาลฮุนเซน ก่อนหน้านี้ได้เคยแสดงจุดยืนเข้าข้างจีนในวิธีการแก้ไขปัญหาทะเลจีนใต้ แต่ได้เปลี่ยนท่าทีเมื่อปีที่แล้ว ไปสนับสนุนจุดยืนของเวียดนาม และฟิลิปปินส์ หรือสนับสนุน “การเจรจาหลายฝ่าย” ฮุนเซนเปลี่ยนไปอีกครั้งหนึ่ง ระหว่างการเยือนของผู้นำสูงสุดจีนในช่วง 4 วันที่ผ่านมา
นายหูได้เลือกเยือนกัมพูชาก่อนที่ผู้นำอาเซียนจะเปิดประชุมในกรุงพนมเปญเพียงไม่กี่วัน และเป็นผู้นำสูงสุดจีนคนแรกที่ไปเยือนประเทศนี้ในรอบ 12 ปี ซึ่งทำให้หลายฝ่ายวิเคราะห์ล่วงหน้าว่า กัมพูชาซึ่งได้หมุนเวียนมาเป็นเจ้าภาพในปีนี้ กำลังจะนำเอาการประชุมของผู้นำ 10 ชาติสมาชิกให้ตกไปอยู่ใต้เงาทะมึนดำของจีน
นายหูได้พบหารือกับบรรดาผู้นำทางการเมืองฝ่ายรัฐบาลทุกคน สมเด็จพระนโรดมบรมนาถสีหมุนี กษัตริย์แห่งกัมพูชา ทรงจัดงานเลี้ยงถวายเพื่อเป็นเกียรติแด่ผู้นำจีนด้วย
นายหูได้พบหารือกับนายกรัฐมนตรีกัมพูชาในวันที่ 31 มี.ค. ซึ่งโฆษกส่วนตัวของฮุนเซนคือ นายศรี ธำรง ให้สัมภาษณ์ว่าสองฝ่ายได้ตกลงขยายความร่วมมือกันรอบด้าน รวมทั้งเศรษฐกิจและทางวิชาการ เพิ่มขยายความร่วมมือทางทหารลงสู่ทางลึก รักษาระดับในการติดต่อระหว่างกระทรวงกลาโหมกับกองทัพ
สองฝ่ายจะร่วมมือกันด้านการฝึกทางทหาร ฝึกอบรมกำลังพล ก่อสร้างสถาบันการศึกษาทางทหาร โรงเรียน ตลอดจนความร่วมมือด้านการส่งกำลังบำรุง ทั้งนี้ เป็นรายงานของสำนักข่าวซินหัว
3
4
สองฝ่ายยังตกลงเพิ่มขยายมูลค่าการค่าจากปีละ 2,500 ล้านดอลลาร์ในปัจจุบัน ให้เป็น 5,000 ล้านดอลลาร์ภายในปี 2560 และ “ฝ่ายจีนพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือแก่กัมพูชาทางด้านเศรษฐกิจ ภายใต้ขีดความสามารถที่มีอยู่ เพื่อการพัฒนาชาติ และสนับสนุนกัมพูชาในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เช่น การคมนาคม พลังงาน โทรคมนาคม และการอนุรักษ์น้ำ” ซินหัวอ้างเนื้อหาในคำแถลงร่วม
ขณะเดียวกัน นายศรี ธำรง เปิดเผยว่า ระหว่างการพบหารือในวันเสาร์นั้น ผู้นำจีนได้ให้คำมั่นจะให้เงินช่วยเหลือแบบให้เปล่าแก่กัมพูชาอีก 40 ล้านดอลลาร์ กับเงินกู้กว่า 30 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ฮุนเซนได้เรียกร้องให้จีนให้เงินกู้แก่กัมพูชาปีละ 300-500 ล้านดอลลาร์เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ก่อสร้างการการชลประทาน และขยายข่ายไฟฟ้า
ตามตัวเลขอย่างเป็นทางการ กว่า 10 ปีมานี้ จีนได้ให้ความช่วยเหลือแก่กัมพูชาเป็นมูลค่ากว่า 2,000 ล้านดอลลาร์ ทั้งเงินให้เปล่า แต่ส่วนใหญ่เป็นเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำระยะยาว ในขณะที่เจ้าหน้าที่ทางการเองยังให้ตัวเลขสับสนระหว่าง 2,000 กับ 3,000 ล้านดอลลาร์
การตกลงให้การช่วยเหลือกัมพูชาอย่างรอบด้านนั้น หมายถึงการเพิ่มความช่วยเหลือให้แก่กัมพูชาในด้านเงินทุนซึ่งจะเป็นปริมาณมหาศาลในช่วงปีข้างหน้านี้
การใช้อำนาจละมุนทำให้อำนาจ และอิทธิพลของจีนในกัมพูชาสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ในทางแลกเปลี่ยนกันจีนเข้าไปมีผลประโยชน์มหาศาลในกัมพูชา โดยเฉพาะอย่างยิ่งโอกาสในการลงทุน ซึ่งฝ่ายอื่นๆ ไม่มีโอกาสได้รับ ในขณะที่หลายฝ่ายโดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐฯ กับอาเซียนที่เกรงว่า กัมพูชาจะดำดิ่งไปอยู่ใต้อิทธิพลของจีนอย่างเบ็ดเสร็จ
ตัวเลขล่าสุดที่เผยแพร่ในวันอาทิตย์ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยศูนย์เพื่อสิทธิมนุษยชนกัมพูชาในกรุงพนมเปญ นับตั้งแต่ปี 2537 มาจนถึงปัจจุบัน รัฐบาลฮุนเซนได้ให้สัมปทานที่ดินแก่นักลงจีนจำนวน 107 บริษัท รวมเนื้อที่ 4,615,745 เฮกตาร์ (กว่า 28.8 ล้านไร่) ซึ่งคิดเป็นกว่าครึ่งหนึ่งของเนื้อที่ที่ให้สัมปทานทั้งหมด
ในนั้นมี 3,374,328 เฮกตาร์ (21.08 ล้านไร่) เป็นพื้นที่ป่า 973,101 เฮกตาร์ (6.08 ล้านไร่) เป็นพื้นที่เศรษฐกิจ กับอีก 268,316 เฮกตาร์ (1.67 ล้านไร่) เป็นพื้นที่สัมปทานเหมือง
.
5
ศูนย์แห่งนี้กล่าวอีกว่า จนถึงปัจจุบัน นักลงทุนจีนได้เป็นเจ้าของสัมปทานพื้นที่ราว 1 ใน 4 ของผืนป่าในกัมพูชาที่มีเนื้อที่รวม 17 ล้านเฮกตาร์ (106,250,000 ไร่)
รัฐบาลเก็บค่าเช่าที่ดินจากนักลงทุนต่างชาติเหล่านี้ คิดเป็นอัตราเฉลี่ยเพียง 10-20 ดอลลาร์ต่อเฮกตาร์ต่อปีเท่านั้น เทียบกับ 100-150 ดอลลาร์ต่อเฮกตาร์ต่อปี อัตราเฉลี่ยที่รัฐให้ราษฎรเช่าในปัจจุบัน ข้อมูลจากแหล่งเดียวกันระบุ
ปัจจุบัน นักลงทุนจากจีนเป็นเจ้าของไร่ซึ่งปลูกพืชเศรษฐกิจต่างๆ ทั้งยางพารา และปาล์มน้ำมัน ฯลฯ เป็นเจ้าของเขตอุตสาหกรรม เขตเศรษฐกิจพิเศษ โครงการเขื่อนผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่ 4-5 โครงการ เป็นเจ้าของเหมืองแร่ล้ำค่า และบริษัทน้ำมันจีน 2 บริษัท กำลังสำรวจพลังงานในแปลงสำรวจ 2 แปลง ในทะเลอ่าวไทยของกัมพูชา
ปัจจุบัน จีนยังเป็นผู้ลงทุนมากที่สุดในกัมพูชา โดยมีมูลค่ามากกว่าการลงทุนจากสหรัฐฯ ราว 10 เท่าตัว จึงไม่แปลกที่อำนาจละมุนจะทำให้จีนมีอิทธิพลอย่างมากมายในประเทศนี้
นายศรี ธำรง เปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า ในการพบหารือระหว่างผู้นำจีนกับผู้นำกัมพูชานั้น ฝ่ายจีนได้ขอร้องให้ฝ่ายกัมพูชา ช่วยชะลอมิให้บรรดาผู้นำอาเซียนดำเนินการแก้ปัญหาทะเลจีนใต้ “เร็วจนเกินไป” ระหว่างการประชุมที่เริ่มขึ้นในวันจันทร์นี้
อย่างไรก็ตาม นายศรี ธำรง กล่าวว่า แม้จุดยืนของกัมพูชาจะเห็นพ้องกับท่าทีของจีน แต่ก็จะไม่สามารถห้ามปรามได้หากผู้นำอาเซียนคนอื่นๆ หยิบยกกรณีทะเลจีนใต้ขึ้นมาเป็นประเด็นหารือ และเห็นเป็นอย่างอื่นในระหว่างการประชุม