ASTVจัดการออนไลน์ – ในช่วงปีหลังสงครามเอเชียบูรพา ขบวนการเวียดนามรักชาติในภาคใต้ได้รวมตัวกันต่อสู้เจ้าอาณานิคมฝรั่งเศส ที่หวังจะกลับไปยึดครองอีกครั้งหนึ่งหลังจากถอนตัวหนีญี่ปุ่นไปได้เพียง 1 ปี และ กรุงเทพฯ ได้กลายเป็นแหล่งขายอาวุธหลักในปฏิบัติการดังกล่าว ชาวเวียดนามรักชาติซื้ออาวุธในเมืองหลวงของไทย ก่อนใข้เรือขนกลับประเทศ
สื่อของทางการรายงานเรื่องนี้โดยอ้างบันทึกส่วนตัวของผู้นำการลักลอบขนอาวุธ ที่เขียนขึ้นในอีก 50 ปีต่อมา
เดือน ต.ค.ที่ผ่านมา ทางการเวียดนามเพิ่งจัดรำลึกครบรอบ 50 ปี การก่อตั้งกองเรือหน่วยหนึ่ง เพื่อลักลอบขนอาวุธจากเวียดนามเหนือสู่สมรภูมิในเวียดนามใต้ เพื่อต่อสู้กับรัฐบาลไซ่ง่อนและกองทัพสหรัฐฯ
เส้นทางขนอาวุธจากเวียดนามเหนือผ่านทะเลจีนใต้ ได้ทำให้เกิดการขนานนามเป็น “ถนนโฮจิมินห์ทางทะเล” เคียงคู่กับเส้นทางขนอาวุธทางบกที่ตัดผ่านดินแดนลาวและกัมพูชาในครั้งสงคราม
อย่างไรก็ตาม การขนอาวุธโดยทางเรือมีมานานก่อนหน้านั้น คือย้อนหลังไปในปี พ.ศ.2489 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2-สงครามเอเชียบูรพา 1 ปี ซึ่งภูมิภาคนี้เต็มไปด้วยอาวุธตกค้าง และ เป็นประโยชน์สำหรับการต่อสู้เพื่อเอกราชของชาวเวียดนาม ให้พ้นแอกอานของเจ้าอาณานิคม
ในปีดังกล่าว ซเวือง กวาง โด่ง (Duong Quang Dong) ที่ใช้ชื่อจัดตั้งว่า “นามโด่ง” (Nam Dong) และ กัปตันเรือที่ชื่อ เล วัน โหมด (Le Van Mot) กลายเป็นคณะแรกที่ออกปฏิบัติภารกิจเสี่ยงตาย
วันที่ 20 ก.พ.2489 ทั้งคู่แล่นเรือออกจากคลองเบียนญิ (Bien Nhi) จ.ก่ามาว (Camau) ทางตอนใต้สุดของประเทศ พร้อมทองคำ 25 กก.จากทั้งหมด 33 กก.ที่ได้รับบริจาคจากชาวเวียดนาม แล่นข้ามอ่าวไทยมุ่งสู่กรุงเทพฯ เพื่อหาซื้ออาวุธ พวกเขาใช้เวลา 2 วันในการเดินทาง
นามโด่งไปสืบเสาะหาประชาคมชาวเวียดนามรักชาติในประเทศไทย และได้พบกับเจิ่นวันเกิ่ว (Tran Van Giau) กับ ภิกษุบ๋ง-วัน-ยเหวีย (Bong Van Dia) แห่งวัดเบาอาน (Bao An) โดยสื่อเวียดนามไม่ได้ระบุว่าวัดแห่งนี้ตั้งอยู่ ณ ที่แห่งใดในกรุงเทพฯ
ตามบันทึกที่นามโด่งเขียนในปี 2539 อาวุธที่หาซื้อได้ในกรุงเทพฯ ถูกนำไปเก็บรวบรวมไว้ที่วัดแห่งนี้ และขนไปลงเรือในกัมพูชาอีกทอดหนึ่งก่อนนำกลับไปเวียดนาม
“โด่งใช้เกวียนหลายเล่ม ช้างอีก 10 เชือก ใช้คนงานชาวเวียดนามกับชาวเขมรอีก 70 คนขนอาวุธจากกรุงเทพฯ ลงเรือเข้ากัมพูชาและต่อไปยังภาคใต้เวียดนามโดยใช้เรือลำใหญ่กว่าเดิม..”
“ภิกษุบ๋ง-วัน-ยเหวีย ได้ร่วมไปกับกลุ่มคนงานด้วย เพื่อคลายความระแวงสงสัยของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น (ในไทย) รวมเป็นอาวุธทั้งหมด 14 ตัน ต้องใช้เรือขน 2 ลำ" หนังสือพิมพ์เตื่อยแจ๋รายงานอ้างบันทึกของนามโด่ง
2
อาวุธถูกนำกลับไปยังเวียดนามอย่างปลอดภัย ยกเว้น 10 ตัน ซึ่งเจอพายุคลื่นลมแรงต้องแอบหลบที่เกาะเล็กๆ แห่งหนึ่งห่างจากฝั่งเวียดนามเพียงประมาณ 10 ไมล์ทะเล ก่อนจะส่งถึงประเทศในอีก 1 เดือนต่อมา สื่อของทางการกล่าวโดยไม่ได้ระบุวันเดือนปีที่ขนอาวุธลอตแรกนี้
อย่างไรก็ตาม จนถึงปี 2495 กลุ่มผู้รักชาติเวียดนาม ขนอาวุธผ่านอ่าวไทยได้ถึง 97,000 ตัน จนกระทั่งรัฐบาลไทยในยุคนั้นถูกโค่นล้มจากการทำรัฐประหาร และ ชาวเวียดนามตีโต้ฝรั่งเศสให้ถอยร่นไปเรื่อยๆ จนได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาดในปี 2497 ในสมรภูมิเดียนเบียนฟูที่อยู่ติดชายแดนลาวทางภาคเหนือ
สื่อของทางการมิได้เปิดเผยรายชื่อของบุคคลใดๆ ในการติดต่อซื้ออาวุธในกรุงเทพฯ และ ไม่ได้เปิดเผยเกี่ยวกับชื่อของสถานที่ใดๆ ในช่วงปีดังกล่าวเช่นกัน
นั่นคือ จุดเริ่มต้นของการลักลอบขนอาวุธ กลับไปทำสงครามในประเทศ ก่อนขบวนการขนอาวุธที่ใหญ่โตกว่าจากเวียดนามเหนือผ่านทะเลจีนใต้ ลงไปต่อสู้กับกองทัพสหรัฐฯ ในเวียดนามใต้จะเริ่มขึ้นในปี 2504
แต่ต่างไปจากการซื้ออาวุธจากไทยและขนผ่านอ่าวไทย การขนอาวุธผ่านทะเลจีนใต้มีอันตรายยิ่งกว่า เพราะจะต้องหลบเลี่ยงการตรวจค้น หรือการตรวจจับของฝ่ายรัฐบาลไซ่ง่อนกับสหรัฐฯ ที่มีเรือรบอยู่เต็มทะเล
โดยปกติเรือขนอาวุธจากเวียดนามเหนือจะแล่นขึ้นเหนือเข้าน่านน้ำจีนหรือบางครั้งไปจนถึงฮ่องกง ก่อนจะแล่นลงใต้มุ่งสู่เวียดนามภาคใต้ ทั้งนี้เพื่อตบตากองทัพสหรัฐฯ
นามโด่งกับเลวันโหมตได้เข้าร่วมภารกิจเสี่ยงภัยอีกครั้งหนึ่งในช่วงปีแรกๆ ของ "สงครามสหรัฐฯ" บุคคลทั้งสองขนอาวุธจากกรุงฮานอยจำนวน 30 ตันผ่านทะเลจีนใต้ลงสู่แนวหน้าในภาคใต้ได้อย่างปลอดภัย เตื่อยแจ๋กล่าว
อย่างไรก็ตาม ขบวนการลักลอบขนอาวุธผ่าน “ถนนโฮจิมินห์ทางทะเล” เป็นวีรกรรมอันยิ่งใหญ่ เวียดนามได้จัดตั้งกองเรือเสี่ยงตายขึ้นมากองหนึ่งเพื่อภารกิจนี้โดยเฉพาะ เรือขนอาวุธทุกลำยึดถือหลักการอย่างเคร่งครัด จะต้องไม่ให้ถูกจับได้ หรือ หากถูกตรวจจับได้จะต้องต่อสู้จนวาระสุดท้าย และ ทุกคนสละชีพพร้อมอาวุธทั้งหมด
ตามบันทึกของกองทัพประชาชนเวียดนาม ทหารเรือคอมมานโดหน่วยนี้สละชีพไปจำนวนไม่น้อยในช่วงสงคราม
ปัจจุบันหน่วยกล้าตายดังกล่าว ได้รับเชิดชูเกียรติให้เป็นกองเรือวีรชนในสังกัดกองทัพประชาชนเวียดนาม ถึงวันนี้ ก็เป็นเวลา 50 ปีพอดี เตื่อยแจ๋กล่าว
รำลึก 50 ปีกองเรือวีรชน by Rueters
3
4
5
6