xs
xsm
sm
md
lg

สนามบินใหญ่ฟุก๊วกเสร็จปลายปีนี้ แต่ถนนเข้าเมืองยังไม่ได้สร้าง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<bR><FONT color=#000033>เครื่องบินโดยสารแบบ ATR-72 สายการบินเวียดนามลำนี้เพิ่งลงจอดที่สนามบินฟุก๊วก ในภาพที่ไม่ได้ระบุวันถ่ายและไม่ทราบแหล่งที่มา สนามบินแห่งใหม่ที่ใหญ่กว่าอยู่ห่างจากที่นี่ขึ้นไปทางเหนืออีกราว 10 กม. การก่อสร้างคืบยหน้าไปไกลและกำหนดเปิดใช้ในปลายปีนี้ แต่อาจจะมีปัญหาเนื่องจากถนนจากสนามบินเข้าสู่ตัวเมืองยังไม่ได้ลงมือก่อสร้าง สื่อของทางการเวียดนามกล่าว. </b>

ASTVผู้จัดการออนไลน์ -- สื่อเวียดนามประหลาดใจที่การก่อสร้างสนามบินแห่งใหม่มูลค่า 810 ล้านดอลลาร์ บนเกาะฟุก๊วกคืบหน้าไปไกล และมีกำหนดจะแล้วเสร็จตามกำหนดในปลายปี 2555 นี้ แต่ถนนความยาว 20 กม.เศษ ที่เข้าสู่ตัวเมืองกับสะพานอีกหลายแห่งตามรายทางยังไม่ได้ลงมือก่อสร้าง

ทางการจังหวัด กล่าวว่า มีปัญหางบประมาณทำให้บริษัทรับเหมาก่อสร้างถนนต้องหยุดงานตลอดหลายเดือนมานี้

สนามบินแห่งใหม่ซึ่งอยู่ห่างจากสนามบินปัจจุบันประมาณ 10 กม.สร้างขึ้นตามแผนการของรัฐบาลที่จะพัฒนาให้เกาะอ่าวไทยแห่งนี้เป็นปลายทางท่องเที่ยวระดับโลก เทียบชั้นภูเก็ตกับบาหลี การก่อสร้างในเฟสที่ 2 จะทำให้เครื่องบินขนาดใหญ่ที่บรรจุผู้โดยสาร 400 ที่นั่ง เช่น โบอิ้ง 747 สามารถขึ้นลงได้

รัฐบาลเวียดนามออกแผนแม่บทพัฒนาเกาะฟุก๊วกในปี 2548 การก่อสร้างสนามบินใหม่เริ่มขึ้นในปี 2551 เพื่อใช้แทนสนามบินปัจจุบันที่มีเนื้อที่คับแคบและเครื่องบินโดยสารระดับโบอิ้งหรือแอร์บัสไม่สามารถไปใช้ได้

จนถึงเดือน ก.พ.นี้ การก่อสร้างทางวิ่งขึ้นลง โรงซ่อมเครื่องบินและอาคารผู้โดยสารแล้วเสร็จไปราว 65% บริษัทรับเหมายืนยันว่าทุกอย่างเป็นไปตามกำหนดการและจะเปิดใช้ภายในสิ้นปีนี้ หนังสือพิมพ์เตื่อยแจ๋รายงาน

แต่ในขณะเดียวกัน การก่อสร้างถนนกับสะพานหลายแห่งยังไม่ได้เริ่ม นั่นคือ ถนนเพียงเส้นทางเดียวจากสนามบินไปเชื่อมกับทางหลวงเข้าสู่ตัวเมืองซเวืองโดง (Duong Dong) ศูนย์กลางการคมนาคมและขนส่งติดต่อกับแผ่นดินใหญ่ บริษัทรับเหมากล่าวว่าติดปัญหาที่ทางการท้องถิ่นยังไม่สามารถเคลียร์พื้นที่ในช่วงนี้ให้แล้วเสร็จ

ปัจจุบันสามารถมองเห็นรถเกรดถนนหลายคันจอดนิ่งไม่ได้ใช้ เคยมีคนงานเข้าไปก่อสร้างอยู่ 2-3 เดือนก่อนทุกอย่างจะหยุดลง เตื่อยแจ๋อ้างคำพูดของราษฎรในท้องถิ่นคนหนึ่ง

นายเหวียนจุงแถ่ง (Nguyen Trung Thanh) เจ้าหน้าที่ทีมก่อสร้างทางหลวงซเวืองโดง-อานเทย (Duong Dong -An Thoi) กล่าวว่า ผู้ลงทุนก่อสร้างถนนสายนี้ขาดงบประมาณ ทำให้ไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ บริษัทได้ขนรถเครนกับรถเกรดถนนกว่า 100 คันจากแผ่นดินใหญ่ไปยังฟุก๊วก แต่ต้องจอดทิ้ง

ต่างกับการก่อสร้างสนามบินที่ใช้เงินกู้จากธนาคารพัฒนาเอเชียกับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลญี่ปุ่น ยังไม่ทราบรายละเอียดว่าถนน สะพาน และระบบสาธารณูปโภคต่างๆ บนเกาะใช้งบประมาณส่วนใด หรือใช้วิธีการลงทุนอย่างไร แต่เจ้าหน้าที่ของทางการผู้หนึ่งบอกกับเตื่อยแจ๋ว่า ระบบถนนส่วนหนึ่งใช้เงินกู้จากพันธบัตรรัฐบาล

ไม่เพียงแต่ถนนเข้าตัวเมืองเท่านั้น บนเกาะฟุก๊วกยังขาดแคลนไฟฟ้าอย่างหนัก ซึ่งจะกระทบถึงการเปิดใช้สนามบินในอนาคตอันใกล้นี้

ปัจจุบันทั่วทั้งเกาะยังใช้ไฟฟ้าจากเครื่องปั่นไฟน้ำมันดีเซล ซึ่งมีต้นทุนมหาศาล และค่าไฟฟ้าแพงมาก ทำให้ค่าโรงแรมที่พักทุกแห่งแพงตามไปด้วย เป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาการท่องเที่ยว และเป็นปัญหาใหญ่อีกประการหนึ่งที่ทำให้นักลงทุนต่างชาติต้องคิดหนัก

อย่างไรก็ตาม การไฟฟ้า จ.เกียนซยาง กล่าวว่า การวางสายไฟใต้น้ำขนาด 110 กิโลโวลต์ จาก อ.ห่าเตียนไปยังฟุก๊วกจะเริ่มในเร็วๆ นี้ และมีกำหนดแล้วเสร็จก่อนปี 2556

การพัฒนาฟุก๊วกให้เป็นเกาะในฝันจะต้องใช้งบประมาณ นับหมื่นๆ ล้านดอลลาร์ รัฐบาลเวียดนามเปิดรับนักลงทุนต่างชาติเข้าไปสร้างโรงแรมระดับ 5 ดาวหลายหลัง มีกาสิโนอย่างน้อย 1 แห่ง มีศูนย์กีฬาทางน้ำ โรงพยาบาลกับศูนย์สุขภาพทันสมัย สถานบริการท่องเที่ยวอย่างครบวงจรและมีเขตท่องเที่ยวเชิงนิเวศใหญ่โต

ปัจจุบันทั่วทั้งเหาะยังมีสถานที่บริการนักท่องเที่ยวเพียง 6-7 แห่ง และ ทางการท้องถิ่นยังปล่อยให้นักลงทุนรายย่อยเข้าไปจับจองพื้นที่ริมหาดเกือบทั้งหมด ยินยอมให้สร้างเกสต์เฮาส์หรือรีสอร์ตบนทีดินสาธารณะ อันจะเป็นปัญหาต้องตามแก้ในอนาคต

ทางการเวียดนาม กล่าวว่า ฟุก๊วกมีศักยภาพเต็มเปี่ยมที่จะเป็นปลายทางท่องเที่ยวนานาชาติอีกแห่งหนึ่ง ที่นั่นยังมีหาดทรายขาวสะอาดบริสุทธิ์ มีแหล่งปะการังที่สมบูรณ์ตามธรรมชาติ เป็นสวรรค์ของนักดำน้ำที่หาได้ยาก และใช้เวลาเดินทางเพียงประมาณ 1 ชั่วโมงจากสิงคโปร์และกรุงเทพฯ

ปีที่แล้วมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าฟุก๊วกประมาณ 351,000 คน ในนั้น 78,000 คน เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ

แต่การพัฒนาแบบไม่ปะติดปะต่อกันเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ในเวียดนาม หลายปีก่อนเมื่อก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกแห่งแรกของประเทศใน จ.บ่าเหรียะ-หวุงเต่า (Ba Ria- Vung Tau) แล้วเสร็จ ทุกฝ่ายก็ได้พบว่ายังไม่มีการก่อสร้างถนนสายรอง เพื่อเชื่อมท่าเรือใหญ่เข้ากับทางหลวงสายหลัก

เรื่องนี้ได้เป็นอุปสรรคำสำคัญในการขนส่งสินค้าต่อมาอีกนานนับปี.
กำลังโหลดความคิดเห็น