เอเอฟพี - สหรัฐฯแสดงความยินดีกับข่าวการเลื่อนการอนุมัติสร้างเขื่อนไฟฟ้าในลาวของ 4 ชาติสมาชิกอาเซียน เพราะหวั่นผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นกับแม่น้ำโขง
ลาวไม่ประสบผลสำเร็จในการหารือที่หวังจะได้รับเสียงสนับสนุนจากกัมพูชา ไทย และเวียดนาม ในการเดินหน้าก่อสร้างเขื่อนไฟฟ้าไซยะบูลี มูลค่า 3,800 ล้านดอลลาร์ ที่นักเคลื่อนไหวระบุว่า อาจสร้างผลกระทบต่อประชาชนมากถึง 60 ล้านคน ที่ใช้ชีวิตพึ่งพาแม่น้ำสายนี้
ในระหว่างการประชุมกับประเทศลุ่มแม่น้ำโขงเมื่อเดือน ก.ค.นายมาร์ค โทนเนอร์ โฆษกของนางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุว่า นางคลินตัน ยังมีประเด็นคำถามเกี่ยวกับการสร้างเขื่อนแห่งนี้ และปัญหาสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นได้ และว่า การเลื่อนเวลาการสร้างเขื่อนออกไปนับเป็นสัญญาณที่ดี
วุฒิสมาชิกสหรัฐฯ จิม เว็บบ์ ที่เป็นหัวหน้าคณะอนุกรรมการวุฒิสภาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศภาคพื้นเอเชียตะวันออก และเคยวิจารณ์การก่อสร้างเขื่อน กล่าวถึงการเลื่อนเวลาการก่อสร้างเขื่อนในครั้งนี้ว่าเป็นขั้นตอนสำคัญที่มีต่อนโยบายความรับผิดชอบ
“สหรัฐฯและประชาคมโลกมีภาระผูกพันเชิงกลยุทธ์ และคุณธรรมในการรักษาสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คนที่ดำรงชีวิตและมีวิถีชีวิตอยู่กับแม่น้ำโขง” เว็บบ์ กล่าวในแถลงฉบับหนึ่ง
ในการประชุมวานนี้ (8 ธ.ค.) ที่กัมพูชา ประเทศลุ่มแม่น้ำโขงได้เรียกร้องให้มีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนและผลกระทบของโครงการ ที่จะเป็นเขื่อนแห่งแรกจากทั้งหมด 11 แห่ง บนแม่น้ำโขงตอนล่าง
กัมพูชา และ เวียดนาม เกรงถึงผลกระทบจากเขื่อนไซยะบูลีขนาด 1,260 เมกะวัตต์ ต่อการทำฟาร์มและอุตสาหกรรมประมงของประเทศ แต่ไทยเห็นชอบกับการสร้างเขื่อนและได้ตกลงที่จะซื้อไฟฟ้าถึง 95% ที่ผลิตได้จากเขื่อนแห่งนี้
ทางด้านฝ่ายบริหารของประธานาธิบดี บารัค โอบามา ได้เริ่มโครงการความร่วมมือริเริ่มอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง (Lower Mekong Initiative) เพื่อหวังให้เกิดความร่วมมือกันด้านสาธารณสุข สิ่งแวดล้อม และการศึกษาในประชาชนของภูมิภาค ที่เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามสร้างความสัมพันธ์กับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้