ASTVผู้จัดการออนไลน์/เมียนมาร์ไทมส์ -- เจ้าหน้าที่โครงการช่วยเหลือเต่าหลังนูน สายพันธุ์อินเดีย (Kachuga trivittata) ซึ่งเป็นเต่าป่าในพม่า กล่าวว่า การทำเหมืองทอง ในพื้นที่วางไข่รัฐสะกาย (Sagaing) ทำให้เต่าเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์มากยิ่งขึ้น เจ้าหน้าที่เองก็กำลังเผชิญกับความยากลำบากในการดำเนินงาน และพบเต่าชนิดนี้น้อยลง
เจ้าหน้าที่สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (Wildlife Conservation Society) กล่าวว่า WCS ได้ช่วยเหลือเต่าหลังนูนอินเดีย อายุ 1 เดือน จากเขตวางไข่ตามริมฝั่งแม่น้ำชินวิน (Chindwin River) และอีกส่วนหนึ่งที่พบอยู่ในบริเวณด้านหลังสวนสัตว์ยาดานาร์บน (Yadanarbon) มัณฑะเลย์ ที่ยู่ห่างออกไปทางตะวันออก
เจ้าหน้าที่ได้ส่งเต่าจำนวนหนึ่งกลับคืนสู่ป่า อีกจำนวนหนึ่งเลี้ยงไว้ในสวนสัตว์ต่อไป ซึ่งในขณะนี้มีทั้งหมด 267 ตัว จำนวนไข่เต่าและเต่าที่ฟักเป็นตัวลดลงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการทำเหมืองทองและร่อนทองไปตลอดริมฝั่งแม่น้ำในรัฐสะกาย (Sagaing)
เต่าตัวเมียจะวางไข่ในบริเวณหาดทรายที่อยู่ระหว่างเมืองโฮมาลิน (Homalin) และเมืองคำตี้ (Hkamti) จำนวนไข่ที่ค้นพบในปี 2552 นั้นลดลงถึง 40% จากปี 2549 ที่พบถึง 258 ฟอง นายวินกอกอ (Win Ko) เจ้าหน้าที่ประสานงานฝ่ายพม่าของ WCS กล่าวกับนิตยสารข่าวเมียนมาร์ไทมส์
“มีหาดทรายแห่งหนึ่งในรัฐสะกาย ที่เต่าหลังนูนอินเดียมักจะมาวางไข่กันเป็นจำนวนมาก แต่ในตอนนี้แทบจะไม่มีเต่ามาวางไข่อีก เนื่องจากบรรดานักขุดทองจำนวนมากมาทำงานอยู่ใกล้พื้นที่วางไข่ของเต่า” นายกอกอ กล่าว
“เมื่อพวกขุดทองมาหาทอง ก็จะปั๊มน้ำขึ้นไปที่ฝั่งและร่อนแยกทรายเพื่อหาทอง ทำให้ชายฝั่งเล็กลงเรื่อยๆ จนเต่าไม่สามารถมาวางไข่ได้”
เต่าจะวางไข่ในเดือน ม.ค.และ ก.พ.และเต่าจะฟักไข่ประมาณเดือนพ.ค. โดยการวางไข่แต่ละครั้งจะวางตั้งแต่ 2 -11 หลุม ห่างกันประมาณ 1 เมตร และแต่ละหลุมจะมีไข่ประมาณ 3-10 ฟอง
การทำเหมืองทอง การลากอวนประมง การใช้ไฟฟ้าช็อตปลา ล้วนส่งผลกระทบต่อจำนวนประชากรเต่าหลังนูนอินเดียทั้งสิ้น นอกจากนั้น บางครั้งเต่าเหล่านี้ยังถูกคนพื้นเมืองจับกินอีกด้วย นายกอกอ ระบุ
การสำรวจโดยรัฐบาลอังกฤษในช่วงทศวรรษ 1930 พบว่า เต่าหลังนูนอินเดียกินพืชนี้ เป็น 1 ใน 7 สายพันธุ์เต่าเฉพาะถิ่นที่ขยายพันธุ์ในพม่า และพบในแม่น้ำอิระวดี (Ayeyarwady) ชินวิน สาละวิน (Than Lwin) ฉ่วยลี่ (Shweli) และแม่น้ำดอกทาวดี (Dokhtawady)
สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่าในพม่า ได้ดำเนินโครงการช่วยเหลือเต่าร่วมกับกรมป่าไม้และกลุ่มอนุรักษ์เต่า Turtle Survival Alliance (TSA) มาตั้งแต่ปี 2548
ในวันนี้ เต่าหลังนูนอินเดียพบเฉพาะในแม่น้ำชินด์วิน และแม่น้ำดอกทาวดี ในเขตมัณฑะเลย์ และถูกพิจารณาให้เป็นสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์โดยองค์กรระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) และยังได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายประมงของท้องถิ่นและกฎหมายคุ้มครองสัตว์ป่า
“(เต่าหลังนูน) เป็นส่วนหนึ่งของมรดกทางธรรมชาติของประเทศ เราต้องชื่นชมและอนุรักษ์พวกมันไว้” นายกอกอ กล่าว