.
ASTVผู้จัดการออนไลน์ - ทางการลาวได้ออกตอบโต้องค์กรภาคเอกชนโดยระบุว่า การก่อสร้างเขื่อนดอนสะโฮงในเขตสี่พันดอนน้ำโขง ยังไม่ได้ลงมือตามที่มีการกล่าวหา และที่ผ่านมา ได้มีการสำรวจอย่างเป็นขั้นเป็นตอน รวมทั้งดำเนินการแก้ไขผลกระทบเพื่อให้ฝูงปลาสามารถว่ายทวนน้ำขึ้นไปวางไข่ หรืออพยพโยกย้ายได้สะดวกยิ่งขึ้นอีกด้วย
นับเป็นการออกมาให้ข้อมูลครั้งแรกของทางการลาวเกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งเป็นการตอบโต้รายงานชิ้นหนึ่งขององค์การเครือข่ายไม่น้ำสากล หรือ IRN (International River Network) ทางการลาวมิเคยให้ข้อมูลข่าวสารใดๆ แก่สาธารณชนเกี่ยวกับเรื่องนี้
เขื่อนดอนสะโฮงสร้างขึ้นกั้น “ฮูสะโฮง” ซึ่งเป็นทางน้ำไหลที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในลำน้ำโขงทางตอนใต้สุดในเขตเมือง (อำเภอ) โขง แขวง (จังหวัด) จำปาสัก ติดเขตแดนกัมพูชา ทางการอนุญาตให้บริษัทเมกะเฟิร์สท์จากมาเลเซียเข้าดำเนินโครงการภายใต้สัญญาสัมปทาน
ทางการลาวกล่าวว่า องค์กรที่ไม่สังกัดภาครัฐบาลดังกล่าว “ได้มีการออกข่าวบิดเบือนใส่ร้ายป้ายสีที่ไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง” หนังสือพิมพ์เวียงจันทน์ใหม่รายงานอ้างการแถลงของกรมนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงานและเหมืองแร่ ซึ่งระบุว่า ในความเป็นจริงยังไม่มีการก่อสร้างเขื่อนดังกล่าว มีเพียงการสำรวจ และเก็บรวบข้อมูลเกี่ยวกับการขึ้นลงของปลา
วันที่ 23 มี.ค.2549 ลาวได้เซ็นบันทึกช่วยความจำฉบับหนึ่งกับบริษัทเมกะเฟิร์สคอร์ปอเรชั่น เบอร์หัด (Mega First Corporation Berhad) เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการเขื่อนขนาด 256 เมกะวัตต์
ต่อมา เดือน ก.พ.2551 ลาวกับบริษัทผู้ลงทุนได้เซ็นสัญญาพัฒนาโครงการที่มีระยะเวลาบังคับใช้ 18 เดือน ซึ่งลาวกล่าวว่า ที่ผ่านมามีการต่ออายุสัญญา 3 ครั้งแล้ว ครั้งสุดท้ายในเดือน มี.ค.ปีนี้ เพื่อดำเนินการแก้ไขผลกระทบจากเขื่อน
การสำรวจ และศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมแล้วเสร็จ และนำเสนอกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตั้งแต่เดือน ธ.ค.2553 และต่อมา ได้เซ็นสัญญาร่วมทุนกับฝ่ายเอกชน และเซ็นบันทึกช่วยความจำเรื่องค่าไฟฟ้าที่จะขายให้แก่รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว
ในปี 2554 การสำรวจด้านสภาพแวดล้อมและการกีดขวางทางผ่านของปลาแล้วเสร็จ และมีการปรับปรุง “ฮูสะดำ” ทางน้ำไหลที่อยู่ระหว่างดอนสะโฮงกับดอนสะตำ เพื่อให้ฝูงปลาเคลื่อนย้ายได้โดยสะดวก ซึ่งไม่ได้เป็นเช่นที่ IRN กล่าวหา
ที่ผ่านมา ยังไม่มีการก่อสร้างใดๆ ในฮูสะโฮงหรือที่ใดๆ ใกล้กับบริเวณดังกล่าว แต่บริษัทได้อุปถัมภ์ให้ราษฎรกับเจ้าหน้าที่ดำเนินการเพื่อให้เกิดการประมงที่ยั่งยืน ปรับปรุงทางน้ำไหลอีกแห่งหนึ่งที่อยู่ใกล้เคียงให้ปลาขึ้นบริเวณดังกล่าวได้สะดวก โดยไม่ได้มีการระเบิดหินแม้สักก้อนเดียวตามที่ถูกกล่าวหา สื่อของทางการกล่าว
“จากจุดนี้ปลาสามารถวางไขอยู่ในลำน้ำโขงได้อย่างสะดวกสบายยิ่งขึ้น และเป็นการเพิ่มจำนวนปลาให้มากขึ้น และยืนยง เป็นผลดีต่อชุมชน และประชาชนตามลำน้ำโขง” เวียงจันทน์ใหม่อ้างการแถลงของทางการ.