ASTVผู้จัดการายวัน—บริษัทจีนอีกแห่งหนึ่งกำลังจะก่อสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำใน จ.เกาะกง (Koh Kong) ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของกัมพูชา มูลค่าการลงทุน 558 ล้านดอลลาร์ ในจังหวัดนี้ยังมีทำเลที่เหมาะสมสามารถสร้างเขื่อนได้อีกกว่า 10 แห่ง
บริษัทหัวเตียน (Huadian Corp) ซึ่งเป็นหนึ่งในบรรดาบริษัทด้านพลังงานยักษ์ใหญ่ของจีนจะเป็นผู้ลงทุนในโครการเขื่อนที่ได้รับอนุมัติตั้งแต่ปี 2552 เป็นสัมปทานแบบ BOT ระยะเวลา 30 ปี นายอิธปราง (Ith Praing) รัฐมนตรีช่วยกระทรวงอุตสาหกรรม เหมืองแร่ และพลังงานของกัมพูชา เปิดเผยเรื่องนี้ในกรุงพนมเปญ
"บริษัทจากจีนต้องใช้เวลาหาแหล่งเงินทุนสนับสนุนสำหรับโครงการก่อสร้างและได้แหล่งทุนในที่สุด การก่อสร้างจึงจะเริ่มต้นขึ้นในเร็วๆ นี้" นายปรางกล่าวกับสำนักข่าวซินหัวอีกว่า บริษัทหัวเตียนได้เซ็นความตกลงกู้ยืมเงินจากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าของจีนสัปดาห์ที่แล้ว
ไม่มีการเปิดเผยชื่อโครงการเขื่อนล่าสุด แต่เข้าใจว่าจะเป็นเขื่อนตาไต (Ta Tay) ขนาดกำลังปั่นไฟ 246 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นโครงการเขื่อนขนาดใหญ่อันดับ 2 ในเขตเทือกเขากระวัญ (Kravanh)
ในเดือน ธ.ค.ปีที่แล้วกลุ่มซิโนไฮโดร (Sinohydro) ของจีนอีกแห่งหนึ่ง ได้เปิดเดินเครื่องปั่นไฟหน่วยที่ 1 จากทั้งหมด 5 หน่วยที่เขื่อนกำจาย (Kamchay) ซึ่งตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ จ.กัมโป้ต (Kampot)
"เป้าหมายของรัฐบาลคือลดราคาค่าไฟให้ถูกลงเพื่อดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนในกัมพูชามากขึ้น" นายปรางกล่าว พร้อมระบุเพิ่มเติมว่า กัมพูชาจะมีไฟฟ้าเพียงพอต่อความต้องการภายในปี 2554 หรือ 2555
ปัจจุบันกัมพูชาปั่นไฟได้เพียง 300 เมกะวัตต์ ยังขาดไฟฟ้าอีกมากขณะที่เศรษฐกิจขยายตัวกว่า 10% ต่อปีในช่วงหลายปีมานี้
ค่าไฟฟ้าในกัมพูชาเฉลี่ยอยู่ที่ 0.20 ดอลลาร์ต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง ซึ่งสูงเป็น 2 เท่าของค่าไฟฟ้าในประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศไทยและเวียดนาม โดยกัมพูชาวางแผนที่จะสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำอีก 9 แห่ง ภายในปี 2562 เพื่อผลิตไฟฟ้าให้ได้ 1,942 เมกะวัตต์
นายดมยุกเฮียง (Dom Yuk Heang) รองผู้ว่าราชการจังหวัดเกาะกง กล่าวก่อนหน้านี้ะกงกำลังจะเป็น “หม้อไฟ” สำหรับประเทศ ซ่างในปัจจุบันมีโครงการก่อสร้างเขื่อนนับ 10 แห่งในพื้นที่ของจังหวัด
นายเฮือง เปิดเผยเรื่องนี้ในเดือน พ.ย.2552 ระหว่างบรรยายสรุปต้อนรับคณะเจ้าหน้าที่ธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ซึ่งนำผู้สื่อข่าวจาก 4 ประเทศ ไทย อินโดนีเชีย กัมพูชาและเวียดนาม สำรวจถนนระเบียงขนส่งสายใต้เลียบชายฝั่งทะเล ภายใต้ความร่วมมือในกรอบกลุ่มอนุภูมิภาคแม่น้ำโขงหรือ GMS
ตามเอกสารแผนการพัฒนาด้านการพลังงานและเหมืองแร่ของจังหวัด นอกจากเขื่อนตาไตแล้ว ยังมีโครงการรุสสีชุมเหนือกับรุสสีชุมใต้ (Russie Chhum Ler- Russie Chhum Krom) ที่ปั่นไฟรวมกันได้ 300 เกมะวัตต์ เขื่อนคีรีรม 3 (Kirirom 3) เขื่อนไชยอาแรง (Chhay Araeng) และ สตึงแม่ตึก (Stung Me Teuk) ซึ่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตของไทยเสนอลงทุน แต่ฝ่ายกัมพูชายังไม่ได้ตัดสินใจ.