ย่างกุ้ง (เอเอฟพี) -- พบชาวพม่าเสียชีวิตอย่างน้อย 75 คน ในวันศุกร์ 25 มี.ค.นี้ กับอีกหลายร้อยคนไม่มีบ้านอยู่อาศัย อันเนื่องมาจากเหตุแผ่นดินไหว แต่ก็เเชื่อกันว่าจำนวนผู้ที่เสียชีวิตจะสูงยิ่งกว่านี้อีกมาก
ในเขตใกล้ศูนย์กลางแผ่นดินไหว มีอาคารหลายหลังพังทลายราบ ขณะที่ผู้คนแตกตื่นออกจากเคหสถาน แรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวขนาด 6.8 มาตราริกเตอร์ในคืนวันพฤหัสบดีกับอาฟเตอร์ช็อก สามารถรู้สึกได้ถึงกรุงเทพฯ และ กรุงฮานอย
สถานีโทรทัศน์ของทางการพม่า ยืนยันจำนวนผู้เสียชีวิต 75 คน อีก 11 คนได้รับบาดเจ็บ
บ้านเรือนราษฎรเกือบ 400 หลังคาในเขตใกล้จุดศูนย์กลาง กับสำนักงานของทางการอีก 9 แห่งถูกทำลายที่เมืองทาร์เล (Tarlay) วัดหลายแห่งก็พังทลายเสียหายเช่นกัน โทรทัศน์ทางการ กล่าว
ขณะเดียวกัน ทางฝั่งไทย ทางการกล่าวว่า สตรีวัย 52 ปี ผู้หนึ่งเสียชีวิตที่ อ.แม่สาย เนื่องจากผนังบ้านพังลงทับ อีก 15 คน รวมทั้งชาวพม่า 7 คน กับชาวจีนอีก 5 คน ได้รับบาดเจ็บ
นายคริส เฮ็นริงค์ (Chris Henrink) ผู้อำนวยประจำพม่าขององค์การศุภนิมิต (World Vision) กล่าวในกรุงย่างกุ้งว่า ตามรายงานที่ได้รับ มีการพบผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น
“ตัวเลขที่ได้รับการยืนยันล่าสุด คือ 140 ดังนั้น จึงเป็นแนวโน้มที่น่าห่วง” นายเฮ็นริงค์ กล่าว ทั้งอธิบายว่า สาเหตุที่มีผู้เสียชีวิตและมีความเสียหายมาก เนื่องจากเหตุเกิดเวลากลางคืน กับความรุนแรงของของแผ่นดินไหว และยังเป็นที่ชัดเจนว่าเป็นเพราะมาตรฐานการก่อสร้างอาคารบ้านเรือนด้วย
ทีมงานในพื้นที่ กล่าวว่า เมืองทาร์เล เป็นแห่งแรกที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด โรงพยาบาลที่นั่นถูกทำลาย
“เมื่อเราเข้าไปยังพื้นที่เราได้เห็นบ้านเรือนพัง ถนนเสียหาย วัดวา และสำนักงานของทางการถูกทำลาย” นายเฮ็นริงค์ กล่าว
องค์การศุภนิมิตช่วยดูแลเด็กๆ ราว 7,000 คน ในเขตภัยพิบัติ โดยได้รับการสนับสนุนจากโพ้นทะเล และองค์การนี้ได้จัดความสำคัญเร่งด่วนในการช่วยเหลือไว้ที่เด็กๆ
นายเฮ็นริงค์ กล่าวอีกว่า องค์การฯ แจกจ่ายน้ำไปแล้ว 1,500 ลิตร และแจกจ่ายอาหารให้อีก 1,350 คน ขณะที่รัฐบาลพม่าได้ปฏิบัติแผนช่วยเหลือฉุกเฉิน
เจ้าหน้าที่พม่าผู้หนึ่ง กล่าวกับเอเอฟพีก่อนหน้านี้ ว่า ปฏิบัติการค้นหาผู้ที่ได้รับบาดเจ็บในพื้นที่เกิดเหตุ เป็นไปอย่างยากลำบาก เนื่องจากถนนถูกทำลายเสียหาย
ในรัฐสภาพม่าที่ตั้งขึ้นหลังการเลือกตั้งฉาวโฉ่เดือน พ.ย.ที่ผ่านมา บรรดาผู้แทนราษฎรได้เสนอกระทู้ให้มีการแสดงความเสียใจอย่างเป็นทางการต่อผู้ที่เสียชีวิตในแผ่นดินไหวครั้งนี้
ขณะเดียวกัน สำนักงานประสานงานกิจกรรมด้านมนุษยธรรมของสหประชาชาติ (United Nations Office for the Coordination of Humanitarian Affairs--UNOCHA) ได้ออกรายงานสถานการณ์ในวันศุกร์นี้ ระบุว่า มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดเหตุแผ่นดินเลื่อนในพื้นที่เกิดเหตุ และยังได้รับรายเกี่ยวกับการตัดขัดของบริการพื้นฐานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้าประปาหรือโทรคมนาคม
นายเบน ฟิลิปปส์ แห่งองค์การ Save the Children ในกรุงเทพฯ กล่าวว่า กำลังพยายามชั่งสถานการณ์ในพม่า
“เป็นเรื่องลำบากมากเนื่องจากพื้นที่อยู่ห่างไกล ในขณะที่การอยู่ห่างไกลช่วยลดความเสียหายลง แต่มันทำให้การเข้าถึงข่าวสารทั้งหมดยากกว่า อาจจะต้องใช้เวลาหลายวัน” นายฟิลิปส์กล่าว
ยังมีการเกิดอาฟเตอร์ช็อกในวันศุกร์นี้ ใน จ.เชียงราย ทางตอนเหนือของไทย ผู้คนพากันแตกตื่นออกจากเคหสถาน เมื่อเกิดการสั่นสะเทือนรุนแรงขึ้นในตอนเช้า
มีวัด 4 แห่งในเขตเมืองเก่าเชียงแสน ได้รับความเสียหาย รวมทั้งเจดีย์หลวง ซึ่งส่วนยอดสูง 3 เมตรพังลงมา
แรงสั่นสะเทือนแผ่นดินไหวในพม่าครั้งนี้ สามารถรู้สึกได้ถึงกรุงฮานอยในเวียดนาม แต่ไม่มีรายงานความเสียหายใดๆ