ASTVผู้จัดการออนไลน์-- กำลังจะมีการจัดพิธีใหญ่โตขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 7 ม.ค.นี้ เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์เมื่อ 31 ปีก่อน ซึ่งกองทัพเวียดนามได้รุกเข้าถึงกรุงพนมเปญ ขับไล่รัฐบาลกัมพูชาประชาธิปไตย หรือ "เขมรแดง" ออกไป และ เขมรแดงกลุ่มใหม่ขึ้นครองอำนาจแทน ขณะที่ผู้นำออกเตือนจะจับกุมทุกคนที่กล่าวหาว่า ตนเองเป็น "ลูกสมุนเวียดนาม"
รัฐบาลกัมพูชาเรียกเหตุการณ์นี้ว่า "วันแห่งชัย" (Victory Day) ในขณะที่ฝ่ายค้าน และ นักวิชาการจำนวนไม่น้อยเรียกว่า "วันอัปยศ" วันแห่งการรุกรานกัมพูชาและยึดครองโดยประเทศที่เข้มแข็งกว่า ซึ่งได้รับการคัดค้านจากทั่วโลก รวมทั้งในองค์การสหประชาชาติ
นายกรัฐมนตรีกัมพูชาฮุนเซนได้ออกเตือนอย่างแข็งกร้าว ผู้ที่กล่าวหาว่ารัฐบาลปัจจุบันเป็น "ลูกสมุนของเวียดนาม" จะถูกจับกุมและส่งฟ้องร้องต่อศาล ฐานหมิ่นประมาท
ฮุนเซนได้กล่าวเตือนเรื่องนี้ถึง 2 ครั้งในสัปดาห์นี้ โดยระบุว่าเป็นเรื่องน่าละอายที่ "คนเลวๆ พวกนั้นปฏิเสธที่จะยอมรับความจริงทางประวัติศาสตร์ที่เราไม่อาจจะสอนพวกเขาได้ เนื่องจากพวกนั้นไม่ต้องการที่จะรู้หรือรับฟัง"
"อย่าโกหกตัวเองต่อไปอีกเลย.." ผู้นำกัมพูชากล่าว ซึ่งหมายถึงฝ่ายอื่นๆ ที่ไม่ยอมรับว่าวันที่ 7 มกราคม ของทุกปีเป็น "วันแห่งชัยชนะ" ที่สามารถโค่นล้มระบอบเขมรแดงลงได้
เรื่องนี้เหมือนเสี้ยนตำเท้า ชาวกัมพูชาจำนวนไม่น้อยไม่เข้าร่วมการฉลอง หรือ ร่วมพิธีรำลึกเหตุการณ์วันที่ 7 มกราคม ซึ่งรัฐบาลได้พยายามจัดให้เป็น "วันแห่งความเกลียดชัง" (Hatred Day) ในขณะเดียวกัน แม้ว่าในโอกาสครบรอบปีที่ 30 รัฐบาลจะได้เปิดสนามกีฬาแห่งชาติ จัดฉลองอย่างเอิกเกริก
พรรคฝ่ายค้านยันว่า ทั่วกัมพูชาควรจะจัดเฉลิมฉลองวันที่ 23 ต.ค. ของทุกปี ซึ่งเป็นวันเซ็นสัญญาสันติภาพกรุงปารีสในปี 2534 นำประเทศพ้นสงครามกลางเมืองและเข้าสู่ยุคใหม่อย่างแท้จริง
ทุกปีที่ผ่านมา รัฐบาลฮุนเซนยอมรับว่า ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการเฉลิมฉลองวันที่ 7 มกราคม นั้น "ไม่ใช่ศัตรู" แต่ก็ไม่ควรวิพากษ์วิจารณ์ หรือ จัดชุมนุมประท้วง
ฮุนเซนกล่าวว่า แม้แต่พลพรรคเขมรแดงด้วยกันเองยังถูกกลุ่มโปลโป้ต สังหารไปจำนวนมาก และภายในเวลา 3 ปี (หากปล่อยเอาไว้) ชาวเขมรอาจจะถูกสังหารหมดเกลี้ยงทั้งประเทศ
อย่างไรก็ตาม นักวิชาการจำนวนไม่น้อย รวมทั้ง ด.อับดุลกาฟาร์เปียงเมียต แห่งมหาวิทยาลัยกวม (University of Guam) ซึ่งเคยเป็นโฆษกคนหนึ่งของกัมพูชาฝ่ายต่อต้านเวียดนาม-ฮุนเซน กล่าวว่า ขณะที่ฉลองการโคนล้มระบอบเขมรแดง ก็ยังเป็นการฉลอง "การรุกรานของเวียดนาม" อีกด้วย
นายแกมสุขะ (Kem Sokha) หัวหน้าพรรคสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านพรรคเล็ก กล่าวประโยคคล้ายกันว่า "กัมพูชากำลังจะฉลองการยึดครองของเวียดนามไปด้วยในขณะเดียวกัน"
เมื่อกลุ่มโปลโป้ต เอียงสารี เคียวสมพร นำพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชา (เขมรแดง) ขึ้นครองอำนาจในกรุงพนมเปญ เดือน เม.ย.2518 บรรดา "สมเด็จทั้งสาม" ซึ่งเป็นผู้นำสูงสุดในปัจจุบัน เป็นเพียงนายทหารระดับผู้บังคับกองพันประจำการในภาคตะวันออกของประเทศ ที่ไม่มีผู้ใดรู้จัก
เขมรแดงในยุคนั้นแตกออกเป็นหลายฝ่าย ขณะที่กลุ่มปกครองเป็นพวกมาร์กซิสต์ที่ได้รับอำนาจอิทธิพลความคิดเกี่ยวกับลัทธิคอมมิวนิสต์ ครั้งไปเรียนหรือทำงานในฝรั่งเศส และหันไปนิยมในความคิดเหมาเจ๋อตงเวลาต่อมา อีกฝ่ายหนึ่งที่ประจำทางภาคตะวันออก กลับได้รับอิทธิพลจากคอมมิวนิสต์สายโซเวียต ผ่านพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม
รัฐบาลเขมรแดงได้เคยประกาศผ่านสถานีวิทยุระบุว่าระหว่างปี 2519-2521 ได้มีความพยายามทำรัฐประหารยึดอำนาจในกรุงพนมเปญหลายครั้ง โดยมีนายทหารระดับล่างที่ประจำการในภาคตะวันออกของประเทศเป็นผู้นำ และ ทุกครั้ง "พวกทรยศ" ถูกปราบปรามอย่างราบคาบ
นอกจากนั้นเวียดนามยังพยายามยกกำลังข้ามพรมแดนเข้ากัมพูชาอย่างน้อย 2 ครั้งในความพยายามรุกรบใหญ่ พวกเขาประสบความสำเร็จในครั้งที่ 3 ซึ่งข้อมูลของโลกตะวันตกระบุว่า มีการใช้กำลังพลกว่า 100,000 ใช้เครื่องบินโจมตีทิ้งระเบิดนำทาง ทำให้กองกำลังเขมรแดงของกลุ่มโปลโป้ต ไม่อาจต้านทานได้
การรุกรบครั้งสุดท้ายของฝ่ายเวียดนามเริ่มขึ้นในวันคริสต์มาสปี 2521 ยึดกรุงพนมเปญได้ในวันที่ 7 ม.ค.2522 หรืออีก 13 วันต่อมา ชื่อของกลุ่มเฮงสัมริน เพ็ญสุวรรณ เจียซิม ปรากฏครั้งแรกในรัฐบาลใหม่ที่เวียดนามจัดตั้งขึ้นโดยมีฮุนเซนเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ
เพียงไม่นานได้มีการเปลี่ยนชื่อประเทศจากกัมพูชาประชาธิปไตย เป็นสาธารณรัฐประชาชนกัมพูชา และ ตั้งพรรคคอมมิวนิสต์สายโซเวียตขึ้นมาในชื่อพรรคประชาชนปฏิวัติกัมพูชา
หลังจากนั้นประเทศได้เข้าสู่สงครามกลางเมืองยาวนาน ระหว่างฝ่ายหนึ่งที่มีกองทัพเวียดนามคุ้มกัน กับเขมรฝ่ายต่อต้านที่มีเขมรแดงโปลโป้ตเป็นกำลังหลัก มี (อดีต) เจ้านโรดมสีหนุเป็นผู้นำ ภายใต้ชื่ออย่างเป็นทางการคือ รัฐบาลผสมกัมพูชาประชาธิปไตย ที่สหประชาชาติให้การรับรอง
ตามตัวเลขที่เปิดเผยโดย พล.ต.เลข่าเฟียว (Le Kha Phieu) ผู้บัญชาการกองพลสุดท้ายที่ถอนออกจากกัมพูชาในเดือน ก.ย.2532 คน ตลอดเวลา 10 ปีในกัมพูชา มีทหารเวียดนามเสียชีวิตกว่า 50,000 ในนั้นกว่า 30,000 คน เสียชีวิตด้วยมาลาเรีย อีกกว่า 20,000 จากการสู้รบ ในนั้นจำนวนไม่น้อยล้มตายในการปะทะกับทหารไทยตามแนวชายแดน
อีกหลายปีต่อมา พล.ท.เลข่าเฟียว ได้กลายเป็นรัฐมนตรีกลาโหมเวียดนาม และ เป็นเลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม ในยุคที่โลกคอมมิวนิสต์ก้าวเข้าสู่ยุคแห่งความสับสน หลังจากสหภาพโซเวียตล่มสลาย กำแพงแพงเบอร์ลินพังทลายลง
สิ่งหนึ่งที่ฝ่ายเวียดนาม-ฮุนเซน ไม่เคยปริปากพูดถึงก็คือ จำนวนชาวเขมรที่ถูกสังหารโดยกองกำลังของผู้ครอบครอง ซึ่งทำให้คณะผู้นำปัจจุบันไม่สามารถลบล้างคำสบประมาทได้.