ASTVผู้จัดการออนไลน์ – กรณีพิพาทในทะเลจีนใต้ระหว่างจีน-เวียดนาม จีน-ฟิลิปปินส์ ขยายออกไปไกลถึงสิงคโปร์ หนังสือพิมพ์ในฟิลิปปินส์ รายงานในวันนี้ ว่า เรือพิฆาตที่น่าเกรงขามที่สุดลำหนึ่งของกองทัพเรือสหรัฐฯ จอดคุมเชิงอยู่ที่ฐานทัพเรือชางงีใกล้ๆ กับบริเวณที่เรือตรวจการณ์ลำใหญ่ที่สุดของจีน เข้าทอดสมอในวันจันทร์ 20 มิ.ย.ที่ผ่านมา
เรื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างบังเอิญ แต่เกิดขึ้นขณะที่การฝึกซ้อมทางทะเลระหว่างกองทัพเรือสหรัฐฯ กับของเรือของหลายประเทศอาเซียนกำลังจะเริ่มขึ้น เช่นเดียวกับการฝึกซ้อมต่อต้านการก่อการร้ายอีกวงหนึ่งที่นำโดยสหรัฐฯ และทั่วทั้งน่านน้ำกำลัง เต็มไปด้วยการดักและล้วงความลับของอีกฝ่ายหนึ่ง
นับเป็นครั้งแรกที่มีการเปิดเผยตำแหน่งที่ตั้งของเรือพิฆาตชุงฮูน (USS Chung-Hoon) ที่ได้รับมอบหมายให้เข้าประจำการ “พิทักษ์เส้นทางเดินเรือเสรี” ในน่านน้ำทะเลจีน และจะจอดประจำในทะเลซูลู ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.2554 เป็นต้นไป แต่เรือพิฆาตลำนี้ยังไม่เคยไปถึงที่นั่น
เรือ USS Chung-Hoon จอดรออยู่ก่อนแล้ว ก่อนที่เรือไห่ซุน-31 (Haixun-31) เรือตรวจการณ์ทะเลลำใหญ่ที่สุดของจีนจะเข้าทอดสมอ และก่อนหน้านี้ หนึ่งวันกระทรวงการต่างประเทศสิงคโปร์ออกเรียกร้องให้จีนอธิบายให้ชัดเจน เกี่ยวกับเจตนารมณ์และรายละเอียดต่างๆ ในการประกาศเป็นเจ้าของพื้นที่ 80% ของทะเลจีนใต้
ฐานทัพเรือชางงี ใช้เป็นศูนย์บัญชาการ การฝึก SEACAT (Southeast Asian Cooperation Afloat Training) ที่นำโดยกองเรือสหรัฐฯ มีเรือรบจากฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย บรูไน และจากประเทศไทย เข้าร่วมด้วย ฟิลิปปินส์สตาร์ กล่าว
ไม่มีใครทราบมาก่อนว่า เรือพิฆาตชุงฮูน เข้าทอดสมอที่ฐานทัพชางงี และไม่มีผู้ใดทราบเช่นกันว่าจะเข้าร่วมการฝึก SEACAT ด้วยหรือไม่ เพราะว่าก่อนหน้านั้นมีการประกาศชื่อเรือของกองทัพเรือสหรัฐฯ ที่จะเข้าร่วมจำนวน 3 ลำ ซึ่งไม่มีเรือชุงฮูนอยู่ในนั้นด้วย
.
เรือ USS Chung-Hoon มีกำหนดจะเข้าร่วมการฝึกซ้อมอีกงานหนึ่งที่เรียกว่า CARAT (Cooperation Afloat Readiness and Training) ในทะเลซูลูและรอบๆ หมู่เกาะปาลาวัน ใกล้หมู่เกาะสแปร็ตลีย์ ที่เป็นศูนย์กลางการพิพาทครั้งใหม่ในช่วง 2-3 สัปดาห์มานี้ น.อ.โอมาร์ โตนไซ (Omar Tonsay) โฆษกกองทัพเรือฟิลิปปินส์ กล่าว
“แน่นอนละ... ผมสามารถพูดให้ฟังย่อๆ ได้ว่า ตอนนี้กำลังมีการดักฟังกันมากมาย มีทั้งการสอดแนมและต่อต้านการสอดแนม” ฟิลิปปินส์สตาร์ อ้างคำพูดของแหล่งข่าวทหารอีกผู้หนึ่งที่ไม่ต้องการให้ระบุชื่อ ในขณะที่ฟิลิปปินส์กำลังเตรียมพร้อมรับมือกับ การคุกคามของเรือจีน และกำลังจะเข้าฝึกซ้อมกับสหรัฐฯ และพันธมิตร
พล.อ.เอดูอาร์โด โอบาน (Eduardo Oban) เสนาธิการกองทัพฟิลิปปินส์ ให้สัมภาษณ์ที่เมืองบาเกียว (Baguio City) ทางตอนเหนือสุดของประเทศ ว่า ฝ่ายทหารพร้อมที่จะต่อกรกับการรุกล้ำอธิปไตยของชาติ และได้แต่หวังว่าความขัดแย้งจะสามารถแก้ไขได้ด้วยการทูต
ความตึงเครียดรอบใหม่เริ่มขึ้นในปลายเดือย พ.ค.เวียดนาม กล่าวว่า เรือตรวจการณ์จีนได้ข่มขู่และตัดเคเบิ้ลสำรวจท้องทะเลของเรือสำรวจน้ำมันเวียดนาม ในช่วงเดียวขณะที่ พล.อ.เหลียงกวงเล่ย (Liang Guanglei) รัฐมนตรีกลาโหมจีน กำลังเยือนกรุงมะนิลาอย่างเป็นทางการ เรือจีนได้ล่วงล้ำน่านน้ำฟิลิปปินส์หลายครั้ง
ที่ผ่านมา รัฐบาลประธานาธิบดี เบนีกโน อะคีโน จูเนียร์ (Benigno Aquino Jr) แห่งฟิลิปปินส์ได้ประท้วงจีนไปแล้วอย่างน้อย 6 ครั้ง ฟิลิปปินส์สตาร์ กล่าว
.
.
ประธานาธิบดี อะคีโน กล่าวในวันศุกร์ที่แล้วว่า จุดยืนของฟิลิปปินส์ คือ ต้องป้องกันน่านน้ำและอธิปไตยของตน เพราะว่าฟิลิปปินส์เป็นเพียงหมู่เกาะเล็กๆ เทียบกันไมได้กับแผ่นดินใหญ่ แต่ “เราไม่ต้องการให้ใครมาดันเราไปทางโน้นทีทางนี้ที”
นายอะคีโน กล่าวว่า ฟิลิปปินส์จะไม่เข้าไปแข่งสร้างแสนยานุภาพกับใคร แต่จะปกป้องอธิปไตยของตนอย่างถึงที่สุด
ขณะที่เรือไห่ซุน-31 แล่นผ่านเขตเกาะพาราเซล กับหมู่เกาะสแปร็ตลีย์ ปลายสัปดาห์ที่แล้ว จีนได้ประกาศสมทบ ว่า กำลังจะทำการซ้อมรบในทะเลจีนใต้เป็นเวลา 2 สัปดาห์ แต่กองทัพเรือฟิลิปปินส์กล่าวว่าเป็นเรื่องปรกติ กองทัพเรือฟิลิปปินส์ก็ฝึกซ้อมอยู่บ่อยเช่นกัน
ปลายสัปดาห์ที่แล้วกลุ่มอาเซียน 7 ประเทศ คือ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ลาว และ ไทย ได้ร่วมกันออกเรียกร้องให้แก้ปัญหาพิพาทในทะเลจีนใต้อย่างสันติโดยเคารพกฎหมายทางทะเลของสหประชาชาติ และ เคารพแถลงการณ์ร่วมที่จีนร่วมลงนามกับอาเซียนเมื่อปี 2545 เกี่ยวกับข้อปฏิบัติของฝ่ายต่างๆ ในทะเลจีนใต้
กลุ่มอาเซียนได้เข้าร่วมการประชุมชาติภาคีว่าด้วยกฎหมายทางทะเลปี 2528 ที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาตินครนิวยอร์ก ระหว่างวันที่ 13-17 มิ.ย.2554 ในโอกาสครบรอบปีที่ 21 การใช้กฎหมายดังกล่าว
ระหว่างการประชุมผู้แทนถาวรเวียดนามและฟิลิปปินส์ ได้ออกคัดค้านการประกาศแผนที่รูปตัว “ยู” ในทะเลจีนใต้ของจีน ซึ่งไม่มีกฎหมายระหว่างประเทศรองรับ อาเซียน 7 ประเทศ ยกเว้นบรูไน กัมพูชา และ พม่า ได้ร่วมกันแถลงยืนยันที่จะต้องมีการแก้ปัญหาโดยเคารพกฎหมายทางทะเล