ASTVผู้จัดการออนไลน์ -- สมาคมอุตสาหกรรมข้าวพม่า (Myanmar Rice Industry Association) ได้พบหารือกับเอกอัครรัฐทูตจีนประจำกรุงย่างกุ้ง เกี่ยวกับความร่วมมือหลายด้าน รวมทั้งเครื่องการผลิตที่ทันสมัย ในขณะที่พม่าตั้งเป้าส่งออกข้าวทะลุ 1 ล้านตันเป็นครั้งแรกในปีนี้
นายชิดคาย (U Chit Khaing) ประธาน MRIA กับนายอองตานอู (U Aung Than Oo) รองประธาน และนายเยมินออง (Ye Min Aung) เลขาธิการสมาคม ได้นำคณะผู้บริหารสมาคมเข้าพบหารือกับนายหลีจุ่นหัว (Li Junhua) ที่สำนักงานของ MRIA ในกรุงย่างกุ้งวันที่ 4 มี.ค.ที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์นิวไลท์ออฟเมียนมาร์รายงาน
“ระหว่างการพบเยี่ยมเยือนครั้งนี้ทั้งหมดได้พูดคุยเกี่ยวกับการนำเข้าเครื่องมือทางการเกษตร การปลูกข้าวพันธุ์ผสมที่ให้ผลผลิตสูงและการขยายการส่งออก” หนังสือพิมพ์ซึ่งเป็นสื่อของรัฐบาล กล่าว
ความเคลื่อนไหวนี้มีขึ้นขณะที่ผู้กำกับดูแลการปลูกและส่งออกข้าวหลายฝ่าย กำลังพยายามทุกวิถีทางเพื่อเพิ่มผลผลิต และคาดว่า อาจจะส่งออกได้ถึง 1.5 ล้านตันในปี 2555 นี้เทียบกับประมาณ 7 แสนตันเมื่อปีที่แล้ว
ตามตัวเลขของ MRIA ปีงบประมาณ 2552-2553 พม่าส่งออกข้าวทั้งหมด 800,000 ตัน ส่วนปี 2553-2554 ส่งออกได้เพียง 400,000 ตัน และ เพิ่มเป็น 700,000 ตัน ขณะที่ปีงบประมาณปัจจุบันกำลังจะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 มี.ค.ศกนี้
หลายปีมานี้พม่า ซึ่งเคยเป็นผู้ส่งออกข้าวเบอร์หนึ่งของโลกเมื่อกว่า 40 ปีก่อน ได้ขยายระบบชลประทานและขยายเนื้อที่นาอย่างกว้างขวาง ขณะที่รัฐบาลอนุญาตให้ส่งออกข้าวได้มากขึ้น ในจุดที่ใกล้กับแหล่งเพาะปลูก ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในเขตพะโค เขตย่างกุ้ง และเขตอิรวดี ซึ่งประเทศไทยได้รับประโยชน์จากนโยบายนี้เต็มที่
.
.
ตามรายงานของสื่อทางการปีนี้ กระทรวงเกษตรพม่าได้ขยายแปลงทดลองปลูกข้าวหอมพันธุ์ดีออกไปในหลายจุดในเขตอู่ข้าวใหญ่ของประเทศ เมื่อปีที่แล้วข้าวหอมพม่าได้รับการยกย่องเป็นข้าวหอมคุณภาพดีที่สุดของโลก
นิวไลท์ออฟเมียนมาร์ กล่าวว่า การเก็บเกี่ยวข้าวหอมสินธุกา-3 (ข้าวหอมพันธุ์ดีแต่ปลูกยาก) ในวันที่ 16 ก.พ.ที่ผ่านมา จากแปลงทดลองเนื้อที่ 3.78 เอเคอร์ (9.56 ไร่) ในเขตเมืองพะสิม (Pathein) ที่ราบปากแม่น้ำอิรวดี ได้ข้าวเปลือก 95.65 ตะกร้า (2,008 กก.) ต่อเอเคอร์ (2.529 ไร่) หรือ ประมาณ 771 กก.ต่อไร่ ขณะที่การเพาะทดลองเพื่อเพิ่มผลผลิตยังดำเนินต่อไป
พม่ากำลังทะยานขึ้นเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่อีกครั้งหนึ่ง การจัดตั้งระบบเช็คสตอกข้าวเมื่อปลายปีที่แล้วทำให้สามารถควบคุมตัวเลขการผลิตและการส่งออกได้แม่นย่ำยิ่งขึ้น ช่วยคลายความห่วงใยของทางการเกี่ยวกับปริมาณข้าวที่จะต้องสำรองไว้เพื่อบริโภคภายในประเทศอย่างเพียงพอ
เหตุอีกประการหนึ่งที่ทำให้สามารถส่งออกข้าวได้มากขึ้น ก็คือ การขยายท่าเรือใหญ่ในเขตที่ราบปากแม่น้ำอิรวดีซึ่งแล้วเสร็จกลางปีที่แล้ว ทำให้สามารถส่งออกข้าวจากอู่ข้าวใหญ่ได้โดยตรง ไม่ต้องขนส่งเข้าย่างกุ้งเพื่อส่งออกผ่านท่าเรือในกรุงเก่า นิตยสารข่าวเมียนมาร์ไทม์สรายงาน
สื่อกึ่งทางการรายงานก่อนหน้านี้ว่า การส่งออกโดยตรงจากเขตที่ราบใหญ่อิรวดีช่วยให้ประหยัดค่าขนส่งที่คิดเป็นประมาณ 30-40% ของราคาข้าว ช่วยลดต้นทุนแก่ผู้ค้าและชาวนาได้กำไรมากขึ้น ข้าวพม่าสามารถแข่งขันได้ดีขึ้นในตลาดโลกอีกด้วย.