ASTVผู้จัดการออนไลน์ -- สัปดาห์นี้ผู้อ่านจำนวนมากได้แสดงความคิดเห็นต่อภาพแฟชั่นชุดล่าสุดของหวูถิหว่างมี (Vũ Thị Hoàng My) นางแบบคนสวย หลายคนกล่าวหาว่า ชุดที่เธอสวมใส่ ได้ทำให้ตำนานรักแบบโรมีโอและจูเลียต อันเลื่องลือของชนชาติส่วนน้อยในเขตที่ราบสูงภาคกลางผิดเพี้ยนไป
บ้างก็บอกว่าบิกินีของ "น้องหมี" และเสื้อผ้าที่เธอใส่ล้วนดูล่อแหลม และตัดเย็บด้วยเส้นใยสแปนเด็กซ์ซึ่งเป็นวัสดุในยุคใหม่ ไม่สอดคล้องกับตำนานดั้งเดิมที่อาภรณ์ของหญิงสาวชาวพื้นเมืองล้วนตัดเย็บจากผ้าทอ ทำให้ตำนานรักอันบริสุทธิ์ผุดผ่องของชนเผ่าจิล (Chil) มัวหมอง และ หญิงสาวในตำนานก็ไม่ได้นุ่งบิกินี อีกด้วย
เรื่องของเรื่องก็คือ ไม่ว่าจะในยุคไหนๆ การแต่งงานระหว่างคนสองกลุ่มที่เป็นศัตรูกันนั้น ได้เป็นสิ่งต้องห้ามเสมอมา
ต่างไปจาก "โรมีโอและจูเลียต" อันเป็นตำนานรักอมตะของหนุ่มสาวชาวเมืองศิวิไลซ์ โดยนักประพันธ์เอกวิลเลียมส์ เช็คสเปียร์ส แต่ “ตำนานรักลาง-เบียง" เกิดเขตในป่าเขาลำนาไพรไกลปืนเที่่ยง และ ภาพชุดที่เผยแพร่สัปดาห์ที่แล้วก็เป็นการเติมแต่งให้น้องหมีย้อนยุคกลับไปเป็น "ฮอเบียง" (Ho Biang) สาวชาวจิล คู่กับนายแบบร่างบึกบึนคนหนึ่ง ซึ่งเป็น "ลาง" (K' Lang) แห่งชนเผ่าลัค (Lach)
ในเขตที่ราบสูงภาคกลางเวียดนามมีชนพื้นเมืองหลากหลายชนเผ่าอาศัยอยู่มาจนกระทั่งทุกวันนี้ คนเหล่านี้ต่างมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการลุกขึ้นร่วมกับขบวนการเวียดมินห์ ต่อสู้กับเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศส เช่นเดียวกับในช่วงสงครามสหรัฐฯ
แต่ต่างไปจากปัจจุบัน ในยุคหนึ่งความรักต่างชนเผ่าเป็นสิ่งต้องห้าม ซึ่งได้ทำให้ลางกับเบียงจูงมือกันแหวกม่านประเพณีหลบลี้หนีหน้าผู้คนในสังคมไปครองรักกันในป่าใหญ่ ดำรงชีวิตอยู่อย่างยากลำบาก ก่อนจะลงเอยเป็นโศกนาฏกรรม เมื่อทั้งสองตัดสินใจร่วมกันดื่มยาพิษฆ่าตัวตายเพื่อทำให้ความรักเป็นอมตะ
"โรมีโอ-จูเลียต" ฉบับเวียดนาม เหงื่อยเดือติน (Người Đưa Tin)
ตำนานว่าเอาไว้ .. ร่างไร้วิญญาณของลางกับเบียนถูกฝังเอาไว้บนยอดเขาสองลูก และเมื่อเวลาผ่านไปเนิ่นนานปีขุนเขาได้เคลื่อนตัวเชื่อมเข้าเป็นเทือกเดียวกันเพื่อเป็นพยานรักให้กับคนทั้งสอง
ภูเขาลูกนั้นได้ชื่อว่า "ลางเบียง" มาจนกระทั่งทุกวันนี้ ปัจจุบันกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญอีกแห่งหนึ่งในเขตเมืองด่าลัต (Đà Lạt) จ.เลิมโด่ง (Lâm Đồng) ซึ่งมีอนุสรณ์สถานของคนทั้งสองอยู่ที่นั่น
น้องหมีกำลังเล่นกับตำนานรักอันเป็นอมตะที่อยู่กับภาคกลางเวียดนามมาชั่วนิรันดรกาล การแต่งบิกินีเล่นบท "เบียง" สาวชาวป่าจึงไม่ธรรมดา
ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่กลายเป็นความฉาวโฉ่ หว่างมีได้ออกให้สัมภาษณ์ปกป้องการตัดสินใจของเธอกับทีมงาน และสื่อออนไลน์หลายแห่งได้เผยแพร่การโต้ตอบของเธอในสัปดาห์นี้
ด้วยตำแหน่งรองอันดับ 2 มิสเวียดนาม 2553 น้องหมีกล่าวว่าเธอกับทีมงานได้ศึกษาตำนานรักลาง-เบียง อย่างถี่ถ้วน และขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมประเพณีของทั้งของสองชนเผ่าก้องอยู่ในจิตสำนึก
ประการแรกเธอยืนยันว่า อาภรณ์ที่เธอสวมใส่ไม่มีชิ้นไหนที่ตัดเย็บด้วยเส้นใยยุคใหม่ ไม่มีพวกยางยืดอีลาสติกเป็นส่วนประกอบสักชิ้น แม้กระทั่งบิกินีตัวน้อยก็ตัดเย็บจากผ้าทอพื้นเมืองของชนเผ่านี้ ซึ่งสามารถมองเห็นได้จากลวดลาย และเหตุที่มีผ้าขนสัตว์รวมอยู่ด้วย ก็เพื่อสะท้อนเหตุการณ์คราวที่เบียงมอบให้กับคนรัก อันเป็นประเพณีของชนเผ่า
แล้วทำไมจึงต้องนุ่งบิกินี เพราะว่าในยุคโบราณยังไม่มีใครรู้จักบิกินี? สาวสวยที่มีตำแหน่งมิสยูนิเวิร์สเวียดนาม 2554 ไปร่วมการประกวดในประเทศบราซิลปลายปีที่แล้วเป็นการันตี บอกว่าในตำนานนั้น "เบียง" แต่งกายชุดประเพณีนิยมนุ่งยาวและเปลือยท่อนบน ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดสำหรับตัวเธอเองและทีมงานถ่ายทำ
"หนูกับทีมงานรู้ดีว่าตรงนี้ผิดไปจากเรื่องเดิม แต่จะให้หนูเปลือยอกหรือคะ หนูไม่คิดว่าทำเช่นนั้นจะเป็นที่ยอมรับ และเพื่อแก้ปัญหานี้ หนูกับทีมงานจึงเห็นร่วมกันว่านุ่งกิบินีย่อมจะดูเหมาะกว่าเปลือยอก"
ผู้อ่านจำนวนไม่น้อยได้แสดงความเห็นใจนางแบบสาว หลายคนทราบดีว่า แฟชั่นชุด "ลาง-เบียน" นี้เป็นภาคขยายต่อจากแฟชั่นชุดชาวเขาที่ออกมาในช่วงเทศกาลตรุษ แสดงให้เห็นการเฉลิมฉลองเทศกาลขึ้นปีใหม่ประเพณี รวมทั้งการทำแบ๋งจึง (Bánh Chưng) ขนมเทศกาล ของชนเผ่าต่างๆ ด้วย
แต่การวิพากษ์วิจารณ์น้องหมีก็ยังดำเนินต่อไป.