ผู้จัดการ360องศารายสัปดาห์-- คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงนัดประชุมกันอีกครั้งหนึ่งในปลายเดือนนี้ เพื่อสรุปเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างเขื่อนไซยะบุลี มูลค่า 3,500 ล้านดอลลาร์กั้นแม่น้ำโขงในลาว ในขณะที่ฝ่ายเวียดนามออกคัดค้านอย่างตั้งหน้า เช่นเดียวกับกลุ่มอนุรักษ์สภาพแวดล้อม แต่ทุกฝ่ายก็เชื่อว่า ลาวจะเดินหน้าโครงการต่อไป
ประเด็นสำคัญก็คือ เขื่อนไซยะบูลี กำลังจะเป็นแม่แบบสำหรับเขื่อนใหญ่อีก 10 หรือ 11 แห่ง ที่จะสร้างกั้นแม่น้ำนานาชาติที่ยิ่งใหญ่แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในดินแดนลาว ไทยและกัมพูชา
คณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติเวียดนามได้ออกคัดค้านตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว โดยชี้ให้เห็นผลกระทบต่อเขตที่ราบปากแม่น้ำโขง น้ำทะเลหนุนขึ้นสูง นาข้าวนับหมื่นๆ ไร่ถูกน้ำเค็มคุกคามและระดับน้ำในระบบปากแม่น้ำลดลง ส่งผลกระทบต่อการคมนาคมขนส่งทางน้ำอันเป็นหัวใจของภาคใต้และกำลังลามไปสู่การประมง
นายเจืองห่มง์เตี๋ยน (Truong Hong Tien) เจ้าหน้าที่คณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติเวียดนาม กล่าวว่า ในขณะที่ลาวได้รับประโยชน์เต็มๆ จากเขื่อนไซยะบูลี ชาวประมงในเวียดนามหาปลาได้น้อยลงเรื่อยๆ จากระดับ 200,000-400,000 ตันต่อปีก่อนหน้านี้
นายเหวียนถายลาย (Nguyen Thai Lai) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทกล่าวว่า เขื่อนไซยะบูลีกำลังจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ปากแม่น้ำอย่างรุนแรง กระทบชีวิตความเป็นอยู่ของประชากร 17 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่ทำมาหากินโดยผูกพันกับแม่น้ำ
ปรกติเวียดนามซึ่งมีความผูกพันใกล้ชิดกับลาวทั้งในแง่ประวัติศาสตร์และลัทธิอุดมการณ์ จะอยู่เบื้องหลังอย่างเงียบๆ การออกวิจารณ์เขื่อนลาวอย่างออกหน้าออกตา จึงทำให้หลายฝ่ายประหลาดใจ
แต่เวียดนามจะต่อต้านเขื่อนใหญ่แห่งนี้ได้หรือ?
บริษัท ช.การช่างของไทย ได้เซ็นบันทึกความเข้าใจกับทางการลาวในวันที่ 4 พ.ค.2550 เพื่อสำรวจศึกษาความเป็นไปได้และจัดทำรายงานผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมของโครงการที่จะใช้เงินลงทุนกว่า 1 แสนล้านบาทนี้ รายงานต่างๆ แล้วเสร็จในปี 2553 แต่ทางการลาว ยังไม่เคยเปิดเผยรายละเอียดใดๆ ทั้งสิ้น
ด้วยแรงกดดันจากประชาคมระหว่างประเทศ เมื่อ 6 เดือนก่อนคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission) จึงได้จัดประชุมพิจารณาสถานการณ์ทั่วไปของลำน้ำสายนี้ และออกายงานเรียกร้องให้ยุติการสร้างเขื่อนเป็นเวลา 10 ปี เพื่อศึกษาในรายละเอียดเกี่ยวกับผลกระทบต่อลำน้ำตลอดทั้งสาย
MRC จัดประชุม 5 ประเทศภาคีคือ ลาว กัมพูชา เวียดนามและไทย กับบรรดาหุ้นส่วนต่างๆ ระหว่างวันที่ 26-27 มี.ค.2554 ที่เมืองกัมปงโสมของกัมพูชา เพื่อจัดทำรายงานคำแนะนำเกี่ยวกับเขื่อน แต่ไม่สามารถหาข้อสรุปได้ และ นัดพบกันอีกครั้งหนึ่งในวันที่ 21 เม.ย.นี้
อย่างไรก็ตาม MRC ไม่ได้เป็นองค์การบริหารที่มีอำนาจสั่งประเทศภาคี ให้ทำหรือไม่ทำอะไรได้ หากเป็นเพียงหน่วยประสานงานในปัญหาต่างๆ นอกจากนั้นจีนกับพม่าที่เป็นหุ้นส่วนใหญ่ในแม่น้ำโขง ก็ไม่ได้เป็นสมาชิกภาคี
เขื่อนกั้นลำน้ำโขงส่วนที่อยู่ในจีนได้ส่งผลกระทบต่อตอนล่างของลำน้ำอย่างเห็นได้ชัดมาตั้งแต่ปี 2549 ระดับน้ำลดลงตั้งแต่ จ.เชียงรายของไทย ลงไปจนถึงนครเวียงจันทน์ และ ฤดูแล้งปีที่แล้วระดับน้ำลดต่ำจนทำให้เรือท่องเที่ยวไม่สามารถเดินทางจากเมืองห้วยทราย ไปยังเมืองหลวงพระบางได้เช่นทุกปี
ช.การช่างกล่าวว่าเขื่อนไซยะบูลี เป็นเขื่อนแบบฝายน้ำล้นยาว 810 เมตร สูง 32 เมตร ทำให้เกิดอ่างเก็บน้ำพื้นที่ 49 ตารางกิโลเมตรออกแบบให้มีกำลังปั่นไฟ 1,260 เมกะวัตต์ ไฟฟ้าเกือบทั้งหมดจะส่งจำหน่ายให้ไทย
เหนือขึ้นไปราว 150 กม.กลุ่มบริษัทไฟฟ้าของบริษัทน้ำมันแห่งชาติเวียดนาม (PetroVietnam Power Corp) กำลังศึกษาโครงการเขื่อนหลวงพระบาง ขนาด 1,410 เมกะวัตต์ ผลกำลังจะออกมาในปีนี้ ไฟฟ้าที่ผลิตได้เกือบทั้งหมดจะส่งไปจำหน่ายให้เวียดนาม
เวียดนามยังลงทุนสร้างเขื่อนขนาดกลาง-ขนาดใหญ่อีกหลายแห่งในภาคใต้ของลาว และได้เซ็นบันทึกเพื่อซื้อไฟฟ้าจากลาวถึง 5,000 เกมะวัตต์ภายในปี 2563 นี้
ใต้เขื่อนไซยะบูลีลงไป กลุ่มทุนจากจีนกำลังศึกษาโครงการเขื่อนปากลาย1,320 เมกะวัตต์ และกลุ่มทุนไทยอีกกลุ่มหนึ่งกำลังศึกษาโครงการเขื่อนซะนะคาม ไฟฟ้าที่ผลิตได้เกือบทั้งหมดจะส่งขายให้ไทยเช่นกัน
ยังมีเขื่อนกั้นลำน้ำโขงขนาดใหญ่อีก 2 แห่งที่อยู่ใต้ลงไป คือ เขื่อนบ้านกุ่มกับเขื่อนลาดเสือ ขณะที่กลุ่มเมกะเฟิร์สคอร์ป จากมาเลเซียเริ่มก่อสร้างเขื่อนดอนสะโฮงปลายปีที่แล้ว ทั้งหมดผลิตไฟฟ้าขายให้ไทยและส่วนหนึ่งส่งขายกัมพูชา
การออกคัดค้านเขื่อนลาวของเวียดนามทำให้นายกรัฐมนตรีฮุนเซนของกัมพูชา เงียบสนิท แม้ก่อนหน้านี้จะเคยป่าวประกาศว่า เขื่อนจีนไม่ได้สร้างผลกระทบใดๆ ต่อแม่น้ำโขง ถึงแม้ว่าจะเกิดภัยแห่งแล้วอย่างต่อเนื่อง ระดับน้ำในลำน้ำลดลงอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ทั้งในกรุงพนมเปญและจังหวัดรายรอบ
แม่น้ำโขงตอนล่าง ยังเป็นเส้นทางการขนส่ง การค้ากับการท่องเที่ยวสำคัญระหว่างสองประเทศอีกด้วย เจ้าหน้าที่กัมพูชาได้พูดใหม่ ภายหลังการประชุมที่กัมปงโสมว่า “ยังไม่มีข้อสรุป” และ จะทำรายงานต่อรัฐบาลเพื่อกำหนดจุดยืนอีกครั้ง
ในกัมพูชากำลังจะมีเขื่อนใหญ่ 2 แห่งในกั้นลำน้ำโขงใน จ.สตึงแตร็ง (Stung Treng) และ จ.กระแจ๊ะ (Kratie) โดยกลุ่มทุนจากจีน เชื่อกันว่าสองแห่งนี้จะส่งผลกระทบต่อเวียดนามหนักหน่วงรุนแรงยิ่งกว่าเขื่อนกั้นน้ำโขงแห่งใดทั้งหมด
และถึงเวลาที่รัฐบาลฮุนเซนจะต้องแสดงจุดยืนว่า จะสนับสนุนเขื่อนลาว หรือจะร่วมขบวนกับเวียดนาม
ขณะเดียวกันเขื่อนไซยะบูลีกำลังพบกับการข่มขู่อันสำคัญจากธรรมชาติ แผ่นดินไหวขนาด 6.8 ริคเตอร์ที่เกิดขึ้นบริเวณรอยต่อเขตแดนพม่า จีน ลาวและไทยปลายเดือนที่แล้วทำให้ความวิตกเกี่ยวกับเหตุการณ์ “เขื่อนแตก” เป็นจริงเป็นจังยิ่งขึ้น
เป็นที่ทราบกันมานานว่า แขวงไซยะบูลีอันกว้างใหญ่ของลาวอยู่ในแนวเลื่อนของเปลือกโลก และ แผ่นดินไหวขนาด 4.7 ซึ่งเกิดใกล้กับจุดที่ตั้งเขื่อนในเดือน ก.พ.ปีนี้ นับเป็นสัญญาณเตือนที่ใกล้ตัวที่สุด
ผู้สังเกตการณ์กล่าวว่า 4 ประเทศ MRC กำลังจะตัดสินใจครั้งสำคัญ ไม่ใช่เรื่องเขื่อนเท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องชีวิตความเป็นอยู่กับความปลอดภัยของประชากรหลายสิบล้านคนที่อยู่ตอนใต้ลำน้ำสายนี้อีกด้วย.