ASTVผู้จัดการออนไลน์ -- ทางการ จ.บิ่งทวน (Binh Thuan) ในภาคกลางตอนล่าง กำลังจะเริ่มขุดค้นตามข้อมูลที่ค้นพบใหม่ เพื่อหาขุมทรัพย์ที่เชื่อว่ามีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่ง “อินเดียนา โจนส์” วัย 96 ปี นายฟานวันเตียบ (Phan Van Tiep) อดีตทหารที่เคยต่อสู้กับกองทัพพระจักรพรรดิแห่งญี่ปุ่นในช่วงสงครามเอเชียบูรพา กับนักล่าสมบัติในท้องถิ่นอีกหลายคน ค้นหามากว่า 20 ปี
ทางการจังหวัดได้ว่าจ้างบริษัทสำรวจธรณีศาสตร์แห่งหนึ่ง ศึกษาถ้ำใต้ภูเขาด้วยเครื่องมือทันสมัย โดยเชื่อว่า เป็นแหล่งซุกซ่อนขุมทรัพย์ และได้พบว่าเบื้องล่างลึกลงไปราว 100 เมตร มีโครงสร้างเป็นหลุมกว้าง 10 เมตร ยาว 200 เมตร และ ลึกประมาณ 50 เมตร และ เต็มไปด้วยโลหะ อันอาจจะเป็น “โลหะที่มีในธรรมชาติหรือโลหะที่สร้างขึ้นโดยมนุษย์”
ข้อมูลที่พบใหม่ได้ช่วยจุดประกายความหวัง หลังจาก นายเตียบ พยายามค้นหามาตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษที่ 1980 และทุ่มเงินทองไปนับหมื่นๆ ดอลลา ร์แต่ก็ยังหาไม่เจอ ซ้ำยังถูกผู้คนกล่าวหาว่า เป็นสติเฟื่อง ไม่สมประกอบ
ข้อมูลที่พบใหม่ทำให้ทางการจังหวัดตัดสินใจขุดค้น และจะเป็นค้นหาครั้งสุดท้าย เพื่อปิดตำนานขุมทรัพย์พระจักรพรรดิ ที่คนส่วนใหญ่เชื่อว่าเป็นเพียงเรื่องเพ้อฝัน หนังสือพิมพ์ฟ้าบหลวต (Phap Luat) ของกระทรวงความมั่นคงภายในรายงาน
การสำรวจทางธรณีศาสตร์ครั้งล่าสุดนี้ สำนักงานวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยวของจังหวัดลงทุนเอง หลังจาก “อินเดียนา เตียบ” เงินหมด แต่การสำรวจศึกษาด้วยเทคโนโลยีทันสมัยได้ผลอย่างน่าตื่นเต้น ทางการจังหวัดจะใช้เวลาเตรียมการระยะหนึ่ง เพื่อเริ่มการขุดค้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ฟ้าบหลวต กล่าว
ตำนานนี้เริ่มขึ้นเมื่อผู้คนในนครโฮจิมินห์ค้นพบหลักฐานมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า มีสมบัติพระจักรพรรดิซ่อนอยู่ใต้ภูเขาที่มีชื่อว่า “เติ่ว” แต่การค้นหาที่ผ่านมายังไม่เคยมีใครพบอะไร ยกเว้น นายเตียบ ซึ่งเป็นชาวนครหายฝ็อง (หรือ “ไฮฟอง”) พบของเก่าหลายรายการ รวมทั้งสิ่งที่เข้าอ้างว่า “หลักฐานใหม่ๆ” อีกจำนวนมาก
.
.
“อินเดียนา เตียบ” กล่าวว่า เมื่อกองทัพจักรพรรดิญี่ปุ่นยอมแพ้ในปี 2498 นายพลโตโมะยุกิ ยามาชิตะ (Tomoyuki Yamashita) แม่ทัพ ได้สั่งให้ทหารนำทองกับเพชรนิลจินดาน้ำหนักราว 4,000 ตัน ไปฝังในบริเวณอ่าวก๋านา (Cana) รอยต่อระหว่าง จ.บิ่งทวน กับ จ.นีงทวน (Ninh Thuan) ประมาณค่าราว 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
หลายปีหลังสงครามยุติ มีอดีตทหารญี่ปุ่นจำนวนหนึ่งกลับไปที่นั่นหลายครั้ง รวมทั้งอดีตนายทหารที่ชื่อ “นากามุระ” (Nakamura) ด้วย แต่ไม่พบร่องรอยใดๆ เนื่องจากสภาพทางภูมิศาสตร์ได้เปลี่ยนไปหมดแล้ว
นายเตียบ ได้ขออนุญาตต่อทางการจังหวัดโดยถูกต้องตามกฎระเบียบเพื่อ “สำรวจหาแร่โลหะ” และ ปี 2536 ได้ว่าจ้างนักธรณีวิทยาคนหนึ่งไปช่วย จนค้นพบมีดดาบทหารญี่ปุ่นกับฝักที่สนิมเกรอะ พบธนบัตร 10,000 เยน กับ แผ่นโลหะทำด้วยทองคำแท้สลักเป็นรูป “มังกรดำ” สำหรับประดับเครื่องแบบนายทหาร ที่เข้าใจว่าจะเป็นรางวัลสำหรับความกล้าหาญในสนามรบของผู้เป็นเจ้าของและเข็มกลัดทหารอีก 1 อัน ทั้งสองรายการนี้ทำด้วยทอง
ตั้งแต่นั้นมา "อินเดียน่า เตียบ" เดินทางเข้าไซ่ง่อนและฮานอยหลายต่อหลายครั้งเพื่อค้นหาหลักฐานเพิ่มเติมจนแน่ใจแต่เงินได้หมดลง และ ถ้าหากจะ “สำรวจหาแร่โลหะ” ต่อไปจะต้องวางเงิน 512,000 ดอลลาร์เป็นเงินประกัน ในกรณีที่ “เหมือง” ส่งความเสียหายต่อสภาพแวดล้อม ฟ้าบหลวตกล่าว
เสียงเล่าลือเกี่ยวมหาสมบัติพระจักรพรรดิทำให้ทุกฝ่ายอยู่ไม่สุข ทางการจังหวัดจึงลงทุนว่าจ้างบริษัทเอกชนดังกล่าวทำการสำรวจทั่วอาณาบริเวณ นอกจากจะคลำหาร่องรอยขุมทรัพย์ญี่ปุ่นแล้ว ยังถือโอกาสสำรวจแหล่งแร่ในท้องถิ่นที่ร่ำรวยด้วยไตตาเนียมอีกด้วย.