ASTVผู้จัดการรายวัน -- บริษัทเจ้าของสัมปทานเหมืองทอง-ทองแดงเซโปน กล่าวว่า ปีนี้จะเพิ่มการผลิตทองแดงเพื่อส่งออกเป็นปริมาณเกือบ 100,000 ตัน ขณะที่มีสัญญาณเศรษฐกิจโลกฟื้น การเพิ่มการผลิตดังกล่าวด้วยความตั้งใจจะให้ลาวเป็นแหล่งผลิตทองแดงใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เป็นที่แน่นอนว่า การผลิตทองแดงมากขึ้น ย่อมจะได้ทองคำในปริมาณที่สูงขึ้นตามไปด้วย ลาวกำลังจะเป็นประเทศที่ผลิตทองคำรายใหญ่ของภูมิภาคนี้เช่นเดียวกัน
นายโจวจงสู (Zhuo Zhongsu) ประธานบริษัท มินเมทัลส์คอร์ป ได้เข้าเยี่ยมคำนับ นายบัวสอน บุปผาวัน นายกรัฐมนตรีลาว ก่อนประกาศแผนการดังกล่าวในวันศุกร์ (21 ส.ค.) ที่ผ่านมา ทั้งนี้ เป็นรายงาของสำนักข่าวสารปะเทดลาว (ขปล.)
บริษัท มิเนอรัลส์ แอนด์ เมทัลส์ กรู๊ป (Minearals and Metals Group) หรือ MMG ซึ่งเป็นเจ้าของสัมปทานรายใหม่ ที่เข้าดำเนินกิจการแทนบริษัท ล้านช้างมิเนอรัลส์ (Lanxang Minerals) จะสนับสนุนแผนการของรัฐบาลลาวอย่างเต็มที่ในการผลิตเพื่อส่งออก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ ทองแดงกับทองคำ ขปล.กล่าว
นายจงสู กล่าวว่า เหมืองทองและทองแดงเซโปนไม่เพียงแต่เป็นโครงการเศรษฐกิจสำคัญของรัฐบาลลาวเท่านั้น หากยังมีความสำคัญอย่างต่อ บริษัท MMG ที่ก่อตั้งขึ้นในออสเตรเลีย
บริษัท Minmetals and Non-ferrous Metals Co Ltd หรือ “Minmetals” ซึ่งเป็นบริษัทเหมืองแร่ใหญ่อันดับ 2 ของรัฐบาลจีนได้เจรจาซื้อกิจการของบริษัท ออซมิเนอรัลส์ (OZ Minerals) ตั้งแต่ปี 2551 และสามารถตกลงกันได้ในต้นปีนี้
OZ Minerals ก็คือ บริษัท อ็อกเซียนารีสอร์สเซส (Oxiana Resources) ที่ได้รับสัมปทานเหมืองเซโปนเป็นเจ้าแรกนั่นเอง
กลุ่มเมืองแร่ใหญ่จากจีนได้ครอบครองกิจการเกือบทั้งหมดของ OZ รวมทั้งเหมืองทอง-ทองแดงใหญ่ที่สุดในลาว ยกเว้นเพียงเหมือง 1 แห่งในออสเตรเลียกับอีก 1 แห่งในอินโดนีเซีย
การเยือนลาวของประธาน Minmetals ครั้งนี้นับเป็นครั้งแรก ซึ่ง นายจงสู กล่าวว่า เป็นการเริ่มความสัมพันธ์ร่วมมือครั้งใหม่ฉันท์สหายที่มีความใกล้ชิดและมีประโยชน์ร่วมกัน
ประธานของมินเมทัลส์ กล่าวว่า ไม่เพียงแต่มองเห็นคุณค่าทางเศรษฐกิจของเหมืองในลาวเพียงอย่างเดียว แต่ยังคำนึงถึงความมั่นคงปลอดภัยของพนักงาน ความสำคัญของการอนุรักษ์สภาพแวดล้อมและการกินดีอยู่ดีของราษฎรในท้องถิ่นที่ตั้งเหมืองอีกด้วย
ปีที่แล้วบริษัท ล้านช้างมายนิ่งจำกัด (OZLXML) อดีตเจ้าของสัมปทาน ได้ลดการผลิตลงหลังจากเศรษฐกิจโลกเริ่มซบเซา ซึ่งทำให้ราคาทองแดงในตลาดโลกหล่นวูบลงเกือบครึ่งต่อครึ่ง ส่งผลให้เหมือเซโปนต้องลดการผลิตจาก 70,000 ตันเศษ เหลือ 60,000 ตันต่อปี และคนงานลงประมาณ 60 คน
แต่ MMG กล่าวเมื่อเร็วๆ นี้ ว่า บริษัทมีแผนจะเพิ่มการผลิตทองแดงเป็น 100,000 ตัน เมื่อเศรษฐกิจโลกฟื้นกลับสู่ภาวะปกติ
จีนเป็นตลาดใหญ่ที่สุดของทองแดงที่ผลิตจากภูมิภาคแถบนี้ รวมทั้งที่จากออสเตรเลียด้วย ซึ่งทำให้บริษัทเหมืองแร่ขนาดใหญ่จากจีนที่รัฐบาลเป็นเจ้าของ ทุ่มทุนซื้อกิจการเหมืองในประเทศต่างๆ เพื่อเข้าดำเนินการเอง
เมื่อต้นปีนี้ บริษัทจีนอีกแห่งหนึ่งได้รุกคืบเข้าซื้อกิจการของแพนออสเตรเลียนรีสอร์สเซส (Pan Australian Resources) แห่งออสเตรเลีย ซึ่งเป็นเจ้าของเหมืองภูเบี้ยและภูคำในภาคเหนือของลาวอีกด้วย แต่ไม่ประสบความสำเร็จ
บริษัท แพนออสเตรเลียน กำลังเร่งสำรวจเหมืองทอง-ทองแดงอีก 2 แห่งในแขวงเวียงจันทน์กับแขวงไซยะบูลี ในภาคเหนือของลาว และเตรียมส่งออกแร่ที่ผลิตจากเหมืองภูคำ
บริษัทเหมืองยักษ์ใหญ่ของจีนอีกแห่งหนึ่งกำลังสำรวจแหล่งแร่บอกไซต์ใหญ่ที่สุดของลาวในสามแขวงภาคใต้ โดยร่วมทุนกับบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) จากประเทศไทย