รอยเตอร์ - รายงานที่เผยแพร่เมื่อวันพุธระบุว่าทหารพม่าบังคับให้อาชญากรที่ถูกตัดสินโทษทำงานเป็นลูกหาบและเป็นโล่มนุษย์ในระหว่างการสู้รบ และเรียกร้องให้สหประชาชาติดำเนินการสืบสวน
รายงานที่เป็นความร่วมมือระหว่างองค์กรสิทธิมนุษยชน ฮิวแมนไรต์วอตช์ ในนิวยอร์ก กับ กลุ่มสิทธิมนุษยชนกะเหรี่ยงฮิวแมนไรต์ ที่มีสำนักงานอยู่บริเวณพรมแดนไทย-พม่า ระบุว่าลูกหาบเหล่านี้ถูกสั่งการให้อยู่แนวหน้าหรือถูกส่งให้ไปสำรวจเส้นทางที่เต็มไปด้วยกับระเบิด ใน “ปฏิบัติอย่างเป็นระบบ” ที่ย้อนหลังกลับไปในปี 1992
ลูกหาบนักโทษเหล่านี้จะถูกบังคับให้แบกกระสุน อาหาร และสิ่งของอื่นๆ ให้กับกองทัพ โดยไม่ได้รับอาหาร ที่พัก หรือการเข้าถึงการรักษาพยาบาลอย่างเพียงพอ ในช่วงเวลาหลาย 10 ปี ที่กองทัพพม่าต่อสู้กับกองกำลังของกบฎชนกลุ่มน้อยที่หาทางแยกตัวเป็นอิสระตามแนวพรมแดนทางตะวันออกและทางเหนือของประเทศ
รายงานฉบับดังกล่าวยังเรียกร้องให้สมัชชาสหประชาชาติหรือคณะกรรมาธิการด้านสิทธิมนุษยชน จัดตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อตรวจสอบการละเมิดทั้งจากกองทัพพม่าและกลุ่มกบฏ ในการเกณฑ์ทหารเด็ก การใช้กับระเบิด และการบังคับให้พลเรือนเป็นลูกหาบ
“การบังคับเกณฑ์คนและการทารุณของพม่าต่อนักโทษที่ทำหน้าที่เป็นลูกหาบในพื้นที่ขัดแย้งเป็นการละเมิดอย่างร้ายแรงต่อกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศและกฎหมายสิทธิมนุษยชน” รายงานกล่าว ทั้งชี้แนะว่าผู้ที่รับผิดชอบออกคำสั่งหรือผู้มีส่วนร่วมในการกระทำทารุณเช่นนี้ ควรถูกดำเนินคดีฐานอาชญากรรมสงคราม
รายงานเรื่อง “Dead Men Walking” ที่มาจากการสัมภาษณ์ลูกหาบ 58 คน อายุระหว่าง 20-57 ปี ซึ่งหนีรอดมาได้ ถูกใช้งานในปฏิบัตการของกองทัพพม่าในรัฐกะเหรี่ยง และเขตพะโค ตั้งแต่ปี 2553
รายงานระบุว่า ในเดือน ม.ค. มีนักโทษชายประมาณ 1,200 ถูกบังคับให้ทำหน้าที่เป็นลูกหาบในช่วงปฏิบัติการทางทหารครั้งใหญ่ 2 ครั้ง ที่ได้รับการสนับสนุนจากตำรวจ เจ้าหน้าที่เรือนจำและกองทัพ และว่านักโทษส่วนใหญ่ถูกสุ่มเลือก นักโทษเหล่านี้มีทั้งผู้กระทำความผิดร้ายแรง และผู้ที่ถูกตัดสินความผิดในคดีอาชญากรรมเล็กๆ น้อยๆ เช่นการทะเลาะ หรือทุจริต ที่มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึงมากกว่า 20 ปี และนักโทษจำนวนมากไม่คุ้นเคยกับภาษาท้องถิ่นและภูมิประเทศ จึงเป็นการยากที่คนเหล่านี้จะหลบหนี
“การใช้ลูกหาบที่เป็นนักโทษจึงเป็นทางออกที่ราคาถูกและง่าย” รายงานกล่าว
กลุ่มสิทธิมนุษยชนได้เรียกร้องให้มีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการสอบสวนในอาชญากรรมสงครามที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำการโดยทหารพม่า ทั้งการบังคับพลเรือน ความรุนแรงทางเพศ การทรมาน และการฆาตกรรม
แต่ไม่ว่าจะรัฐบาลทหารพม่าในอดีตหรือรัฐบาลพลเรือนชุดใหม่ ต่างทราบถึงอาชญากรรมดังกล่าวที่เกิดขึ้น แต่ความต้องการของประชาคมนานาชาติที่ต้องการให้พม่าปฏิรูปสิทธิมนุษยชนกลับถูกเพิกเฉย จึงเป็นผลให้พม่าถูกคว่ำบาตร รายงานกล่าว
การเรียกร้องให้มีการสอบสวนได้รับความสนับสนุนจาก 16 ประเทศ รวมทั้งสหรัฐฯ อังกฤษ ออสเตรเลีย แต่จากประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน ที่มีพม่าเป็นสมาชิกด้วยนั้นไม่ได้รับการตอบสนองแต่อย่างใด