ASTVผู้จัดการออนไลน์-- พูดถึงเฉพาะการผลิตทองคำอย่างเดียว เหมืองภูคำในแขวงเวียงจันทน์ของลาวกำลังจะเป็นแหล่งผลิตใหญ่ที่สุดในประเทศ นำหน้าเหมืองเซโปนในแขวงสะหวันนะเขตซึ่งปัจจุบันเป็นเหมืองแร่ใหญ่ที่สุด ทำรายได้ให้กับรัฐบาลมากที่สุดในหลายปีที่ผ่านมา แต่ทุกอย่างกำลังจะเปลี่ยนไปในปีหน้า
เหมืองภูคำกำลังเร่งก่อสร้างส่วนต่อขยายที่บ้านห้วยทรายซึ่งอยู่ห่างออกไปราว 25 กม. ในเขตสัมปทานเดียวกัน เพื่อเริ่มผลิตในปี 2555 ซึ่งจะทำให้ผลิตทองคำได้ปีละ 100,000 ออนซ์ (หรือ 2,800 กก.) จาก 60,000 ออนซ์ในปัจจุบัน และ จะผลิตเงินกับทองแดงได้มากขึ้นเช่นกัน สื่อของทางการกล่าว
เมื่อรวมกับเหมืองเซโปนในแขวงสะหวันนะเขตแล้ว ทองคำที่ผลิตได้อาจจะสูงกว่า 5,000 กิโลกรัม
แหล่งภูคำมีสายแร่ทองคำกับเงินสมบูรณ์มากกว่าแหล่งอื่นๆ ที่กำลังผลิตหรือขุดสำรวจอยู่ทั่วประเทศขณะนี้ ทั้งนี้เป็นผลจากการศึกษาตลอดเวลากว่า 10 ปี
การเพิ่มผลิตทองคำในยามที่ราคาทองในตลาดโลกนับวันพุ่งขึ้นสูงย่อมเป็นประโยชน์มหาศาลต่อเศรษฐกิจของลาวโดยรวม รัฐบาลจะมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีต่างๆ รวมทั้งจากค่าภาคหลวงเพิ่มขึ้นเป็นเงา
วันที่ 6 พ.ค.2554 รัฐบาลลาวยังได้เซ็นสัญญาเข้าถือหุ้นในบริษัทภูเบี้ยมายนิง (Phu Bia Mining) จำนวน 10% อย่างเป็นทางการ ซึ่งจะทำให้มีรายได้จากส่วนแบ่งตามมูลค่าหุ้นอีกด้วย สำนักข่าวสารปะเทดลาวกล่าว
ก่อนหน้านี้กลุ่มแพนออส (PanAus) หรือ แพนออสเตรเลียนรีสอร์สเซส (Pan Australian Resources) ถือหุ้น 100% ในโครงการ และ การเข้าถือหุ้นของรัฐบาลลาวเป็นไปตามความตกลงที่เซ็นกันตั้งแต่แรก โดยฝ่ายลาวได้อ็อพชั่นที่จะเข้าซื้อหุ้นในสัดส่วนดังกล่าว
นอกจากจะต้องจ่ายอากรกับภาษีต่างๆ บริษัทเจ้าของสัมปทานยังมีภาระต้องช่วยพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในท้องถิ่นตามสัญญาการลงทุนอีกด้วย ปีที่แล้ว PBM ได้ใช้เงิน 12 ล้านดอลลาร์ปรับปรุงถนน กับอีก 21 ล้านดอลลาร์เป็นค่ากระแสไฟฟ้า และ ยังซื้อสินค้าที่ปลูกหรือผลิตในท้องถิ่น สื่อของทางการกล่าว
บริษัทจากออสเตรเลียสำรวจเขตเหมืองแห่งนี้ตั้งแต่ปี 2537 วิกฤตเศรษฐกิจและการเงินในเอเชียปี 2540 ทำให้กิจการชะงักอยู่หลายปี จึงเริ่มสำรวจต่อและเริ่มผลิตในปี 2551 ปี ช้ากว่าเหมืองเซโปนในสะหวันนะเขตถึง 5 ปี และ ในปี 2552 PBM ได้เริ่มการก่อสร้างส่วนขยายบ้านห้วยทรายด้วยเงินลงทุนอีก 150 ล้านดอลลาร์
ปี 2553 เหมืองภูคำผลิตทองแดงได้ 67,000 ตัน แร่เงิน 500,000 ออนซ์ ซึ่งมากเป็นประวัติการณ์ และ เมื่อเหมืองบ้านห้วยทรายแล้วเสร็จคาดว่าจะผลิตเงินเพิ่มขึ้นเป็น 700,000 ออนซ์ต่อปี ทองแดงอีก 80,000 ตัน สื่อของทางการกล่าว
ใต้ลงไปในในเขตเมือง (อำเภอ) วีละบูลี สะหวันนะเขต เหมืองเซโปนของกลุ่ม Minmetals Group จากจีนผลิตทองคำได้น้อยลงในไตรมาสแรกปีนี้แต่ก็ยังคงเป้าทั้งปีสูงเช่นเดิม และ ยังผลิตทองแดงได้มากขึ้น นี่คือเหมืองทองใหญ่ที่สุด ทำรายได้ให้ลาวหลายร้อยล้านดอลลาร์นับตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา
(โปรดเลื่อนลงเพื่ออ่านต่อ)
.
2
3
4
5
6
ระหว่างเดือน ม.ค.-มี.ค. เหมืองเซโปนโดยเอ็มเอ็มจีล้านช้างมิเนอรัลส์ (MMG Lane Xang Minerals Ltd) ผลิตแผ่นทองแดงได้ 18,454 ตัน เพิ่มขึ้น 7% เทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้ว บริษัทนี้ลงทุนอีก 60.4 ล้านดอลลาร์สร้างส่วนต่อขยาย การก่อสร้างแล้วเสร็จในต้นปี 2554 ซึ่งจะทำให้ผลิตทองแดงเพิ่มขึ้นราว 25% ต่อปี และเป้าในปีนี้คือ 80,000 ตัน
การสำรวจเพิ่มเติมที่ประกาศผลปีที่แล้วยังพบว่าเหมืองเซโปน มีทองคำมากกว่า ที่พบก่อนหน้านั้นราว 10% ซึ่งเป็นข่าวดี สภาพดินที่เปียกทำให้ผลิตได้เพียง 19,081 ออนซ์ (534 กก.) ในไตรมาสแรก แต่บริษัทยังคงเป้าที่จะผลิตให้ได้ 70,000-85,000 ออนซ์ (1,960 กก.-2,380 กก.) ในปีนี้ ขปล.กล่าว
ปลายเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา MMG LXML ได้มอบเงินให้รัฐบาลลาวอีกกว่า 92 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นเงินอากรผลกำไรในปีที่แล้ว ก่อนหน้านั้นได้จ่ายค่าภาคหลวง 26.5 ล้านดอลลาร์ ภาษีเงินเดือนพนักงาน 5 ล้านดอลลาร์ ค่าสัมปทานที่ดิน 45,000 ดอลลาร์ และ เงินปันผลจากหุ้นส่วน 10% อีก 32.9 ล้านดอลลาร์ ทำให้รัฐบาลลาวมีรายได้จากเหมืองเซโปนทั้งหมด 156.5 ล้านดอลลาร์สำหรับปี 2553
นับตั้งแต่เริ่มทำการผลิตในปี 2546 และ ส่งออกปี 2548 รัฐบาลลาวมีรายได้จากเหมืองใหญ่แห่งนี้ประมาณ 600 ล้านดอลลาร์ สื่อของทางการกล่าว
เช่นเดียวกับเจ้าของสัมปทานเหมืองแห่งอื่นๆ ทั่วประเทศ MMG LXML ยังมีภาระตามสัญญาลงทุนในการพัฒนาท้องถิ่น ซึ่งรวมทั้งฝึกฝนราษฎรให้มีอาชีพมั่นคง ดูแลเอาใจใส่คุณภาพชีวิต สร้างถนนหนทาง และ จัดสร้างระบบสาธารณูปโภคต่างๆ สร้างโรงเรียน โรงพยาบาลอีกด้วย
ประธานกลุ่มบริษัทเหมืองแร่ขนาดใหญ่จากจีนเดินทางเข้าเวียงจันทน์เมื่อปีที่แล้ว และประกาศจะทำให้เซโปนเป็นเหมืองตัวอย่างในลาว.
เหมืองเซโปนก็รวย
7
8
9
10
11