โดย วุฒิพงษ์ หลักคำ-บุญญะสาร
ASTVผู้จัดการออนไลน์ -- เจ้าหน้าที่เวียดนามเพิ่งจะเปิดเผยตัวเลขล่าสุดที่บ่งบอกว่า “ทหารอาสาสมัคร” และ “ผู้เชี่ยวชาญ” เวียดนาม ที่เสียชีวิตในลาวเมื่อครั้งสงคราม อาจจะมีจำนวนถึง 20,000 คน หรือมากกว่านั้น ในขณะที่การค้นหายังคงดำเนินต่อไป ท่ามกลางการรอคอยของญาติมิตรและการทุ่มเทของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
แต่ถึงกระนั้นก็ไม่ได้หมายความว่า ทหารที่สละชีพจะได้กลับบ้านเกิดครบทุกคน
แขวงคำม่วนในภาคกลางของลาวได้ทำพิธีอาลัยอัฐิทหารเวียดนามอีก 53 ชุดในสัปดาห์ปลายเดือนที่แล้ว ก่อนจะส่งกลับภูมิลำเนาเดิมใน จ.เหงะอาน (Nghe An) กับห่าตี๋ง (Ha Tinh) ที่มีชายแดนติดกัน ในนั้นญาติของผู้เสียชีวิตเดินทางไปรับกลับเอง 1 ศพ
ทั้งหมดเป็นผลงานจากความร่วมมือในการค้นหาศพผู้เสียชีวิตระหว่างเจ้าหน้าที่ทางการลาวกับเจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติงานพิเศษกอง 589 ของฝ่ายเวียดนามในฤดูแล้งปี 2553-2554 ทำให้จำนวนทหารเสียชีวิตที่ได้กลับจากแขวงภาคกลางของลาวแห่งนี้เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 4,800 ตั้งแต่ปี 2534 เป็นต้นมา สำนักข่าวสารปะเทดลาวรายงานอ้างตัวเลขของ พ.อ.ฟานกวีดึ๊ก (Phan Quy Duc)
พิธีสักการะดวงวิญญาณทหารเวียดนามทั้ง 53 คนล่าสุด จัดขึ้นอย่างสมเกียรติวันที่ 29 เม.ย.2554 ที่กองบัญชาการทหารแขวง (จังหวัด) โดยนายคำไบ ดำหลัด เลขาพรรคและเจ้าแขวงดังกล่าวเป็นประธาน มีเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก ขปล.กล่าว
ตามรายงานของหัวหน้ากอง 589 อัฐิทั้ง 53 ชุด ถูกค้นพบในช่วงฤดูแล้ง 2553-2554 นี้ รวมอยู่ในจำนวนทั้งหมด 199 ศพ ที่มีข้อมูลพร้อมแล้ว และ ในปี 2555 คาดว่าจะเก็บกู้ได้อีกจำนวน 95 ศพ สำนักข่าวของทางการกล่าว
นายทหารผู้นี้บอกกับทางการแขวงเจ้าภาพว่า อ้างอิงตัวเลขของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการส่งทหารไปปฏิบัติภารกิจในลาว ในช่วงปีแห่งสงครามต่อต้าน “จักรพรรดินิยม” (ซึ่งหมายถึงสหรัฐอเมริกา) มีทหารเวียดนามเสียชีวิตในแขวงคำม่วน 6,080 คน
ตั้งแต่ก่อนปี 2533 หน่วยงานที่ดำเนินการขุดค้นก่อนหน้านี้ได้นำอัฐิกลับประเทศแล้ว 2,993 ศพ หลังจากกอง 589 เข้ารับผิดชอบต่อระหว่างปี 2533-2554 ได้นำกลับไปอีก 1,857 คงเหลืออีก 1,230 ศพที่จะต้องค้นหาต่อไป
สภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลง ภูมิประเทศก็เปลี่ยนไป การค้นหายากลำบากยิ่งขึ้นตามกาลเวลา นอกจากนั้นพื้นที่แขวงคำม่วนส่วนหนึ่งถูกโอนไปรวมเข้ากับแขวงบอลิคำไซ ล้วนทำให้เกิดความยุ่งยากในการค้นหา นอกจากนั้นมีศพจำนวนหนึ่งหายสาบสูญ เนื่องจาก “ถูกข้าศึกสังหารและทิ้งให้ไหลไปตามน้ำ” พ.อ.ดึ๊ก กล่าว
ทหารเวียดนามจำนวนมากได้ร่วมกับทหารฝ่ายปะเทดลาว ต่อสู้กับทหารฝรั่งเศสในดินแดนลาวมาตั้งแต่ยุคสงครามเพื่อเอกราช อีกนับหมื่นๆ คนเข้าสู้ดินแดนลาวในช่วง “สงครามต่อต้านจักรพรรดินิยม” ซึ่งหมายถึงสงครามกับสหรัฐฯ
(โปรดเลื่อนลงเพื่ออ่านต่อ)
.
.
สงครามในดินแดนลาวสงบลงในปี 2518 โดยฝ่ายคอมมิวนิสต์ปะเทดลาวเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลราชอาณาจักรที่สหรัฐฯ ให้การสนับสนุนได้สำเร็จ แต่เวียดนามยังคงทหารไว้ในลาวอีกนับหมื่นๆ ในช่วงปีหลังจากนั้น
อย่างน้อยที่สุดในเดือน ก.พ.2527 หรือปีที่ 9 ของระบอบใหม่ ทหารเวียดนามจำนวนมากยังคงอยู่ในลาว เพื่อช่วยรักษาอำนาจรัฐใหม่ในเวียงจันทน์ อีกนับแสนคนยังคงยึดครองกัมพูชา เพื่อพิทักษ์ระบอบเฮงสัมริน-เจียซิม-ฮุนเซน ที่จัดตั้งขึ้นในปี 2522 ก่อนเวียดนามจะถอนออกไปทั้งหมดในปี 2532
ส่วนในลาวไม่เคยมีการเปิดเผยว่า เคยมีทหารเวียดนามเข้าปฏิบัติการจำนวนเท่าไรและถอนออกไปทั้งหมดในปีใด แต่ในช่วงปีที่ความสัมพันธ์ไทย-ลาว ยังตึงเครียด สภาความมั่นคงแห่งชาติของไทยเคยออกตัวเลขประมาณการเอาไว้ระหว่าง 50,000-70,000 คน
ในการสัมภาษณ์ในนครเวียงจันทน์ เดือน ก.พ.2527 นายสุบัน สะลิดทิลาด รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ไม่ขอเปิดเผยตัวเลขต่างๆ เหล่านี้ แต่บอกกับผู้เขียนว่า “ทหารเวียดนามไม่เคยแย่งอะไรไปจากประชาชนลาว นอกจากอากาศเพื่อหายใจ” และ “เมื่อถึงเวลาทหารเวียดนามก็จะถอนกลับไปเองหรือเมื่อฝ่ายลาวเห็นสมควร”
ยังมีทหารเวียดนามอีกจำนวนมากที่ยังไม่ได้กลับบ้านเกิด และการค้นหาเริ่มมาตั้งแต่กว่า 20 ปีก่อน
หลายปีมานี้หน่วยงานที่รับผิดชอบของสองฝ่ายได้ช่วยกันค้นหาศพทหารเวียดนามในหลายแขวงที่เคยเป็นสมรภูมิสู้รบในดินแดนลาว ตั้งแต่หัวพัน เชียงขวาง หลวงพระบาง เวียงจันทน์ และ นครเวียงจันทน์ ในภาคเหนือ แขวงบอลิคำไซ คำม่วน กับสะหวันนะเขตในภาคกลาง จนถึงสาละวัน จำปาสัก เซกอง และ อัตตะปือ ทางตอนใต้สุด
เวียดนามยังไม่เคยประกาศจำนวนทหารที่เสียชีวิตในการสู้รบในดินแดนลาวทั้งหมด และยังไม่ทราบจำนวนทหารเสียชีวิตที่ถูกนำกลับประเทศในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา
(โปรดเลื่อนลงเพื่ออ่านต่อ)
.
.
อย่างไรก็ตาม “ASTVผู้จัดการออนไลน์” ได้รวบรวมตัวเลขจากรายงานของสื่่อทางการลาวและเวียดนาม ได้พบว่า ไม่กี่ปีมานี้มีการส่งอัฐิทหารเวียดนามกลับประเทศกว่า 10,000 ชุด รวมทั้งเกือบ 6,000 ชุดจากสะหวันนะเขต กว่า 1,400 ชุดจากหลวงพระบาง เกือบ 4,000 ชุดจากเชียงขวาง-เวียงจันทน์ 1,100 จากหัวพัน อีกหลายร้อยชุดจากบอลิคำไซ สาละวัน เซกองและอัตตะปือ
ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมจำนวนเกือบ 6,000 จากแขวงคำม่วนที่เปิดเผยล่าสุด
การส่งอัฐิกลับจากคำม่วนนับเป็นครั้งที่ 3 เท่าที่มีรายงานผ่านสื่อของทางการในปีนี้ วันที่ 25 เม.ย.ฝ่ายลาวได้ส่งมอบอัฐิทหารเวียดนามอีก 71 ศพ ให้แก่ทางการ จ.เหงะอาน ทั้งหมดรวมอยู่ในจำนวน 160 ชุด ที่ขุดพบในแขวงเชียงขวางและแขวงเวียงจันทน์ช่วงหน้าแล้ง 2553-2554 นี้ เช่นกัน
ก่อนหน้านั้นวันที่ 5 ม.ค.ลาวได้มอบอัฐิให้ฝ่ายเวียดนามจำนวน 89 ชุดในนั้นขุดไปจากชียงขวาง 82 แขวงเวียงจันทน์อีก 7 เพื่อส่งกลับภูมิลำเนาใน จ.เหงะอาน เช่นกัน สำนักข่าวสารปะเทดลาวกล่าว
อัฐิทหารเวียดนามที่ส่งกลับส่วนใหญ่ จะถูกนำไปทำพิธีทางศาสนาอีกครั้งก่อนจะฝังในสุสานวีรชนของจังหวัดบ้านเกิด อีกจำนวนหนึ่งบรรดาญาติๆ เลือกที่จะนำไปประกอบพิธีทางศาสนาเอง และฝังในสุสานของครอบครัวร่วมกับบรรพบุรุษ.