ASTVผู้จัดการออนไลน์ -- เวียดนามเปิดเดินเครื่องเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่เมืองด่าลัท (Dalat) จ.เลิมโด่ง (Lam Dong) อีกครั้งหนึ่งในวันที่ 20 มี.ค.เป็นต้นมา หลังจากปิดไปชั่วคราวตั้งแต่เดือน พ.ย.ปีที่แล้ว เพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์
เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ของเวียดนามเริ่มทำงานอีกครั้งด้วยแท่งเชื้อเพลิงแบบเสริมสมรรถนะยูเรเนียมต่ำ (Low-Enriched Uranium) อันเป็นไปตามความตกลงกับทบวงพลังงานนิวเคลียร์ระหว่างประเทศ สหรัฐฯ และรัสเซีย
ก่อนหน้านั้นเวียดนามนำเข้าแท่งเชื้อเพลิงเสริมสมรรถนะยูเรเนียมเข้มข้น (High-Enriched Uranium) จากรัสเซียจำนวนทั้งหมด 102 แท่ง
ในปัจจุบันแท่งเชื้อเพลิง HEU ใช้แล้ว 92 แท่ง ที่ถอดจากเตาปฏิกรณ์ในปลายปี 2553 ยังคงเก็บรักษาไว้ที่สถาบันวิจัยฯ เพื่อขนส่งกลับไปยังรัสเซียทั้งหมดภายในเดือน พ.ค.ศกนี้ ทั้งนี้จากการเปิดเผยโดย ดร.เหวียนญีเดียน (Nguyen Nhi Dien) ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยนิวเคลียร์แห่งเมืองด่าลัท (Da Lat Nuclear Research Institute) ซึ่งเป็นผู้ควบคุมปฏิบัติการของเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์แห่งเดียวของประเทศ
การส่งแท่งเชื้อเพลิงคืนให้แก่รัสเซียเป็นไปตามความตกลงระหว่างเวียดนามกับรัสเซีย ที่ร่วมกันลงนามในวันที่ 16 มี.ค.ที่ผ่านมาในกรุงฮานอย ระหว่างนายเลดี่งเตียน (Le Dinh Tien) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเวียดนาม กับนายนิโคไล สปาสสคี (Nikolay Spasskiy) รองผู้อำนวยการบริษัทพลังงานนิวเคลียร์รอสอะตอม (Rosatom Nuclear Energy Corporation) จากรัสเซีย ศ.ดร.ญีเดียน กล่าว
.
.
สหรัฐฯ ช่วยเวียดนามสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์แห่งนี้ในปี 2503 หรือเมื่อ 52 ปีก่อน โดยเลือกเขตที่ราบสูงภาคกลางที่อยู่ห่างไกลจากตัวเมืองใหญ่ เป็นเตาปฏิกรณ์แบบทริกา มาร์ค 2 (TRIGA MARK II) ขนาด 250 กิโลวัตต์ ใช้เพื่อการวิจัยและทดลองนิวเคลียร์กับนิวตรอนฟิสิกส์
ในต้นเดือน เม.ย.2518 ก่อนกรุงไซ่ง่อนจะถูกฝ่ายคอมมิวนิสต์บุกเข้ายึดและนำไปสู่การสิ้นสุดของสงครามนั้น สหรัฐฯ ได้ถอดแท่นบรรจุเชื้อเพลิงยูเรเนียมและนำกลับไป เป็นการปิดตายเตาปฏิกรณ์โดยอัตโนมัติ
จนกระทั่งปี 2525 สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามจึงได้รับความช่วยเหลือจากอดีตสหภาพโซเวียตฟื้นฟูเตาปฏิกรณ์ด่าลัทขึ้นใหม่ หันมาใช้เชื้อเพลิงแท่ง HEU เดินเครื่องได้อีกครั้งหนึ่งในวันที่ 20 มี.ค.2527
ในปี 2550 เวียดนามได้เข้าร่วมในโครงการเปลี่ยนเชื้อเพลิงเตาปฏิกรณ์ด่าลัท ตามความริเริ่มของทบวงพลังงานปรมาณูสากลแห่งสหประชาชาติหรือ IAEA (International Atomic Energy Agency) สหรัฐฯ กับรัสเซีย อันเป็นมาตรการหนึ่งในการป้องกันมิให้ฝ่ายใดนำเชื้อเพลิง HEU ไปใช้เพื่อจุดประสงค์ที่ไม่สันติ
.
.
นับตั้งแต่ปี 2527 เป็นต้นมามีการเปลี่ยนแท่งเชื้อเพลิง HEU ไปหลายครั้งตามรอบการใช้งาน จนกระทั่งในเดือน ก.ย.2550 เวียดนามจึงได้ส่งคืนแท่งเชื้อเพลิง HEU จำนวน 35 แท่งที่นำเข้าจากสหภาพโซเวียตเดิมและยังไม่ได้ใช้ ไปให้ให้แก่รัสเซีย และ ได้รับแท่งเชื้อเพลิง LEU จำนวน 36 แท่งจากรัสเซีย
ในเดือน ธ.ค.2553 เวียดนามได้รับแท่งเชื้อเพลิง LEU อีก 66 แท่ง และนำไปติดตั้งในเตาปฏิกรณ์แทนเชื้อเพลิงแท่ง HEU ที่เหลืออยู่ทั้งหมด และ เริ่มเดินเครื่องด้วยเชื้อเพลิง LEU ในปี 2554 จนกระทั่งปิดลงในเดือน พ.ย. เพื่อผลิตไอโซโทปทางการแพทย์ให้แก่โรงพยาบาลใหญ่แห่งต่างๆ ทั่วประเทศ ดร.ญีเดียนกล่าว
การเปลี่ยนระบบเชื้อเพลิงเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์เมืองด่าลัท ผูกพันความความร่วมมือช่วยเหลือการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์แห่งแรกของเวียดนามใน จ.บี่งทวน ที่รัฐบาลลงทุนเอง และก่อสร้างโดยรัสเซีย และใช้เทคโนโลยีรัสเซียทั้งหมด
มหาวิทยาลัยด่าลัท ยังเป็นสถาบันอุดมศึกษา 1 ใน จำนวน 6 แห่งที่รัฐบาลเวียดนามกำหนดให้เป็นแหล่งผลิตทรัพยากรบุคคล เพื่อไปปฏิบัติงานในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งแรก ที่มีกำหนดก่อสร้างในปี 2557 และเดินเครื่องเตาปฏิกรณ์หน่วยแรกในปี 2563.