ตราด - นักธุรกิจตราดยันภาคธุรกิจตามแนชายแดนยังไม่กระทบหนัก หลังมีความขัดแย้งระหว่างไทย-กัมพูชาที่ส่อจะมีแนวโน้มว่ายังไม่สามารถยุติได้ในอนาคตอันใกล้ แต่อาจจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจการค้าและการลงทุนในกัมพูชาในระยะสั้นและระยะยาว
นายฐิติกร โลหะคุปต์ นายกสมาคมประมง จ.ตราด และกรรมการสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันเรือประมงของ จ.ตราด ประมาณ 200 ลำและเรือประมงจากจังหวัดอื่นๆ รวมกว่า 500 ลำที่เข้าไปลงทุนขอสัมปทานทำประมง (เสียค่าน้ำ) ใน จ.เกาะกง และ จ.สีหนุวิลล์ รวมทั้งกัมโปงโสม ที่ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการขอสัมปทานทำประมงใน 2 จังหวัด ซึ่งทุกปีในเดือนพฤศจิกายนจะทำสัมปทานกันใหม่ หากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นยังไม่ยุติ อาจจะทำให้การต่ออายุสัมปทานต้องล่าช้าออกไป หรืออาจจะยืดออกไปไม่มีกำหนด และหากไม่สามารถดำเนินการได้จะทำให้ต้องสูยเสียรายได้นับ 100 ล้านบาท/ปี ไป และอาจจะต้องสูญเสียสัมปทานไปให้กับประเทศอื่น เช่น อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ที่ลงทุนอยู่ในพื้นที่นี้อยู่แล้ว
นายฐิติกรกล่าวว่า แต่วันนี้การเจรจายังอยู่ระหว่างการดำเนินการ แต่ก็มีความเสี่ยงเช่นกันที่จะไม่สามารถต่อสัมปทานได้ เพราะว่าความขัดแย้งทั้ง 2 ประเทศ ยังคงดำรงอยู่ และมีแนวโน้มจะหาข้อยติได้ในเวลาอันรวดเร็ว ถึงตรงนั้นธุรกิจประมงของไทยในกัมพูชาอาจจะต้องยุติลงไปในการเจรจาครั้งนี้ก็ได้
ขณะที่ นายเฉลียว อัมพิน นักธุรกิจด้านขนส่งสินค้าสู่กัมพูชา บริษัท ทวีศักดิ์กิตติยาขนส่ง จำกัด กล่าวว่า ระยะนี้กัมพูชาสั่งสินค้าเข้าไปยังกัมพูชามากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะน้ำตาลทรายที่มีความต้องการมากที่ผ่านมาทุกปีจะมีบริษัทจะขนส่งน้ำตาลทรายไปส่งลงท่าเรือส่งออกมีมูลค่าสูงถึง 4,000 ล้านบาท แต่ปี 2552 ในปลายปีที่จะเหลือ 1-2 เดือน ยังมีความต้องการสูงขึ้น แต่ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจะมีผลกระทบอยู่บ้าง เพราะในอนาคตแนวโน้ม อาจจะไม่ดีเพราะกัมพูชาอาจจะไปสั่งสินค้าจากประเทศอื่น เช่น เวียดนาม จีน หรือมาเลเซีย ได้เช่นกัน
แหล่งข่าวในวงการนักธุรกิจชายแดนไทย-เขมร กล่าวว่า ในขณะนี้การค้าขายแม้จะมีการสั่งสินค้าจากนักธุรกิจในกัมพูชาเป็นไปตามปกติก็จริง แต่ปัญหาก็คือ การส่งสินค้าไปยังกัมพูชาจะทำได้ในจำนวนที่ไม่มากนัก เช่น จากเดิมที่มีการสั่งสินค้าเป็นลอตใหญ่ๆ ก็จะสั่งจำนวนลดลงมา กรณีสินค้า มาม่า 100 ลัง ก็จะสั่งแค่ 20-30 ลัง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในเรื่องของการสูญเสียในเรื่องการให้เครดิต หากมีปัญหาเกิดขึ้น จะไม่ต้องสูญเสียเงินที่ยังไม่ได้ชำระจากการสั่งสินค้า
เนื่องจากไม่รู้ว่าทั้ง 2 ประเทศจะมีมาตรการในการเข้มงวด หรือจำกัดจำนวนสินค้าเข้าประเทศเมื่อไหร่ การมีปัญหาในลักษณะนี้ไม่เกิดผลดีในระยะยาว เพราะทำให้ไม่สามารถที่จะกำหนดเป้าหมายการทำการค้าได้
อีกทั้งปัจจุบันรัฐบาลกัมพูชารณรงค์ให้คนกัมพูชาแอนตี้สินค้าจากประเทศไทย โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภคที่เป็นที่นิยมในหมู่ของชาวกัมพูชา แม้ทางรัฐบาลกัมพูชาจะสามารถสั่งสินค้าทดแทนจากรปะเทศจีน และเวียดนามได้ แต่สินค้าของทั้ง 2 ประเทศจะมีคุณภาพต่ำ และด้อยกว่าประเทศไทย รวมทั้งรสนิยมของชาวกัมพูชานิยมบริโภคสินค้าของไทยมากกว่า
“ผมไม่อยากเห็นความข้ดแย้งระหว่าง 2 ประเทศเป็นไปในระยะยาว เนื่องจากไม่เกิดผลดีต่อการค้าขายระหว่าง 2 ประเทศ แม้ปัจจุบันนี้ ยังมีการสั่งสินค้าจากประเทศไทยอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค สูงขึ้นเป็นเท่าตัว เนื่องจากหวั่นเกรงว่าทั้ง 2 ประเทศจะปิดชายแดน จึงจำเป็นต้องกักตุนสินค้าบางส่วนไว้ และหากความขัดแย้งยังดำรงอยู่ แนวโน้มอาจจะลดลงได้ ที่ผ่านมามูลค่าการค้าชายแดนไทยกัมพูชาด้าน อ.คลองใหญ่ มีไม่ต่ำหว่า 15,000 ล้านบาท/ปี แต่สำหรับผู้ประกอบการค้าชายแดนใน อ.คลองใหญ่ จะมีมูลค่าเพียง 1,000-2,000 ล้านบาท/ปีเท่านั้น เนื่องจากหากเป็นล๊อตใหญ่ ๆ ผู้ผลิตก็จะเป็นผู้ดำเนินการส่งออกเอง
พร้อมกล่าวอีกว่า สิ่งที่จะต้องแก้ไขโดยเร็วก็คือ เรื่องของความมั่นใจของผู้ประกอบการส่งสินค้าออก เพราะหวั่นในเรื่องของนโยบายรัฐบาลว่า จะดำเนินการในเรื่องนี้ได้เร็วแค่ไหน หากยิ่งเนิ่นนานออกไปผลกระทบในเรื่องการค้าขายของทั้ง 2 ประเทศก็จะเกิดปัญหามากขึ้น โดยเฉพาะผู้ประกอบธุรกิจการค้าตามแนวชายแดน ซึ่งไม่ใช่ที่อำเภอคลองใหญ่เพียงแห่งเดียว แต่จะเป็นทั้งจังหวัดที่มีพื้นที่ติดต่อกัน
ขณะที่ นายประเสริฐ ศิริ ประธานหอการค้า จ.ตราด กล่าวว่า ขอร้องรัฐบาลไทยอย่าปิดพรมแดนไทย-กัมพูชา เพราะจะส่งผลกระทบต่อนักธุรกิจในพื้นที่ชายแดนจะได้รับผลกระทบมากกว่ากลุ่มใดๆ โดยเฉพาะ จ.ตราด กำลังร่วมกับ จ.เกาะกง จัดงานแสดงสินค้าในช่วงเดือนมกราคม 2553 ที่ จ.ตราดจะไปเปิดบูทแสดงสินค้า 400 บูธ และได้มีการเตรียมการไปแล้วทั้งการขายบูธ และเตรียมการต่างๆ หมดงบไปมากกว่า 300,000 บาท หากไม่สามารถไปจำหน่ายสินค้าได้ก็อาจจะต้องสูญเสียรายได้กว่า 50 ล้านบาททีเดียว นอกจากนี้แล้ว มูลค่าการค้าของไทยด้าน จ.ตราด มีสูงกว่า 17,000 ล้าน/ปี ที่ส่งเข้าไปยังกัมพูชา หากปิดพรมแดนประเทศเวียดนาม,สิงคโปร์ มาเลย์ พร้อมจะนำสินค้าไปจำหน่ายในกัมพูชาทันที และมีราคาที่ถูกกว่าด้วย หากไทยยังคิดว่าจะปิดพรมแดน ผลกระทบก็จะเกิดขึ้นสูงมาก
ด้าน นางดวงใจ จันทร เลขาธิการหอการค้า จ.ตราด กล่าวว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทั้ง 2 ฝ่าย ส่งผลสูงมากในเรื่องการค้า, การลงทุน การท่องเที่ยวทั้ง 2 ฝ่าย ได้ริเริ่มกันไว้ โดยเฉพาะภาคเอกชนที่หอการคค้าจังหวัดของทั้ง 2 ประเทศได้ทำข้อตกลงร่วมกันไว้ ต้องมานั่งทบทวนและเจรจากันใหม่ รวมทั้งในปี 2553 ที่เป็นปีที่ครบรอบ 60 ปี ความสัมพันธ์ไทยกัมพูชา และทั้ง 2 ประเทศ มีข้อตกลงกันไว้ว่า จะเปิดเสรีการท่องเที่ยวทั้ง 2 ประเทศโดยไม่ต้องขอวีซ่า ซึ่งหากเป็นเช่นนี้อาจจะต้องชะลอไปอีกจะทำให้การท่องเที่ยวทั้ง 2 ฝ่ายชะงักไปอีก
“การลงทุนหรือความร่วมมือของ 2 ประเทศกำลังไปได้ดี เพราะภาคเอกชนไทยกับกัมพูชา ได้ทำข้อตกลงทางการค้ากับประเทศไทยไว้มาก การส่งผลไม้ในแต่ละปีมีมูลค่า 500-1,000 ล้านบาท อาจจะได้รับผลกระทบได้ด้วย พร้อมสินค้าอื่นๆ ที่ทั้ง 2 ประเทศค้าขายร่วมกัน”