xs
xsm
sm
md
lg

ถือฤกษ์ปีขาล WWF รณรงค์อนุรักษ์เสือในลุ่มน้ำโขง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#3366ff>ภาพเอเอฟพี เจ้าหน้าที่กำลังเตรียมการเคลื่อนย้ายเสือโคร่งมาเลเซียที่ได้รับบาดเจ็บหลังจากถูกกับดักสัตว์ในบริเวณป่าใกล้ชายแดนไทยไปรักษา เมื่อวันที่ 4 ต.ค. 2552 ซึ่ง WWF ระบุว่า เสือโคร่งป่ามีจำนวนลดลงอย่างมากในภูมิภาคนี้ซึ่งเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ </font></br>

เอเอฟพี - กองทุนสัตว์ป่าโลกออกเตือนรัฐบาลในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงต้องดำเนินการขั้นเด็ดขาดในการป้องกันเสือสูญพันธุ์ในพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้ หลังจากพบว่าจำนวนเสือโคร่งที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาติกำลังลดลงไปมากกว่า 70% ในช่วง 12 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้เป็นการระบุโดยกองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF) ในวันอังคาร (26 ม.ค.)

จำนวนประชากรเสือโคร่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติในพื้นที่ของประเทศกัมพูชา ลาว พม่า ไทยและเวียดนาม ลดลงจาก 1,200 ตัว ในปี 2541 เหลือเพียง 350 ตัวในปัจจุบัน หน่วยงานอนุรักษ์สัตว์ป่าและสิ่งแวดล้อม ระบุ

รายงานที่เผยแพร่ออกมานี้มีขึ้นเพื่อนำไปสู่การประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียน 13 ชาติที่มีเสืออาศัยอยู่ตามธรรมชาติ ว่าด้วยการอนุรักษ์เสือโคร่ง ระหว่างวันที่ 27-30 มกราคม 2553 ที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อร่วมกันหาข้อสรุปแผนปฏิบัติการในการอนุรักษ์เสือโคร่ง

รายงานระบุว่าการที่จำนวนประชากรเสือโคร่งในภูมิภาคที่ลดลงนั้นได้สะท้อนภาพของประชากรเสือโคร่งในทั่วโลกซึ่งลดลงต่ำสุดเป็นประวัติกาi เหลือเพียงประมาณ 3,200 ตัว จากที่เคยมีเสืออยู่ราว 20,000 ตัวในช่วงทศวรรษที่ 80 และจากที่เคยมีถึง 100,000 ตัวในช่วงศตวรรษที่แล้ว

"วันนี้ จำนวนประชากรเสือโคร่งที่อาศัยอยู่ในป่าตามธรรมชาติมาถึงจุดวิกฤติแล้ว" WWF ระบุ ซึ่งในอีกไม่กี่วันก็จะเข้าสู่ปีขาลตามปฏิทินจีน

รายงานยังระบุว่า ความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นในชิ้นส่วนอวัยวะต่างๆ ของเสือเพื่อนำไปใช้ในยาแผนโบราณของจีน เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ประชากรเสือโคร่งในอินโดจีนอยู่ในภาวะอันตราย

การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เสือโคร่งลดจำนวนลง เนื่องจากบุกรุกที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ เช่น การตัดถนนผ่านป่า เป็นต้น

"การดำเนินการขั้นเด็ดขาดต้องมีขึ้นเพื่อให้แน่ใจว่าสัตว์สายพันธุ์ท้องถิ่นนี้จะไม่ไปถึงจุดที่ไม่สามารถหวนคืนกลับมาได้" นายนิค คอกซ์ (Nick Cox) ผู้ประสานงานโครงการเสือลุ่มน้ำโขงของ WWF กล่าว

"มีความเป็นไปได้มากที่ประชากรเสือโคร่งในเวียดนาม ลาว และกัมพูชาจะสูญพันธ์ในปีขาลรอบถัดไป คือปี 2565 ถ้าเราไม่เพิ่มระดับขั้นการป้องกันดูแลพวกมัน"

ถึงแม้ว่าเสือโคร่งอินโดจีนที่ครั้งหนึ่งพบเป็นจำนวนมากทั่วทั้งภูมิภาคลุ่มน้ำโขง แต่ WWF ระบุว่าในตอนนี้มีเสืออยู่ไม่เกิน 30 ตัวในแต่ละประเทศ คือในกัมพูชา ลาว และเวียดนาม

ประชากรเสือที่ยังมีอยู่ในตอนนี้พบมากในบริเวณภูเขาตามแนวชายแดนระหว่างประเทศไทยและพม่า แต่ทาง WWF ได้เรียกร้องให้การประชุมรัฐมนตรีที่จะมีขึ้นที่ อ.หัวหิน ได้เร่งดำเนินการเพื่อเพิ่มประชากรเสือโคร่งขึ้นเป็น 2 เท่าภายในปี 2565

"ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในลุ่มน้ำโขงมีศักยภาพสูงที่จะสามารถเพิ่มจำนวนประชากรเสือโคร่งได้ เพียงแต่พยายามประสานงานในระดับทั่วทั้งภูมิภาคก็จะสามารถป้องกันเสือไม่ให้สูญพันธุ์ได้ และทำให้เสือมีที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติได้" นายคอกซ์กล่าว

ในขณะเดียวกัน ทั่วโลกต่างก็ให้ความสนใจและพยายามที่จะสร้างความปลอดภัยให้กับประชากรเสือในอนาคต โดยจะมีการจัดประชุมใหญ่ Tiger Summit หรือ การประชุมเสือโคร่งระดับโลก ในเดือน ก.ย. ที่เมืองวลาดิวอสต๊อก รัสเซีย โดยมีนายกรัฐมนตรีวลาดิมีร์ ปูติน เป็นเจ้าภาพ

"นับเป็นโอกาสครั้งประวัติศาสตร์ที่จะกระตุ้นผลักดันให้เกิดนโยบายทางการเมืองและการปฏิบัติจริงเพื่อเพิ่มจำนวนประชากรเสือโคร่งที่อยู่ตามธรรมชาติ" นายไมค์ บัลเซอร์ (Mike Baltzer) หัวหน้าโครงการอนุรักษ์เสือโลกของ WWF กล่าว

"แต่เพื่อให้เกิดขึ้นได้ เราต้องหยุดค้าชิ้นส่วนเสือ การรุกล้ำพื้นที่ป่า และอนุรักษ์แหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของเสือเสียก่อน" เจ้าหน้าที่คนเดียวกันกล่าว.
<br><FONT color=#3366ff>ภาพเอเอฟพี เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2547 เสือโคร่งตัวใหญ่กำลังเดินข้ามลำธารเล็กๆ ในสวนเสือศรีราชา จ.ชลบุรี  โดยจำนวนประชากรเสือโคร่งที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาติมีจำนวนลดลงกว่า 70% ในช่วงระยะเวลา 12 ปีที่ผ่านมา WWF เตือนให้รัฐบาลในประเทศต่างๆเร่งหามาตรการช่วยเหลือและเพิ่มจำนวนประชากรเสือเป็น 2 เท่าภายในปี 2565 </font></br>
กำลังโหลดความคิดเห็น