xs
xsm
sm
md
lg

ญี่ปุ่นโชว์ป๋า เสนอ 2 แสนล้านบาทช่วยประเทศลุ่มน้ำโขง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ญี่ปุ่นแสดงบทบาทผู้นำทางเศรษฐกิจเอเชีย เสนอเงินช่วยเหลือ 5 ประเทศลุ่มน้ำโขงร่วม 2 แสนล้านบาท พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ และพัฒนาบุคลากร 3 หมื่นคน "มาร์ค"เผยญี่ปุ่นเห็นศักยภาพไทย หลังเขตการค้าเสรีอาเซียนมีผลปีหน้า

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงผลการประชุมหารือระหว่าง 5 ผู้นำกลุ่มน้ำโขง ประกอบด้วย ไทย กัมพูชา พม่า เวียดนาม และ ลาว กับญี่ปุ่น ครั้งที่ 1 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นว่า สาระสำคัญในการหารือกันครั้งนี้ถือว่าเป็นประโยชน์อย่างมากต่อประเทศไทยและประเทศลุ่มน้ำโขง ซึ่งทางญี่ปุ่นเสนอความช่วยเหลือประเทศในลุ่มน้ำโขง จำนวน 500,000 ล้านเยน (ประมาณ 190,000 ล้านบาท)ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการแลกเปลี่ยนบุคลากรระหว่างกัน 30,000 คนเพื่อพัฒนาศักยภาพด้านทรัพยากรบุคคลระหว่างกัน

นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า ประเทศไทยในฐานะประเทศผู้ให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว เวียดนาม และ พม่า ได้แสดงเจตจำนงชัดเจนแล้วว่า จะร่วมกันพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน อีกทั้งในการประชุมหารือในครั้งนี้จะเน้นเรื่อง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเชื่อมโยงด้านคมนาคม และการขนส่งทั้งทางบก และ น้ำ หรือ การก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกต่างๆ ด้วยที่เชื่อมต่อระหว่างกัน

สำหรับการให้ความช่วยเหลือของฝ่ายไทยนั้นจะมี 2 แบบ คือ การสนับสนุนทางการเงินช่วยเหลือในโครงสร้างพื้นฐาน เช่น รถไฟ ถนน โดยจะเป็นความช่วยเหลือสัดส่วน 2 : 3 และการช่วยเหลือด้านเทคนิคและพัฒนาบุคคล ซึ่งทางประเทศไทยได้จัดตั้งศูนย์ในการพัฒนาบุคลากรนานาชาติขึ้นที่จังหวัดขอนแก่น ซึ่งได้รับความช่วยเหลือและร่วมมือจากหลายองค์กร เช่น อาเซียน เอสเคป เอดีบี เป็นต้น

นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่าจากการหารือกับภาคเอกชนญี่ปุ่นนั้นมองเห็นศักยภาพของประเทศไทยโดยเฉพาะกลุ่มประเทศอาเซียน ที่ผลการตกลงอาฟตา ภาษีในสินค้าเกษตรจะเป็น 0% จะมีผลบังคับใช้ในต้นปีหน้านี้ รวมถึงในปี ค.ศ. 2015 อาเซียนจะกลายเป็นตลาดเดียวตามความตกลงในเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ถือเป็นโอกาสทางการค้า การลงทุนอย่างมาก

ทั้งนี้ในการหารือกับประธานรัฐสภาญี่ปุ่นนั้น ทางฝ่ายญี่ปุ่นให้ความสนใจที่จะมีการแลกเปลี่ยนความร่วมมือระหว่างนักการเมืองทั้ง 2 ประเทศ โดยเฉพาะในช่วงเดือน เม.ย. – มี.ค.ปีหน้า ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมสภารัฐสภาโลก หรือ ไอทียู จะมีสมาชิกรัฐสภาจากทั่วโลกกว่า 100 ประเทศเข้าร่วมประชุม

นายกฯ กล่าวอีกว่า ผลการหารือระหว่างนายกรัฐมนตรีไทย และ ญี่ปุ่น ที่หารือกันในระดับทวิภาคีร่วมกัน ได้เน้นหนักไปในประเด็นเศรษฐกิจเป็นหลัก เช่น การค้าการลงทุน โดยเฉพาะการมุ่งแก้ไขปัญหาและอุปสรรคทางการค้าการลงทุน ยิ่งประเทศไทยเริ่มฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ย่อมเป็นโอกาสสำคัญ และได้มีการหารือถึงการเร่งขจัดข้ออุปสรรคในการทำธุรกิจ ข้อกฎหมาย และ ภาษีศุลกากรที่ฝ่ายญี่ปุ่นประสบอยู่ในการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย ซึ่งทางรัฐบาลยืนยันแล้วว่าได้ดำเนินการแก้ไขอย่างเต็มที่
กำลังโหลดความคิดเห็น