ข่าวลือล่าสุดเกี่ยวกับการปิดพรมแดนได้แพร่สะพัดในหมู่คนค้าขายทางฝั่งเกาะกง ซึ่งทำให้จำนวนสินค้าที่สั่งซื้อรายวันลดวูบลง เจ้าของท่าเรือส่งออกสินค้าเพียงแห่งเดียวของ จ.ตราด ที่บ้านหาดเล็ก อ.คลองใหญ่ กล่าวกับผู้สื่อข่าวจากไทยคณะหนึ่งเมื่อวันอังคาร (24 พ.ย.)
"เมื่อวานลูกค้าระงับสินค้าไปเยอะเลย ไม่รู้ลือกันได้อย่างไร" นางสำราญ ประสิทธิเวช เจ้าของท่าเรือ ส.กฤตตระวัณ กล่าว
"จริงๆ แล้วมันเกิดจากการเปลี่ยนผู้ว่า (ราชการจังหวัด) คนใหม่ ทุกอย่างยังไม่เรียบร้อย.... อาจจะใช้เวลาอีกเป็นเดือน" นางสำราญกล่าว
ก่อนหน้านี้ทางการจังหวัดเกาะกง ได้สั่งระงับชั่วคราวไม่ให้เรือประมงไทยเข้าลากอวนจับปลาในน่านน้ำของจังหวัดนี้ เพื่อจัดระเบียบใหม่ ผู้ว่าคนใหม่อาจจะต้องใช้เวลาจัดการเรื่องต่างๆ เหล่านี้อีกประมาณ 1 เดือน นางสำราญกล่าว
เดือน ต.ค.ที่ผ่านมา รัฐบาลกัมพูชาได้สั่งย้ายนายยุทธ พูทอง (Yuth Pouthang) อดีต ผวจ.เกาะกง ไปรับตำแหน่งใหม่ในกรุงพนมเป็ญ การย้ายผู้บริหารสูงสุดของจังหวัดซึ่งมีเชื้อสายเป็นคนไทย ได้ทำให้เกิดข่าวลือขึ้นระลอกแรก ผู้สังเกตการณ์ที่ไม่ประสงค์จะให้ระบุชื่อที่โรงแรมกาสิโนเกาะกงรีสอร์ต (Koh Kong Resort) บอกกับ "ASTVผู้จัดการรายวัน"
แต่นายบุนเลิด พรามณ์เกสร (Bunloeut Pramkesorn) อดีตนายอำเภอเสรอัลเบล (Sre Ambel) ผู้ว่าราชการคนใหม่ของเกาะกง ก็มีเชื้อสายเป็นชาวไทยเช่นเดียวกัน ผู้สังเกตการณ์คนเดียวกันกล่าว
การเปลี่ยนผู้บริการใหม่ที่จังหวัดชายแดนมีขึ้นในขณะที่เกิดความตึงเครียดในระดับรัฐบาลสองประเทศ และได้ทำให้เกิดจากการคาดเดาของกลุ่มผู้ค้าขายข้ามแดน รวมทั้งเกิดข่าวลือที่ว่ารัฐบาลไทยกำลังจะสั่งปิดด่านบ้านหาดเล็ก-จัมเยียม (Cham Yeam) อีกด้วย
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีของไทยได้ประกาศอย่างชัดเจนมาหลายครั้งและในหลายโอกาส ว่าไม่มีนโยบายปิดพรมแดนไทย-กัมพูชา
แต่ข่าวลือมีอิทธิพลอย่างสูงต่อการค้าข้ามแดน นายประเสริฐ ศิริ ประธานหอการค้า จ.ตราด กล่าวเมื่อวันจันทร์ (23 พ.ย.) ว่า ระยะที่ผ่านมาความตึงเครียดในระดับรัฐบาลส่งผลทำให้การค้าขายโดยรวมผ่านด่านชายแดนด้าน จ.ตราด ลดลงไปประมาณ 30%
แต่นั่นก็ยังไม่ใช่ต้นตอทั้งหมดของปัญหา
"การแข็งค่าของเงินบาทในระยะที่ผ่านมาก็เป็นสาเหตุสำคัญด้วย" นายประเสริฐกล่าว ระหว่างต้อนรับคณะของธนาคารพัฒนาเอเชีย ที่นำสื่อมวลชนจากไทย กัมพูชา เวียดนามและอินโดนีเซีย ไปสำรวจเส้นทางขนส่งสายใต้เลียบชายฝั่ง (Southern-Coastal Corridor) ซึ่งเป็นโครงการของกลุ่มอนุภูมิภาคแม่น้ำโขง (Greater Mekong Sub-Region) ที่เอดีบีให้การสนับสนุน
ในช่วงไม่กี่เดือนมานี้ เงินบาทได้แข็งค่าขึ้นกว่า 5% เนื่องจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่อ่อนตัวลง จาก 35 บาท เป็น 33 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คู่ค้าจากฝั่งกัมพูชาสั่งซื้อสินค้าน้อยลง ประธานหอการค้าจังหวัดกล่าว
อย่างไรก็ตามจากการเฝ้าสังเกตที่ด่านชายแดนหาดเล็ก-จำเยียม ได้พบว่าในวันเดียวกันยังมีชาวกัมพูชากลุ่มใหญ่ข้ามแดนกลับข้ามแพรมเข้าไปเช่นทุกวัน
เจ้าหน้าที่ที่ด่านชายแดนกล่าวว่า ราษฎรเขมรเหล่านี้นำสินค้าซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลิตผลการเกษตร รวมทั้งปลาแห้งและปลาสดจากเกาะกง ข้ามเข้ามาจำหน่ายที่ตลาด อ.คลองใหญ่ และ จะเดินทางกลับหลังจากตลาดวายในตอนสาย พร้อมกับหอบหิ้วสินค้าอุปโภคบริโภคจากฝั่งไทยกลับไปด้วย
ราษฎรเหล่านี้ข้ามแดนด้วยการขอบัตรผ่านแดนซึ่งค่าธรรมเนียมต่ำกว่าการใช้หนังสือเดินทางและขอวีซ่า เจ้าหน้าที่กล่าว
อย่างไรก็ตามการค้าขายข้ามแดนในภาพรวมปัจจุบันไม่คึกคักเหมือนกับในช่วงต้นปี แต่ถ้าหากไม่เกิดสถานการณ์แทรกซ้อนก็เชื่อว่าจะกลับคืนสู่ภาวะปกติอีกครั้งในช่วงสิ้นปีนี้เจ้าหน้าที่คนเดียวกันกล่าว
เจ้าของท่าเรือ ส.กฤตระวัณยืนยันเช่นกันว่า ช่วงที่ผ่านมาการสั่งซื้อสินค้าลดลงไปประมาณ 30%ปัจจุบันแต่ละวันจะมีเรือขนาด 300-1,000 ตัน ออกจากท่าเฉลี่ยวันละ 6 เที่ยว บรรทุกสินค้าไปยังท่าเรือมงฤทธี (Mong Rethy) ใน จ.พระสีหนุ (Preah Sihanouk) และบางเที่ยวไปไกลถึงท่าเรือของ จ.กัมโป๊ต (Kampot)
อย่างไรก็ตาม “โดยเฉลี่ยแล้วจำนวนเที่ยวได้ลดลง แต่ก็อาจจะเป็นเพราะว่าระยะหลังนี้เราใช้เรือขนาด 1,000 ตันจนส่งสินค้ามากขึ้นด้วย” นางสำราญกล่าว
รายการที่ผู้ค้าฝั่งกัมพูชาสั่งซื้อและส่งผ่านท่าเรือ ส.กฤตระวัณ จะเป็นสินค้าปุโภคบริโภค อุปกรณ์ก่อสร้าง พวกเหล็กกับปูนซีเมนต์ "โดยเฉพาะน้ำตาลกับพวกน้ำหวานขายดีมาก" นางสำราญกล่าว.