ASTVผู้จัดการออนไลน์ -- สวนสัตว์ฮานอยนำลูกเสือโคร่งพันธุ์อินโดจีน เพศผู้วัย 2 เดือน 4 ตัว ออกให้ประชาชนได้เข้าชม เป็นครั้งแรกวันพุธ 22 มิ.ย.ที่ผ่านมา หลังจากครอบครัวนี้ ผ่านเรื่องร้ายๆ มามากมาย บัดนี้สี่แม่ลูกอาศัยอยู่อย่างเป็นสุข แม้จะอยู่ในอาณาบริเวณที่มีรั้วรอบขอบชิดแต่ก็ปลอดภัยจากพรานป่า
เจ้าตัวเล็กทั้งสี่เกิดวันที่ 2 เม.ย.และเป็นเรื่องบังเอิญยิ่งที่เกิดวันเดียวกับคุณแม่หมี่ (Mi) คือ วันที่ 2 เม.ย.2526 หรือ 8 ปีที่แล้ว
ตามรายงานของสำนักข่าวซเวินจี๊ “หมี่” ตกจาก “เลิมหญี” (Lam Nhi) คุณยายของเจ้าสามตัวเล็ก ซึ่งเจ้าหน้าที่จับยึดได้จากพวกนักค้าสัตว์ป่าใน จ.เถือะเทียนเหว (Thua Thien Hue) ติดชายแดนแขวงสาละวัน และสะหวันนะเขต ลาว เสียชีวิตไปแล้ว
สำนักข่าวภาษาเวียดนาม ไม่ได้พูดถึงคุณพ่อของหนุ่มๆ พวกนี้ แต่สวนสัตว์ฮานอย มีแผนจะจัดประกวดตั้งชื่อให้ทั้ง เนื่องจากเป็นโคร่งอินโดจีนจากป่าครอกแรก ที่เกิดในสวนสัตว์
ทางการเวียดนามเป็นกังวลต่อการไล่ล่าเสือโคร่งที่อาศัยในธรรมชาติ ซึ่งตัวเลขของกองทุนเพื่อสัตว์ป่าระหว่างประเทศ World Wildlife Fund ระบุว่า อาจจะมีเหลืออยู่เพียงประมาณ 30 ตัวเท่านั้น ในผืนป่าชายแดนติดกัมพูชา และลาว
ตลาดย่านเอเชียตะวันออก มีความต้องการกระดูกของเสือสูงมาก เพื่อนำไปทำยาอายุวัฒนะ เนื้อของเสือยังเป็นอาหารชั้นเลิศในภัตตาคารหรู นิยมรับประทานเป็นอาหารบำรุงสุขภาพให้แข็งแรง และบำรุงสุขภาพทางเพศอีกด้วย หลายปีมานี้ในเวียดนามจับยึดเสือโคร่งแช่แข็งและโคร่งชำแหละได้นับสิบตัว
เดือน พ.ย.ปีที่แล้ว นายกรัฐมนตรีเวียดนาม เหวียนเติ๋นยวุ๋ง เดินทางไปร่วมประชุมกับผู้นำอีก 13 ประเทศ ที่ยังมีประชากรเสือในธรรมชาติ เพื่อหาทางอนุรักษ์เจ้าแมวยักษ์พวกนี้ การประชุมจัดขึ้นในนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก รัสเซีย
ตามข้อมูลของกองทุนอนุรักษ์เสือของธนาคารโลก เมื่อศตวรรษที่แล้ว สัตว์ที่ยิ่งใหญ่นี้มีจำนวนไม่น้อยกว่า 100,000 ตัว แต่ตกเป็นเหยื่อของพรานป่าที่ตามล่า เพื่อนำเอาชิ้นส่วนต่างๆ ไปขาย เพื่อใช้ประกอบยาแก้สารพัดโรค ตามความเชื่อที่ยึดถือกันมานานนับพันปี ชิ้นส่วนต่างๆ ตั้งแต่หนังจนถึงเครื่องในทุกชิ้น อุ้งเท้า กระทั่งหนวด ล้วนขายได้ราคาดี
อินเดียเป็นประเทศที่มีการล่าเสือโคร่งมากที่สุด และจีนเป็นแหล่งบริโภคเสือใหญ่ที่สุดในโลก ทั้งนี้ เป็นรายงานของ TRAFFIC องค์กรภาคเอกชนที่เฝ้าติดตามชะตากรรมของแมวยักษ์มานานหลายปี
เข้าร่วมประชุมยังประกอบด้วย ผู้แทนจาก บังกลาเทศ ภูฏาน กัมพูชา จีน อินเดีย อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย พม่า เนปาล และ ไทย ด้วย
การถูกคนบุกรุกและทำลายถิ่นที่อยู่อันมีลักษณะพิเศษของพวกมัน การขยายตัวทางของอุตสาหกรรม เหมืองแร่และการตัดไม้ ตัดถนนเข้าป่า ล้วนมีส่วนช่วยทำให้สูญพันธุ์เร็วขึ้น WWF กล่าวว่า หากไม่มีการดำเนินการใดๆ เสือโคร่งจะหมดไปโลกภายใน 12 ปีข้างหน้า
ปัจจุบันลายพาดกลอนพันธุ์ท้องถิ่นอินโดจีน อาจเหลืออยู่ในธรรมชาติระหว่าง 350-700 ตัวเท่านั้น ราว 100 ตัวอยู่ในประเทศไทย อีกราว 30 ตัวกระจายกันอยู่ในเวียดนามและกัมพูชา ส่วนลาวรายงานว่าเหลืออยู่ราว 20 ตัวในป่าสงวนน้ำแอดภูเลย ชายแดนแขวงหัวพันติดเวียดนาม
เคยมีเสือโคร่งอาศัยอยู่ในโลกนี้ 8 ชนิด แต่ 3 ชนิดสูญพันธุ์ไปแล้ว คือ โคร่งบาหลี โคร่งแคสเปียน กับโคร่งชวา ขณะที่เสือโคร่งพันธุ์จีนที่อาศัยอยู่ในแถบตอนใต้ของประเทศ ไม่มีผู้พบเห็นในธรรมชาติมาตั้งแต่ปี 2526
อีก 4 ชนิด คือ โคร่งอามูร์ในรัสเซีย มีไม่ถึง 500 ตัว โคร่งเบงกอลระหว่าง 1,700-2,000 ตัว โคร่งสุมาตรา 400 กับโคร่งมลายูอีก 200-500 ตัว