ASTVผู้จัดการออนไลน์ -- แม้ว่าบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ของไทย จะทำการศึกษาเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังความร้อนจากถ่านหินใน จ.เกาะกง แล้วเสร็จไปแล้วก็ตาม ผู้นำกัมพูชาได้ขอให้บริษัทผู้ผลิตพลังงานจากไทย ศึกษาผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมอีกครั้งหนึ่ง และคราวนี้ “อย่างเป็นอิสระ” โฆษกของนายกรัฐมนตรีกัมพูชาเปิดเรื่องนี้ และสำนักข่าวของรัฐบาลรายงานในวันพุธ 8 ก.พ.
เรื่องนี้ยังเกิดขึ้นหลังจากเมื่อเดือนที่แล้ว รัฐบาลพม่าได้ประกาศล้มโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนจากถ่านหินขนาด 4,000 เมกะวัตต์ อันเป็นโครงการร่วมทุนระหว่างบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี ในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย โดยอ้างความห่วงใยผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม
นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ฮุนเซน ได้เสนอดังกล่าวต่อ นายนพพล มิลินทางกูร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี ที่เข้าพบหารือเรื่องนี้ที่บ้านพักในวันจันทร์ 6 ก.พ.ที่ผ่านมา นายเอียง ศุภเลธ (Ieng Sophaleth) ผู้ช่วยของฮุนเซน กล่าว ทั้งนี้ เป็นรายงานของสำนักข่าวกัมพูชา
ในการพบปะครั้งนี้นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ได้แสดงการสนับสนุนโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 1,800 เมกะวัตต์ ของกลุ่มเกาะกงอุตสาหกรรม (Koh Kong Industrial Group) ที่บริษัทพลังงานของไทยถือหุ้นใหญ่ โดยมองว่าจะอำนวยประโยชน์ให้แก่ทั้งไทยและกัมพูชาที่ต่างต้องการพลังงานเพื่อในการพัฒนาประเทศ
แต่ขณะเดียวกัน นรม.กัมพูชาได้เสนอให้ “มีการศึกษาผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมอีกครั้งหนึ่งอย่างอิสระ” นายศุภเลธ กล่าว
วันที่ 9 ม.ค.ปีนี้ รัฐบาลพม่าได้สร้างความแปลกใจ โดยจู่ๆ ก็ประกาศยกเลิกโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนถ่านหินในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายภายใต้การลงทุนของกลุ่มบริษัท อิตาเลียนไทย ซึ่งจะถือหุ้น 70% ในโครงการ และ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี ถือหุ้นในส่วนที่เหลือ
เดือน ก.ย.ปีที่แล้วรัฐบาลประธานาธิบดี เต็งเส่ง ได้ประกาศยกเลิกโครงการก่อสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำมี๊ตโสนของนักลงทุนจีนในรัฐกะฉิ่น การล้มโครงการเขื่อนขนาด 8,000 เมกะวัตต์ ด้วยเงินลงทุนกว่า 3,000 ล้านดอลลาร์ โดยอ้างว่าได้รับการต่อต้านจากประชาชน ทำให้รัฐบาลจีนตื่นตระหนกมิใช่น้อย
.
.
ใน จ.เกาะกง ก็มีความตื่นตัวเกี่ยวกับการอนุรักษ์สภาพแวดล้อมไม่แพ้กัน เมื่อปีที่แล้วองค์กรภาคเอกชนที่ไม่สังกัดรัฐบาล กับกลุ่มนักลงทุนในโครงการการท่องเที่ยวต่างๆ ได้รณรงค์อย่างแข็งขันต่อต้านการดูดทรายในแม่น้ำเกาะกงของกลุ่มทุนใหญ่ลียงพัด หรือ “พัด สุภาพา” ซึ่งเป็นวุฒิสมาชิกสังกัดพรรคประชาชนกัมพูชาของฮุนเซน ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะได้ออกคำสั่งห้ามการดูดทรายเพื่อส่งออกในขอบเขตทั่วประเทศแล้วก็ตาม
สภาพแวดล้อมของ จ.เกาะกง เสื่อมโทรมอย่างหนักในช่วงสงครามกลางเมือง ทางการต้องตัดไม้ในป่าออกจนโล่งในรัศมี 200 กม.จากตัวเมือง อันเป็นมาตรการหนึ่งเพื่อป้องกันการถูกโจมตีจากกลุ่มกองโจรเขมรแดง
เมื่อสงครามกลางเมืองยุติลงในปี 2532 สภาพแวดล้อมของ จ.เกาะกง ยังถูกทำลายอย่างต่อเนื่อง ราษฎรได้บุกรุกป่าไม้โกงกางชายฝั่งทะเลและตัดโค่นจนโล่งเตียน นำไปเผาถ่านส่งจำหน่ายให้ไทยเพื่อให้มีรายได้
ในช่วงกว่า 10 ปีมานี้ ป่าชายเลนเกาะกงได้รับการฟื้นให้กลับคืนมาในเนื้อที่ราว 30,000 ไร่ ด้วยความร่วมมือช่วยเหลือขององค์การระหว่างประเทศ รัฐบาลของหลายประเทศ รวมทั้งธนาคารพัฒนาเอเชีย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในอนุภูมิภาคแม่น้ำโขง
ปีที่แล้วรัฐบาลกัมพูชาได้เลิกล้มโครงการเหมืองแร่ไททาเนียม มูลค่ากว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ของนักลงทุนต่างชาติ เนื่องจากจะสร้างความหายนะให้กับผืนป่าอันสมบูรณ์ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ
อย่างไรก็ตาม เหนือขึ้นไปจากตัวเมืองในเขตพนมกระวัญ (พนมกระวาน) ซึ่งเป็นเขตชีวะนานาพันธุ์สมบูรณ์ที่สุดอีกแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังมีการก่อสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าหลายแห่ง และกำลังจะสร้างอีกหลายแห่ง รวมทั้งเขื่อนสตึงนาม (Stung Nam) ซึ่งเป็นโครงการร่วมมือที่ชายแดนระหว่างไทย-กัมพูชา ด้วย
แต่ต่างไปจากไฟฟ้าพลังความร้อนจากถ่านหินก็คือ ไฟฟ้าจากเขื่อนได้รับการยอมรับเป็น "พลังงานสะอาด".